11 ม.ค. 2023 เวลา 14:27 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Five Forces Model ใช้วิเคราะห์พื้นผฐานหุ้น

Five Forces Model หรือแรงทั้ง 5 คิดค้นโดย Michael E Porter เป็นการวิเคราห์ธุรกิจด้วย 5 ปัจจัย ในการลงทุนหุ้นตามแนวพื้นฐาน เพื่อเข้าใจกิจการที่จะลงทุน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทและอุตสาหกรรมที่เราลงทุนได้ มาอ่านกัน...
แรงทั้ง 5 มีแบบนี้...
1.การแข่งขันในอุตสาหกรรม
2.อำนาจต่อรองกับซับพลายเออร์
3.อำนาจต่อรองกับลูกค้า
4.คู่แข่งใหม่ที่เข้ามา
5.สินค้าทดแทน
เดี๋ยวเราไปค่อยๆ ดูกันว่าในรายละเอียดมีอะไรบ้าง
แรงที่ 1 การแข่งขันในอุตสาหกรรม การวิเคราะห์แรงนี้ เพื่อดูการแข่งขันที่มีอยู่ปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง คำถามที่ต้องถามกิจการที่เราดูอยู่และคิดว่าจะซื้อนั้นก็จะประมาณว่า
- เป็นผู้นำในตลาดไหม
- สัดส่วนในการครองตลาดมากน้อยแค่ไหน
- จำนวนคู่แข่งเดิมมากน้อยแค่ไหน
- คนซื้อผูกพันในแบรนด์หรือไม่ ที่เราเรียก brand royalty
เช่น ขนมปังฟาร์มเฮาส์ ถือเป็นผู้นำตลาด และแบรนด์ยาวนานที่คนให้ความเชื่อใจ คนก็มักจะยังเลือกยี่ห้อนี้
หรืออย่างเรื่องของโรงพยาบาล ลูกค้าจะมี brand royalty ในระดับหนึ่ง ลูกค้าจะไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะคุ้นเคยกับหมอ สภานที่ และมีประวัติการรักษาก่อนหน้า และรู้สึกการเปลี่ยน รพ. ใหม่ก็จะมีความยุ่งยากได้
หรือเป็นสินค้าที่มีการผูกขาดอย่างสนามบิน ลูกค้าอาจจะอยากเปลี่ยน แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนยังไง แต่ถ้าเป็นสายการบินแบบประหยัด ลูกค้าจะไม่ได้ดูที่แบรนด์ จะเน้นราคาตั๋วถูกเป็นหลัก แบบนี้จะสู้กันด้วยสงครามราคาก็จะเหนื่อย และอัตรากำไรจะน้อย
กิจการไหนที่ครองตลาด บริษัทที่โดดเด่น คนติดใจในแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีความแตกต่าง และเหนือกว่าคู่แข่งเจ้าอื่น ไม่ได้สู้กันด้วยสงครามราคา
แรงที่ 2 อำนาจต่อรองกับซับพลายเออร์
กิจการที่เราดูอยู่มีอำนาจต่อรองกับ supplier ได้ดีแค่ไหน เมื่อเทียบเรากับเขาใครมีอำนาจต่อรองมากกว่า ควรหาบริษัท ที่มีสามารถต่อรองกับซัปพลายเออร์ได้มากกว่า
เช่น ถ้าเรากำลังดูหุ้นอย่างร้าน 7-11 ของ CPALL เราก็จะเห็นว่าเขามีอำนาจต่อรองกับ supplier ได้ดี เพราะใครก็อยากจะเอาของไปวางขายในนั้น และ supplier ก็มีมาก
หรือ อย่าง BAFS ที่แทบจะไม่มีคู่แข่ง ในการจัดเก็บน้ำมันและเติมน้ำมันสนามบิน ที่ supplier เป็นบริษัทน้ำมันที่มี supplier หลายเจ้า แบบนี้ BAFS ก็จะมีอำนาจต่อรองกับ supplier ได้ดีกว่า
คำถามก็จะประมาณนี้
- ผู้จำหน่ายวัตถุดิบมีจำนวนน้อย หรือเขาสามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองราคากับเราได้รึเปล่า
- เรารับสินค้าจาก supplier หลักอยู่ไม่กี่เจ้าหรือเปล่า
- ต้นทุนในการเปลี่ยนผู้จำหน่ายมีราคาสูงหรือเปล่า
- สินค้าที่ supplier ส่งให้เรานั้นเป็นสินค้าที่ไม่มีสินค้าทดแทน ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง หรือมีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับหรือเปล่า
กิจการไหนที่รับของจาก supplier หลายเจ้า หรือเรามีอำนาจในการต่อรองกับ supplier ได้มากกว่า กิจการแบบนี้ก็ปลอดภัยในข้อนี้
แรงที่ 3 อำนาจต่อรองกับลูกค้า
กิจการที่เราดูอยู่มีอำนาจต่อรองกับลูกค้ามาน้อยแค่ไหน สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้รึเปล่า
หรือลูกค้ามีทางเลือกที่มาก ถ้าเกิดเราขึ้นราคาสินค้า ลูกค้าก็จะเปลี่ยนไปใช้เจ้าอื่น ข้อนี้จึงควรมองหาบริษัท ที่มีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้าได้ดีหรือได้สูง
ค่าหนึ่งที่ใช้ดูค่านี้ได้ดีคือ อัตรากำไรขั้นต้นที่สูง และรักษาระดับได้ดีตลอด
คำถามก็จะประมาณนี้
- ลูกค้ามีตัวเลือกมากน้อยแค่ไหน
- เรามีลูกค้ารายใหญ่แค่ไม่กี่เจ้ารึเปล่า ถ้าบริษัทต้องพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่ เพียงไม่กี่ราย ก็จะทำให้อำนาจในการต่อรองของบริษัทมีน้อย
- การที่ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้สินค้าของเจ้าอื่นมีต้นทุนสูงรึเปล่า
เช่น กิจการสนามบินจะเห็นว่าลูกค้าแทบไม่มีตัวเลือกอื่นเลย แต่กิจการอย่างโรงแรมจะเห็นว่ามีให้เลือกหลากหลายมาก ลูกค้าอยากเปลี่ยนก็ง่าย
แรงที่ 4 การเข้ามาของคู่แข่งใหม่
เราอาจจะไม่ได้มองแค่ปัจจุบันในการแข่งกับคู่แข่งเดิม แต่ต้องมองการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ เพราะถ้ากิจการที่เราดูอยู่ตอนนี้กำไรดี ทุกคนก็จะอยากเข้ามา
ยิ่งที่ถ้าต้นทุนการผลิตที่ไม่มาก ลูกค้าไม่ได้ติดใจในแบรนด์แบบนี้อนาคตก็จะมีปัญหาได้
ดังนั้นกิจการที่ดีต้องมีการป้องกันการเข้ามาของคู่แข่งด้วย ควรมองหาอุตสาหกรรม ที่บริษัทหน้าใหม่ จะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกับเจ้าเดิมที่อยู่ในตลาดมาก่อนได้ยาก
คำถามก็จะประมาณนี้
- ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก คู่แข่งก็จะเข้ามาลำบาก
- เป็นกิจการที่ต้องมีสัมปทานรึป่าว เช่น สัญญาณมือถือที่ต้องมีสัมปทานถึงจะทำได้ แบบนี้การเข้ามาของหน้าใหม่จะยาก
- กิจการที่เราดูมีการประหยัดจากขนาด หรือมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ได้เปรียบรึเปล่า
ข้อนี้คือดูว่ามีอะไรที่เป็นของเด่นของสินค้าเราที่ถึงจะมีคู่แข่งใหม่เข้ามา ก็ไม่ดีเหมือนของเรารึเปล่า หรือก็คือเรายังได้เปรียบอยู่ถึงแม้จะมีหน้าใหม่เข้ามา
เช่น ถ้าเป็นธุรกิจเครื่องสำอางค์ ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เงินลงทุนไม่มาก เพราะเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ตั้งโรงงานเอง จ้างเขาผลิต ก็เข้ามาของคู่แข่งก็ง่าย หรืออย่างร้านกาแฟที่เราเห็นขายแถบจะทุกตรอกซอกซอยเพราะเงินลงทุนไม่มาก กำไรดี ก็เข้ามาของคู่แข่งก็จะง่ายด้วยเช่นกัน
แรงที่ 5 สินค้าทดแทน อันนี้ถือเป็นแรงที่น่ากลัวอันหนึ่ง ที่ทำให้กิจการที่เราดูอยู่มีปัญหาได้มาก
ยิ่งสินค้าทดแทนตอบโจทย์และให้ความสะดวกสบายมากขึ้น สินค้าเดิมอาจอยู่ไม่ได้ ควรวิเคราะห์ดูว่า สินค้าหรือบริการของบริษัทที่เราดูอยู่ มีอะไรที่เข้ามาทดแทนได้ไหม บ้างทีตอนแรกเราอาจยังนึกไม่ค่อยออก แต่เวลาผ่านไป หรือเริ่มมีการเกิดของสินค้าใหม่ที่จะมาทดแทนได้ เราอาจเริ่มเห็นว่า มีโอกาส ดังนั้นเราจึงควรติดตามและคอยวิเคราะห์สิ่งที่เราลงทุนอยู่ต่อเนื่อง
เช่น ฟิลม์ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัล มือถือแบบเดิมถูกแทนที่ด้วย smart phone เครื่องปรับอากาศกับพัดลมไอน้ำ สื่อสิ่งพิมพ์/ โทรทัศน์ที่ถูกเข้ามาแทนที่ด้วยดิจิทัลอย่าง facebook youtube
คำถามก็จะประมาณนี้
- ระดับการทดแทน ทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน สินค้าทดแทนหาได้ง่ายกว่าหรือยากกว่าสินค้าเดิม
- คุณสมบัติของสินค้าทดแทน คุณสมบัติดีกว่า เท่ากัน หรือแย่กว่าสินค้าเดิม
- ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าทดแทนแพงกว่า เท่ากัน ถูกกว่าสินค้าเดิม
แรงทั้ง 5 ที่เล่าให้ฟังไป สามารถนำมาวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่เรากำลังสนใจจะลงทุนได้ ลองนำไปปรับใช้และวิเคราะห์หุ้นที่เราสนใจลงทุนกันดูนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #หุ้น #วิเคราะห์หุ้น #แรงทั้ง5 #FiveForceModel #เลือกหุ้น #วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน #ลงทุนหุ้น
โฆษณา