17 ม.ค. 2023 เวลา 01:43 • ข่าวรอบโลก

ผลการหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูสมัยพิเศษ

ผลการหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูสมัยพิเศษ
เมื่อวันที่ ๑๓ - ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป (อียู) สมัยพิเศษ (ASEAN-EU Commemorative Summit) ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - อียู ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
ผู้นำอาเซียนและอียู ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป(อียู) สมัยพิเศษ (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี นับว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ด้วยอียูมีประเทศสมาชิกที่เป็นคู่ค้าสำคัญทั้งสิ้น และเป็นประเทศบ้านเกิดของผู้ลงทุนสำคัญของไทยหลายราย วันนี้ผมจะมาเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่ามีการหารืออะไรในกรอบการประชุมดังกล่าวบ้าง และประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ผ่านการแถลงข่าวของนางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศครับ
การแถลงข่าวผลการหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูสมัยพิเศษ โดยรองอธิบดีกรมยุโรป เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ (ที่มา: Facebook กระทรวงการต่างประเทศ)
ก่อนอื่นต้องบอกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีและเป็นการประชุมที่สุดยอดสมชื่อ เนื่องจากเป็นโอกาสให้ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด รวมถึงประเทศไทย พบหารือกับผู้นำประเทศสมาชิกอียูทั้ง ๒๗ ประเทศเป็นครั้งแรก และในภารกิจนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีบทบาทในการสนับสนุนการหารือทวิภาคีของนายกรัฐมนตรีด้วย
ในช่วงการเยือนกรุงบรัสเซลส์ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบหารือกับผู้นำของทั้งอียูและประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด ๖ คน ได้แก่ นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) และผู้นำประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ กรีซ และฮังการี โดยไทยได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่แตกต่างกันกับผู้นำแต่ละประเทศ ซึ่งผมจะลงรายละเอียดให้ทราบต่อไป
ก่อนอื่น ขอเล่าให้ฟังถึงภาพรวมการหารือทั้งหมดก่อน ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทย อียู และประเทศต่าง ๆ ข้างต้นได้แสดงเป้าหมายหลักร่วมกัน กล่าวคือ การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด - ๑๙ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการย้ำเจตนารมณ์ที่ไทยต้องการร่วมมือกับอียู
การที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้พบหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สะท้อนการยกระดับความร่วมมือครั้งสำคัญของไทยกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรีได้รับการทาบทามจากผู้นำประเทศต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่แต่ละประเทศให้กับประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
นายกรัฐมนตรีไทย ขณะพบหารือนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
ประเด็นสำคัญยังไม่หมดแค่นั้น เพราะยังมีการหารือถึงเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน การวางเป้าหมายให้ไทยเป็นพื้นที่การลงทุน รวมถึงประเด็นด้านสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศ ทุกภาคส่วน กำลังมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญของไทยที่ต้องพัฒนาร่วมกับอียูอย่างเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ไทยยังใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย - อียู และลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand - EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai - EU PCA) ด้วย ซึ่งจะปูทางให้ไทยกับอียูพัฒนาความร่วมมือในสาขาที่หลากหลายต่อไป โดยทีมงาน Blockdit กระทรวงฯ จะมีบทความเรื่อง PCA โดยเฉพาะมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านทุกท่านต่อไปครับ
สำหรับความร่วมมือทวิภาคีกับแต่ละประเทศ นั้น ในการหารือกับเนเธอร์แลนด์ได้มีการกล่าวถึงความร่วมมือด้านการบริหารและพัฒนาน้ำ กับสาธารณรัฐเช็ก มีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การทหารและเทคโนโลยีด้านอวกาศ ขณะที่กับกรีซ ไทยได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางการทูต ส่วนในการหารือกับฮังการี มีความร่วมมือด้านทุนการศึกษา และกับฟินแลนด์ มีการพูดคุยเรื่องการดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทยที่ทำงานเก็บผลไม้ป่า
นอกจากนี้ โดยที่ประเทศไทยได้สมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต นายกรัฐมนตรีจึงได้ถือโอกาสในการหารือกับอียูและผู้นำประเทศต่าง ๆ ขอรับการสนับสนุน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ตด้วย
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการหารือทวิภาคีกับนายโจเซฟ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงของอียูว่าด้วยการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ซึ่งแม้ ๒ ปีที่ผ่านมาจะประสบกับสถานการณ์โควิด - ๑๙ แต่เราก็ได้เห็นพลวัติที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียู ซึ่งนำมาสู่ความตกลง PCA ในที่สุด โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนผู้แทนระดับสูงของทั้งสองฝ่าย มีการผลักดันความร่วมมือทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การระดมเงินทุนสีเขียว รวมถึงการผลักดันเขตการค้าเสรีไทย - อียู
ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีกับพัฒนาการความสัมพันธ์ที่ดี และได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในยูเครนและเมียนมา โดยฝ่ายไทยย้ำเรื่องการเปิดพื้นที่เจรจาทางการทูต และแสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ผ่านสภากาชาดโปแลนด์
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้เสริมว่า อียูเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของไทยและอาเซียน ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายถือว่ามีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในสถานการณ์โลกปัจจุบัน อียูสนใจอาเซียนมากขึ้นในฐานะตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า ๖๗๐ ล้านคน
ในขณะเดียวกัน ถึงแม้อียูจะมีประชากรไม่มาก แต่ก็เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ในแง่เม็ดเงิน และมีความก้าวหน้าทางด้าเทคโนโลยีสูงมาก จึงเชื่อว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน - อียู สมัยพิเศษในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือให้มก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา