13 ม.ค. 2023 เวลา 07:28 • การศึกษา

พระภิกษุสงฆ์

คำว่า "พระ" คำว่า "ภิกษุ" คำว่า "สงฆ์" แต่ละคำมีความหมายถึงบุคคลเดียวกัน ทำไมนิยมใช้ทั้ง ๓ คำ มาเขียนติดกันเป็นพระภิกษุสงฆ์ล่ะคะ ?
คำว่า "ภิกษุ" โดยคำศัพท์แปลว่า ผู้ขอ ผู้เพ่งเล็งเอา หมายถึงชายที่บวชในพระพุทธศาสนาดำรงชีวิตอยู่ โดยไม่ได้หุงหาอาหารกินเอง ใช้เวลาเพื่อปฏิบัติธรรม และสอนชาวบ้านเท่านั้น เรื่องอาหารแต่ละวันต้องขอชาวบ้านเขากิน อย่างที่เราเห็นท่านออกบิณฑบาตทุกๆ วันนี่แหละ
"พระ" หมายถึงชายที่บวชในพระศาสนา ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ มีศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นต้น ส่วนธรรมะต่างๆ ก็ศึกษาเล่าเรียนกันไป
ภิกษุที่มีความตั้งใจปฏิบัติตามธรรมตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด จะเกิดความประเสริฐ หรือเกิดความดีขึ้นในตัวคือความโลภน้อยลง ความโกรธน้อยลง ความหลงน้อยลง เป็นผลให้สติปัญญาทางธรรมก้าวหน้ายิ่งขึ้น ความประเสริฐก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามมา
คำว่าประเสริฐมาจากคำว่า "วร" (อ่านว่า วะ-ระ] แล้วก็แผลงมาเป็น "พระ" ฉะนั้น พระคือภิกษุผู้ประเสริฐส่วนคำว่า "สงฆ์" ในพระวินัย หมายถึงกลุ่มภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ร่วมกันทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดของศาสนา เช่น สงฆ์ลงสวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น
ความหมายของแต่ละคำ ก็อย่างที่ว่ามานี้ เวลาจะแยกใช้ก็เลือกใช้คำให้เหมาะสมตามวาระตามโอกาส แต่คำว่าพระเป็นความหมายเชิงยกย่อง เรานิยมใช้ซ้อนเป็นคำนำหน้า เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ หรือรวมทุกคำ
หลวงพ่อทัตตะชีโว
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหา๖ หน้า 101-102
ภาพดีๆ ๐๗๒
โฆษณา