20 ม.ค. 2023 เวลา 10:34 • การศึกษา

กรรมเก่าเฝ้าติดตาม

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นศูนย์รวมแห่งความสุขและความสำเร็จ และเป็นทางรอดทางหลุดพ้นจากภัยในวัฏสงสาร ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าศูนย์กลางกายนี้ มีความสำคัญต่อเรามากเพียงใด เราก็ควรให้ความสำคัญให้มาก โดยหมั่นเอาใจของเรามาวางไว้มาหยุดไว้ ทำความผูกสมัครรักใคร่กับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจจรดใจจ่ออยู่ที่ตรงนั้น ทำทุกวันทำให้ต่อเนื่อง แล้วศูนย์กลางกายก็จะต้อนรับเรา ให้เข้าไปถึงองค์พระหรือดวงธรรมภายใน แล้วเราจะได้สมปรารถนาทุกสิ่งที่ต้องการ
มีพุทธพจน์ที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
“ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
ยสฺส ปีติโต สุมโน วิปากํ ปฏิเสวติ
 
บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ร้อนใจในภายหลัง มีปีติและโสมนัส เสวยวิบากของกรรมใด กรรมนั้นแลที่บุคคลทำแล้วเป็นความดี”
ทุกคนในโลกนี้ ล้วนต่างก็มีกรรมเป็นของตน มีทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี ติดตัวมานับภพนับชาติไม่ถ้วน กรรมบางชนิดมีผลเผ็ดร้อนให้ผลทันตาเห็น บางชนิดติดตามตัวไปทุกภพทุกชาติ เป็นเศษกรรมจนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย จึงจะหมดสิ้นกันไป เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่า สิ่งไหนเป็นกรรมดีก็ควรทำ สิ่งไหนเป็นกรรมชั่วก็ควรเว้น เราอยากจะให้อนาคตเป็นอย่างไรเราต้องทำวันนี้ให้ดี ชาติหน้าเราอยากให้เป็นอย่างไรเราก็ต้องทำชาตินี้ให้ดี ด้วยการทำความดีให้ได้ตลอด สร้างบุญบารมีทุกอย่าง ทำบุญทุกบุญโดยไม่ต้องรอให้ใครมาบอกมาเตือน
เมื่อกรรมดีสั่งสมในใจของเรามากเข้า แม้ถึงเวลาที่ต้องเดินทางไกลไปสุคติโลกสวรรค์ เราก็สามารถไปได้ด้วยตนเอง ไปได้อย่างสง่าผ่าเผยเหมือนผู้ที่ชนะการรบในสงคราม หรือเหมือนการละภาชนะดินไปเอาภาชนะทองคำ ละทิ้งกายหยาบ ไปเอากายที่ละเอียดที่ประณีตกว่า
หลวงพ่อมีตัวอย่างของสามเณรรูปหนึ่งมาเล่าสู่ทุกท่าน ให้ได้ศึกษากันเป็นบุคลาธิษฐาน สามเณรรูปนี้แม้จะถูกหลาวเหล็กแทง ก็สามารถตั้งสติทำสมาธิเจริญวิปัสสนา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งในอดีตชาติ สามเณรรูปนี้เคยเกิดเป็นวิทยาธร
ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุเมธะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาทรงประทับนั่งและได้เปล่งพระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่งในราวป่า ในขณะนั้นวิทยาธรท่านนี้เหาะผ่านไปทางนั้น ได้มองเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมีใจเลื่อมใส จึงลงจากอากาศนำดอกกรรณิการ์ที่สวยสดงดงามมาบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดอกไม้เหล่านั้นได้ตั้งอยู่เบื้องบนของพระบรมศาสดาเหมือนเศวตฉัตร วิทยาธรเห็นพุทธานุภาพแล้ว มีจิตเลื่อมใสไม่มีประมาณ มีมหาปีติเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อท่านทำกาละแล้วไปบังเกิดในดาวดึงส์พิภพ เสวยทิพยสมบัติมากมายจนตลอดอายุขัย จุติจากภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลในกรุงราชคฤห์ มีชื่อว่า อุตตระ
เมื่อเจริญวัยแล้วถึงความสำเร็จในวิชาของพราหมณ์ และด้วยชาติตระกูล รูปสมบัติ ความรู้ วัยวุฒิ และศีลาจารวัตร ท่านจึงได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวโลก ต่อมาวัสสการพราหมณ์ ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์ประจำแคว้นมคธมองเห็นคุณสมบัติที่พิเศษของอุตตรมาณพ จึงมีความประสงค์ที่จะยกธิดาให้ท่าน ได้ประกาศความประสงค์ของตนให้ทราบ
แต่อุตตระนั้นปฏิเสธเรื่องการครองเรือน เพราะปรารถนาจะออกจากทุกข์ เนื่องจากได้เข้าไปฟังธรรมในสำนักของพระธรรมเสนาบดีเป็นประจำ เมื่อศรัทธาจึงออกบรรพชาเป็นสามเณร ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติ คอยอุปัฏฐากรับใช้พระเถระเป็นประจำ
รุ่งขึ้นของวันหนึ่ง อุตตรสามเณรได้ถือบาตรและจีวรออกจากวิหาร เพื่อจะบิณฑบาตเภสัชมาปรุงยาให้พระธรรมเสนาบดี ซึ่งกำลังอาพาธด้วยโรคชนิดหนึ่ง ในระหว่างทางได้วางบาตรไว้ใกล้สระน้ำ ลงไปล้างหน้า ในช่วงนั้นได้มีโจรคนหนึ่งขุดอุโมงค์เข้าไปขโมยห่อรัตนะในยามค่ำคืนกำลังถูกพวกเจ้าหน้าที่ไล่ตามมา ได้หลบหนีผ่านมาเจอบาตรของสามเณร ก็เอาห่อรัตนะที่ตนขโมยใส่ลงในบาตรของสามเณร แล้วหลบหนีไป
เมื่อล้างหน้าเสร็จแล้วสามเณรก็ถือบาตรโดยไม่ได้พิจารณา เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาถึงมองเห็นห่อรัตนะอยู่ในบาตรของสามเณร จึงเข้าใจผิดว่าสามเณรเป็นโจร จึงผูกแขนสามเณรไพล่หลัง นำตัวไปมอบให้วัสสการพราหมณ์ผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีความประจำเมืองในขณะนั้นได้พิจารณาคดี
เมื่อวัสสการพราหมณ์เห็นหน้าสามเณร เนื่องจากตนเองอคติ มีความลำเอียงเพราะโมโหสามเณรอยู่ก่อนแล้ว จึงกล่าวว่า “ครั้งก่อน ท่านไม่เชื่อเรา ทิ้งลูกสาวของเราไปบวช เราจะไม่ยอมให้อภัยท่านเด็ดขาด” พราหมณ์ไม่ยอมชำระคดีให้ขาวสะอาด เพราะตนไม่พอใจที่ถูกสามเณรอุตตรเคยปฏิเสธความปรารถนาของตนในครั้งก่อน ได้สั่งให้ประหารโดยวิธีเอาหลาวเสียบสามเณรทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ญาณของสามเณรแก่กล้าแล้ว จึงเสด็จไปยังสถานที่นั้น ทรงวางพระหัตถ์มีพระองคุลียาวเรียวอ่อนนุ่มดุจปุยนุ่นลงบนศีรษะของอุตตรสามเณร ตรัสว่า “อุตตระ นี้เป็นผลกรรมในอดีตของเธอ เธอพึงอดกลั้นด้วยกำลังแห่งปัจจเวกขณญาณเถิด”
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่เหมาะสมแก่อัธยาศัยของสามเณรที่สั่งสมมา ฝ่ายอุตตรสามเณรมีปีติโสมนัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าวางพระหัตถ์ลงบนศีรษะของท่าน และได้ฟังพระธรรมเทศนาเหมือนกับได้รับการรดด้วยน้ำอมฤต จึงยกจิตขึ้นสู่หนทางวิปัสสนาตามที่ตนได้สั่งสมมา และด้วยความอาจหาญร่าเริงในธรรมของพระบรมศาสดา จึงทำให้กิเลสทั้งปวงสิ้นไป ได้บรรลุธรรมไปตามลำดับ กระทั่งบรรลุอรหัตผล เป็นผู้ทรงอภิญญา ๖
จากนั้นท่านก็ถอนตนขึ้นจากหลาวอันคมกริบ ยืนอยู่ในอากาศ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้มหาชนเกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะนั้นเอง แผลของท่านก็หายสนิทดีเป็นปรกติ ด้วยบุญญานุภาพที่ได้บรรลุอรหัตและพุทธานุภาพ ท่านจึงรอดพ้นจากทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น
ต่อมาเมื่อท่านถูกพวกภิกษุถามว่า “อาวุโส ท่านได้รับทุกข์แสนสาหัสถึงปานนั้น ท่านยังสามารถเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร” ท่านจึงกล่าวตอบว่า “จะกล่าวไปทำไมถึงโทษในสงสารของผมเล่า ก็สภาวะแห่งสังขารทั้งหลาย ผมเห็นได้ชัดเจนแล้ว แม้ผมจะเสวยทุกข์เห็นปานนั้นก็ยังสามารถเพื่อบรรลุคุณวิเศษได้
และเหตุที่ต้องมารับทุกข์เช่นนี้ เพราะในชาติก่อนสมัยที่ยังเป็นเด็กหนุ่ม ผมได้เอาหลาวไม้สะเดาไล่แทงแมลงวัน เพราะอาศัยการเล่นจับสัตว์เสียบหลาวด้วยความสนุกสนานนั้น จึงทำให้ผมต้องเสวยทุกข์อย่างนี้มาหลายร้อยชาติ ในชาติสุดท้ายนี้ก็ยังได้รับทุกข์ถึงปานนี้”
เมื่อท่านระลึกถึงบุพกรรมของตนแล้วก็เกิดธรรมสังเวช แต่ก็มีความโสมนัสเมื่อได้เห็นภาพการสร้างบารมีของตน และเมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยประพฤติมาในกาลก่อน จึงแสดงธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของบรมพระศาสดา พร้อมทั้งหมู่พระภิกษุและสาธุชนที่มาประชุมกัน เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างบารมีต่อไป
เราจะเห็นว่า แม้จะเป็นชาติสุดท้ายของสามเณรอรหันต์ แต่กรรมที่ท่านเคยสร้างเอาไว้ในชาติปางก่อน ก็ยังคอยติดตามมาส่งผล ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมทุกอย่างอย่าไปทำ ให้สั่งสมแต่กรรมดี ทำความดีของเราเรื่อยไป โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่มาขวางกั้น ต้องสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์สร้างบารมีให้เต็มที่
และรู้จักนำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาสอนตนเอง รวมทั้งเป็นกัลยาณมิตรให้กับเพื่อนร่วมโลกด้วย นำวิชชาธรรมกายไปสู่ใจของชาวโลกให้ได้ แล้วโลกก็จะเป็นอย่างที่เราต้องการให้เป็น คือเป็นโลกแก้ว โลกแห่งสันติสุขอันไพบูลย์ ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้คนอื่น เราต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองให้ได้ ให้หมั่นฝึกฝนใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน มีพระธรรมกายที่ชัดใสสว่างมั่นคงตลอดเวลา หลับตาก็ให้เห็นองค์พระ ให้องค์พระเป็นเรา เราเป็นองค์พระ ฝึกทำอย่างนี้ให้สม่ำเสมอ
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๔๐๒ – ๔๑๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๗๒ หน้า ๔๖๘
<<toBeConvertedToEmptyParagraph>>
โฆษณา