13 ม.ค. 2023 เวลา 07:59 • การศึกษา

กรรมของผู้ไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป

เราได้เหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งวันแล้ว จากการประกอบภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป เราจะได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง ในการแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพิ่มเติมสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้กับชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ชีวิตจะได้ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ให้ใจอยู่ในกระแสธรรม จะได้มีความสุขสดชื่นเบิกบาน คลายจากความเหน็ดเหนื่อยที่เราได้ตรากตรำกันมาตลอดทั้งวัน
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เราจะได้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้นในใจ จะได้เข้าไปพบกับพระรัตนตรัยภายใน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
“น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ
ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ วิปากํ ปฏิเสวติ
1
บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้เสวยผลของกรรมใดอยู่ กรรมนั้นอันบุคคลกระทำแล้วไม่ดีเลย”
-----
อวิชชา คือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิต อวิชชาเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสอาสวะทั้งหลาย ที่คอยบังคับให้มนุษย์คิดไม่ดี ส่งผลให้คำพูดและการกระทำไม่ดีตามไปด้วย ความไม่รู้จริงอาศัยความนึกคิดด้นเดานี้ คิดเข้าข้างตนเองบ้างว่า บุญบาปไม่มี หรือสิ่งใดที่ทำไปแล้วคงไม่ส่งผลในภพชาติเบื้องหน้า เมื่อไม่รู้จริง ทำให้เกิดความประมาทมัวเมาในชีวิต เมื่อประมาทก็ทำให้พลั้งพลาดไปทำบาปอกุศล ส่งผลเป็นวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานในอบายภูมิ
บาปอกุศลทุกอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพอทำไปแล้ว จะส่งผลทันทีให้เห็นด้วยตาเนื้อ ถึงแม้ยังมองไม่เห็นผลของกรรมที่จะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ก็คือเราจะไม่ค่อยสบายใจ เพราะกรรมดีทุกอย่างที่เราทำจะมีความสุขความสบายใจเป็นผล ส่วนกรรมชั่วที่ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็มีความทุกข์ทรมานเป็นผลกรรมตอบแทน
-----
เมื่อถึงเวลานั้นได้แต่บอกว่าสายเกินไปเสียแล้ว จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เพื่อสั่งสมบุญให้กับตนเองอีกครั้ง ก็ต้องใช้เวลาอีกยาวนาน เพราะบาปกรรมที่เราทำลงไปนั้นแม้จะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม จะส่งผลเป็นวิบากที่ยาวนานเกินกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้เสียอีก
เหมือนในยุคก่อนพุทธกาล มีเศรษฐีท่านหนึ่งชื่อธนปาลกะ อาศัยอยู่ในเอรกัจฉปัณณรัฐ เป็นผู้ไม่มีศรัทธาและมีความตระหนี่ เป็นนัตถิกทิฐิบุคคลคือมีความเห็นว่าบุญบาปไม่มี คิดว่าสิ่งที่ทำไปแล้วในโลกนี้ จะไม่ส่งผลใด ๆ ในภพชาติเบื้องหน้า เพราะโลกหน้าไม่มี จึงไม่ทำบุญกุศลเลยตลอดชีวิต มัวแต่ทำมาหากิน รวบรวมทรัพย์สมบัติเอาไว้มากมาย
-----
เมื่อละโลกจึงไปบังเกิดเป็นเปรตในทะเลทราย มีร่างกายสูงประมาณเท่าต้นตาล มีผิวหนังปูดขึ้น ผมเผ้ารุงรังยุ่งเหยิงไปหมด รูปร่างผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัวมาก เปรตเศรษฐีต้องอดอาหารอยู่นานถึง ๕๕ ปี อยากจะดื่มน้ำแก้กระหายก็ไม่มีให้ดื่ม ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก ถูกความหิวกระหายครอบงำ เที่ยวเดินงุ่นง่านไปตามท้องทะเลทรายอันเวิ้งว้างที่ธุรกันดาร เพื่อแสวงหาอาหารและน้ำดื่ม แต่ก็ไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านั้นตามความปรารถนา ต้องเป็นเปรตผู้หิวโหยอยู่ตลอดเวลา
-----
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ได้มีพวกพ่อค้าชาวกรุงสาวัตถีบรรทุกสินค้าเต็ม ๕๐๐ เล่มเกวียนไปค้าขายต่างแดนเป็นเวลาแรมปี ในระหว่างทางได้ปลดเกวียนพักแรมอยู่กลางทะเลทราย ตั้งใจว่าจะนอนพักสักหนึ่งคืน ตกดึกของคืนวันนั้น เปรตก็ออกแสวงหาน้ำดื่มตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่นเคย บังเอิญผ่านมาบริเวณที่พ่อค้ากำลังหลับนอนกันอยู่พอดี
แต่เนื่องจากอดอยากมานานจึงหมดเรี่ยวหมดแรง ขาอ่อนล้มลงเหมือนตาลรากขาด พวกพ่อค้านึกว่าต้นไม้โค่นล้ม ก็รีบปลุกกันไปมุงดู แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ต้องแปลกใจกันใหญ่ เพราะสิ่งที่เห็นนั้นคือเปรต จึงไต่ถามว่า “ทำไมจึงมานอนร้องโอดครวญอยู่ที่นี่”
-----
เมื่อรู้ว่า สิ่งมีชีวิตที่น่าเกลียดน่ากลัวและมีกลิ่นเหม็นนั้นคือเปรต ก็ขนลุกขนพองหวาดกลัวไปตาม ๆ กัน ครั้นพิจารณาแล้วเปรตตนนี้ไม่มีเรี่ยวแรง และไม่ได้มาร้าย จึงถามเรื่องราวบุพกรรมของเปรตว่า "ท่านทำกรรมชั่วอะไรเอาไว้ จึงมาเกิดเป็นเปรต ทนทุกข์ทรมานอยู่ในทะเลทรายเช่นนี้"
เปรตได้สารภาพบาปของตนเองให้พวกพ่อค้าฟังว่า “เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเศรษฐีอยู่ในเมืองเอรกัจฉะ มีพระเจ้าทสันนราชเป็นพระราชา ประชาชนเรียกข้าพเจ้าว่า ธนปาลเศรษฐี ข้าพเจ้ามีทรัพย์ ๘๐ เล่มเกวียน
-----
แม้จะมีทรัพย์มากมายถึงเพียงนั้นก็ตาม แต่ไม่ได้ให้ทาน ได้ปิดประตูบริโภคอาหารตามลำพังคนเดียว เพราะไม่อยากให้พวกยาจกมาเห็น ข้าพเจ้าไม่มีศรัทธา เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เพราะเชื่อว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงเรื่องราวที่กุกันขึ้นมาเท่านั้น ข้าพเจ้าได้ด่าพวกยาจกและห้ามปรามมหาชนผู้กำลังให้ทาน ทำแต่กรรมชั่วเอาไว้ จึงต้องมาเป็นอย่างนี้
เมื่อก่อนข้าพเจ้าสงวนทรัพย์ไว้ แม้มีทรัพย์สมบัติมากก็ไม่ยอมให้ทาน ข้าพเจ้าไม่เคยทำที่พึ่งในปรโลกให้กับตนเองเลย บัดนี้ได้รับผลกรรมเหล่านั้นแล้ว ต้องมาเดือดร้อนในภายหลัง พ้นจาก ๔ เดือนไปแล้ว
ข้าพเจ้าจะต้องตายตกนรกหมกไหม้อีก เป็นคุกเหล็ก ๔ เหลี่ยม แยกเป็นห้อง ๆ ล้อมด้วยกำแพงเหล็ก ครอบด้วยแผ่นเหล็ก พื้นนรกเป็นแผ่นเหล็กที่ลุกเป็นไฟ ประกอบด้วยความร้อนแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ลุกโพลงโชติช่วงตั้งอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกนั้นตลอดกาลนาน นั่นเป็นคติที่จะเกิดขึ้นเพราะได้ทำบาปเอาไว้มาก
-----
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกที่จะไปเกิดในนรกอันเร่าร้อนนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันที่นี้ พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วในที่ไหน ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่แจ้งหรือที่ลับ ถ้าว่าพวกท่านจักกระทำหรือกำลังทำกรรมชั่วนั้น
แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปไหนก็หนีไม่พ้น ขอท่านทั้งหลายจงเลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะพราหมณ์ แล้วท่านจักได้ไปสวรรค์”
-----
พวกพ่อค้าเมื่อได้สดับคำของเปรตแล้ว ความกลัวที่บังเกิดขึ้นจับจิตจับใจในครั้งแรกก็มลายหายสูญ เกิดความสลดสังเวชใจเข้ามาแทนที่ มีแต่ความสงสารเปรต ปรารถนาจะอนุเคราะห์เปรตตนนั้น จึงเอาภาชนะตักน้ำดื่มมา ให้เปรตนอนหงาย กรอกน้ำเข้าทางปาก แต่เมื่อราดน้ำลงไปน้ำก็ไม่ไหลลงสู่ลำคอ เพราะเปรตไม่เคยทำบุญเอาไว้จึงดื่มน้ำไม่ได้ พวกพ่อค้าถามเปรตว่า “ท่านได้ดื่มน้ำบ้างไหม” เปรตบอกว่า “น้ำแม้เพียงหยดเดียวก็ไม่ไหลล่วงลำคอของข้าพเจ้า”
พวกพ่อค้าได้ฟังเช่นนั้น ยิ่งเกิดความสังเวชหนักขึ้น ถามว่า “แล้วทำอย่างไรดีพวกเราถึงช่วยท่านได้ล่ะ” เปรตบอกว่า “หากพวกท่านถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพเจ้า เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะพ้นจากความเป็นเปรต” ครั้นรุ่งเช้าเปรตก็อันตรธานหายไป
พวกพ่อค้าซึ่งไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันทั้งคืน รีบเดินทางไปกรุงสาวัตถี เข้าไปกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างทางให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พร้อมกับช่วยกันถวายทานตลอด ๗ วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตผู้หิวโหยตนนั้น ด้วยหวังว่าจะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน
เราจะเห็นว่า ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ไม่ได้สั่งสมบุญเอาไว้นั้น เป็นชีวิตที่อันตรายและอาภัพอับโชคเหลือเกิน อับโชคคือหมดโอกาสที่จะทำความดีหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้สูงขึ้น หมดโอกาสที่จะสั่งสมบุญเหมือนอยู่ในโลกมนุษย์ ต้องไปทุกข์ทรมานด้วยวิบากกรรมที่ตนเองได้ก่อเอาไว้อย่างเดียว
ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายให้ละชั่ว ทำแต่ความดี และทำใจให้ผ่องใส จะได้มีสุคติเป็นที่ไป เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทรงรู้เห็นด้วยสัพพัญญุตญาณว่า นิพพาน ภพสาม โลกันต์เป็นอย่างไร จะไปสวรรค์และนิพพานได้อย่างไร จึงทรงมุ่งสั่งสอนให้ละเว้นจากบาปอกุศลทั้งปวง ให้ทำแต่บุญกุศลล้วน ๆ เพราะฉะนั้นให้หมั่นประพฤติธรรม สั่งสมบุญกันอย่างเดียว อย่าได้ประมาทในชีวิต เส้นทางไปสู่สวรรค์และนิพพานของเราจะได้ราบรื่นกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๓๗๖ – ๓๘๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๔๙ หน้า ๒๑๒
โฆษณา