การดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ต้องเกี่ยวพันกับผู้คน ต้องมีการกระทำร่วมกัน มีการพูดคุยสนทนากัน ต้องใช้ความคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่เวลาที่เราอยู่คนเดียว เราก็ต้องคิดทำเรื่องของตนเองหลายอย่าง สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้คิด ได้พูด ได้กระทำไป จะเป็นวิบากกรรมติดตัวเราไปในภพเบื้องหน้าได้
เพราะว่าชีวิตเราตกอยู่ในกฎแห่งกรรม สิ่งที่เราได้กระทำไปไม่ได้สูญหายไปไหน ไม่ว่าทำดีทำชั่วหรือไม่ดีไม่ชั่ว ล้วนมีผลทั้งสิ้น เรื่องนี้เป็นความจริงของชีวิตและเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ต้องเห็นชีวิตถึงจะปลอดภัย ปลอดภัยจากภัยในสังสารวัฏ เมื่อนั้นจะมีชัยชนะ คือมีชัยชนะเหนือบาปอกุศล เหนือกิเลสอาสวะ และมีความสุขที่แท้จริงที่เราปรารถนา
มีวาระแห่งพุทธสุภาษิตที่มาในเนื้อความของ เขมสูตร ว่า
 
“บุคคลผู้เป็นคนพาลมีปัญญาทราม ย่อมประพฤติตนเป็นศัตรูต่อตนเอง ย่อมทำกรรมอันลามกที่ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง เขาย่อมมีน้ำตานองหน้าร้องไห้คร่ำครวญอยู่ และต้องเสวยผล แห่งวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนด้วยความทุกข์ทรมาน
ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีใจแช่มชื่นเบิกบาน ได้เสวยผลแห่งวิบากกรรมที่ดีนั้น ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนและผู้อื่น ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้น”
เรื่องกฎแห่งกรรมนี้ เป็นเรื่องของความจริง ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อ หรือการนับถือศาสนาลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม กฎนี้ก็ยังคงอยู่เพราะเป็นกฎสากล ที่มีผลบังคับครอบคลุมไปถึงสรรพสัตว์ทั่วทั้งภพสาม ถ้าเราทำใจให้เป็นกลาง ๆ โดยวางความเชื่อไว้บนหิ้งแล้วเอาความจริงมาพิสูจน์กัน เราก็จะได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องสมบูรณ์ ว่าสัตว์โลกทั้งหลายล้วนมีวิบาก คือผลที่เกิดจากการกระทำของตนทั้งสิ้น ที่ตนเองกระทำเอาไว้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วต้องมารับวิบากกรรมที่แตกต่างกันออกไป
คือกรรมบางอย่างเมื่อทำไปแล้วต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง อาจให้วิบากในมหานรก บางอย่างให้วิบากในอสุรกาย ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานก็มี ถ้าเป็นกรรมดีก็ให้วิบากในสุคติภูมิ ในมนุษยโลก ในเทวโลกก็มี ในรูปภพ อรูปภพก็มี นี้เรียกว่าความแตกต่างแห่งกรรม
เราจะต้องทำความเข้าใจให้ซาบซึ้งในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเพียรพยายามพร่ำสอนให้พุทธบริษัทตลอดจนชาวโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้แจ้งเห็นจริง ให้เข้าใจถูกต้องและทำให้ถูกหลักวิชา เพื่อจะได้หลุดพ้นออกจากวังวนของวัฏสงสารไปสู่อมตมหานิพพาน เป็นอิสรภาพ พ้นจากกฎเกณฑ์นี้
เราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ท่าน ต้องเดินตามอย่างพระบรมครู ท่านก้าวไปทางไหนเราต้องก้าวไปทางนั้น เดินตามรอยบาทของพระพุทธองค์เรื่อยไป อย่าให้เป็นเหมือนบุคคลท่านหนึ่ง ที่ประมาทในเรื่องกฎแห่งกรรม ทำให้ชีวิตที่เคยสว่างไสวกลับมามืดมนอนธการ ต้องมีอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเป็นที่ไป
เรื่องมีอยู่ว่า ท่านสุนักขัตตะโอรสแห่งเจ้าลิจฉวี มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยโดยอเนกปริยาย และมีโอกาสมาอุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดพระบรมศาสดา ตอนนั้นกุศลกรรมในตัวท่านยังให้ผล ทั้งบุญเก่ายังอำนวยผลอยู่ ท่านจึงมีบุญได้รับใช้พระพุทธองค์ และเมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ก็เกิดกำลังใจได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา
ในกาลต่อมา ท่านเกิดความคิดเห็นผิดบางอย่างขึ้น คือคิดว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงผูกขาดตำแหน่งการเป็นพระอรหันต์แต่เพียงผู้เดียว แม้ในลัทธิอื่นที่ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็น่าจะเป็นพระอรหันต์ได้
เมื่อเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมาในใจ ก็เป็นเชื้อให้บาปอกุศลได้ช่อง เพราะบาปเขาจะคอยหาช่องตลอดเวลาอยู่แล้ว ที่จะเอากิเลสเข้ามาใส่มาแทรกสอดในใจ ให้เห็นผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทั้งกุศลและอกุศล จะมีการชิงช่วงและช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลา
ถ้าหากใครเผลอหรือประมาทพลาดพลั้ง จะโดยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจก็ดี กิเลสจะเข้าแทรกในทันที แม้เพียงแค่เราคิดเล่น ๆ มันก็ได้ช่องและบุกเข้ามาจู่โจมทันทีเหมือนกัน โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับพระบรมศาสดา เขายิ่งจ้องเล่นงานเป็นพิเศษอยู่แล้ว
เรื่องความคิดเห็นผิดที่เกิดขึ้นในใจของอุปัฏฐากใกล้ชิดนี้ พระบรมศาสดาทรงทราบดี เพราะพระองค์ทรงรู้วาระจิตด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์ จึงตรัสเรียกมากล่าวเตือนว่า “สุนักขัตตะ เรารู้นะว่าเธอคิดอะไร เธอกำลังมีความเห็นผิดในเรา เธอไม่รู้หรือ ว่าที่เราขวนขวายในการอบรมสั่งสอนสรรพสัตว์ เพื่อให้สรรพสัตว์ได้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้เป็นพระอรหันต์
เราไม่ได้หวงแหนความเป็นพระอรหันต์ เราเพียรสร้างบารมีมา ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัปก็เพื่อการนี้ ไฉนเลยเราจะผูกขาดการเป็นพระอรหันต์แต่เพียงผู้เดียว” สุนักขัตตะฟังแล้ว ก็ไม่ได้ปักใจเชื่อ แต่ก็ไม่คัดค้าน หรือต่อปากต่อคำอะไร
เช้าวันหนึ่งก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จออกบิณฑบาต ได้เสด็จไปที่อารามของภัคควปริพาชกก่อน เพื่อที่จะเล่าเรื่องบางอย่างให้ปริพาชกฟัง เพราะทรงรู้ในอนาคตว่า เมื่อเขาได้ฟังรู้เรื่องแล้วจะเกิดความเลื่อมใส แม้ปริพาชกนั้นจะมีทัศนคติในทางความคิดที่แตกต่างออกไป มีความชอบใจและความพอใจไปคนละทาง
แต่จะเกิดความเลื่อมใสในเบื้องต้น ซึ่งจะเป็นพลวปัจจัยติดตัวไปในภพเบื้องหน้า พระพุทธองค์ทรงเล่าให้ปริพาชกท่านนี้ฟังว่า "อีก ๗ วันนักบวชชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะจะเสียชีวิตลงเพราะโรคอลสกะ คือโรคอาหารไม่ย่อย เพราะเหตุที่รับประทานอาหารมากจนเกินไป และจะไปเกิดเป็นอสุรกาย ในจำพวกอสูรกาลกัญชิกา"
สำหรับเรื่องภูมิของอสุรกายนี้ ได้มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เป็นกำเนิดหนึ่งในอบายภูมิ ๔ อสุรกายแปลว่าไม่กล้า คือผู้ที่ไม่กล้า ไม่กล้าเพราะไม่อยากจะให้ใครเห็น เนื่องจากว่ารูปร่างหน้าตาของตัวอัปลักษณ์ บางทีก็หน้าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่ตัวเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่ง แขนก็เป็นของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง แต่ขาเป็นคนอย่างนี้ก็มี แล้วมีหลากหลายประเภทพิสดารแตกต่างกันออกไป ตามปกติแล้วเขาจะอยู่ที่ช่องว่างระหว่างเขาตรีกูฎกับเขาสิเนรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกากับชั้นดาวดึงส์
สำหรับอสูรกาลกัญชิกานี้แปลกประหลาดมาก คือจะมีตาอยู่บนหัวเหมือนตาปู ตาใหญ่โต แล้วมีปากอยู่บนหัวเหมือนกัน แต่เล็กเท่ากับรูเข็ม เวลาจะกินอาหารต้องก้มหัวลงมาดูดกิน กินก็ไม่อิ่มสักทีเพราะปากเล็กเท่ารูเข็ม ตัวก็ลีบผอมแห้งเหมือนกับใบไม้แห้ง ตัวสูงแต่หิวโซ บุพกรรมนี้เกิดขึ้นเนื่องจากในตอนที่เป็นมนุษย์ได้ประพฤติวัตรของสุนัข ที่ใช้ปากก้มลงไปกินอาหารกับพื้น ได้รับความทุกข์ทรมานมาก ทั้งร้อนทั้งหิวกระหาย จะโอดครวญอยู่ตลอดเวลา
แล้วเรื่องที่เกิดก็เป็นจริงอย่างพระพุทธดำรัส เมื่อชีเปลือยโกรักขัตติยะตายไปได้ ๓ วัน พระพุทธองค์ก็เสด็จไปที่ป่าช้า ไปดูศพของชีเปลือย ทรงใช้พุทธานุภาพไปเอาอดีตชีเปลือยซึ่งเป็นอสุรกายมาให้มาเข้าร่างเดิม เมื่อสุนักขัตตะถามซากศพที่นอนอยู่ว่า “ท่านตายแล้วไปเกิดที่ไหน”
ศพนั้นก็ลุกขึ้นมานั่งเหมือนกับมีชีวิต แล้วพูดว่า “เราไปเกิดในภพของอสุรกายเป็นพวกอสูรกาลกัญชิกา” พูดจบก็ล้มตัวลงนอน กายละเอียดจึงค่อยออกจากร่างไปเสวยวิบากกรรมตามเดิม เรื่องนี้ทั้งที่สุนักขัตตะได้ประจักษ์แล้วด้วยตนเอง แต่ก็ยังดื้ออยู่ ยังคอยจ้องจับผิดวาทะของพระพุทธองค์ต่อไป
ครั้นต่อมา พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์อเจลกะชื่อกฬารมัชฌกะ ซึ่งกำลังโด่งดังเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในครั้งนั้นว่า “อีกไม่นาน อเจลกะนี้จะเลิกบำเพ็ญพรตเพื่อไปมีภรรยา” สุนักขัตตะก็ไม่ค่อยจะเชื่อ เพราะเห็นอเจลกะท่านนี้เคร่งครัดมาก ยังเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป แต่ไม่นานเท่าไรอเจลกะนั้น ก็เป็นอย่างพระพุทธดำรัสจริง ๆ สุนักขัตตะได้แต่นิ่งเฉย และต่อมามีผู้มาท้าประลองฤทธิ์กับพระพุทธองค์ พระองค์ก็ทรงรับการท้าประลอง ผลจะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตามในตอนต่อไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับผลของบาป หน้า ๔๑๒ – ๔๑๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
เล่ม ๑๕ หน้า ๑
1
<<toBeConvertedToEmptyParagraph>>
49 ถูกใจ
49 แชร์
359 รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 49
    โฆษณา