16 ม.ค. 2023 เวลา 02:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป เศรษฐกิจถดถอยและการฟื้นตัว มีรูปแบบไหนบ้าง ?

“เศรษฐกิจถดถอย” หรือ Recession กลายมาเป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด ในช่วงนี้
 
เราเคยสงสัยไหมว่า เศรษฐกิจถดถอยคืออะไร แล้วหากเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไรได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะมาสรุปให้ฟัง
เศรษฐกิจถดถอย คือ การที่การเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP ติดลบ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส
เศรษฐกิจถดถอยอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผลิตลดลง การใช้จ่ายลดลง การลงทุนลดลง การส่งออกลดลง รวมไปถึง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
เมื่อใดก็ตามที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ เก็บภาษีน้อยลง รวมทั้งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ผ่านการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
คำถามที่น่าสนใจคือ หลังเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นแล้ว หากเศรษฐกิจจะฟื้นตัว จะเกิดขึ้นแบบไหนได้บ้าง ?
1. แบบ V-Shaped เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ถือเป็นรูปแบบการฟื้นตัวหลังเกิดเศรษฐกิจถดถอย ที่หลายคนคาดหวังจะให้เกิดมากที่สุด
โดยการฟื้นตัวรูปแบบนี้ ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง จะต้องมีการแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเป็นไปอย่างทันท่วงที
1
รวมถึงปัจจัยด้านลบต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ต้องไม่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน
2. แบบ U-Shaped เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
เป็นภาวะที่เศรษฐกิจนั้นหดตัวลง แต่กลับไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนแบบแรก
 
โดยที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะว่าผลกระทบที่ได้รับนั้น กินระยะเวลายาวนานกว่า จึงใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่า รวมทั้งนโยบายที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา อาจยังไม่เพียงพอ
อย่างกรณีของเศรษฐกิจไทย ซึ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ได้รับผลกระทบจากช่วงล็อกดาวน์หลายปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นการฟื้นตัวในลักษณะนี้ได้เช่นกัน
เพราะเราจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปี กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับปกติ อยู่ที่ราว 40 ล้านคน
3. แบบ W-Shaped เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว แต่กลับไปถดถอยอีก
การฟื้นตัวรูปแบบนี้ จะคล้ายกับกรณีแรก ที่เศรษฐกิจนั้นหดตัวอย่างรวดเร็ว และก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว
แต่ในเวลาต่อมา กลับมีปัจจัยลบบางอย่างมากระทบอีก ทำให้เศรษฐกิจกลับมาถดถอยอีกรอบ
1
ซึ่งบางครั้งก็เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า “Double-Dip” อย่างช่วงการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นหลายระลอก ทำให้บางประเทศต้องล็อกดาวน์อยู่หลายครั้ง ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลายครั้งเช่นกัน ทั้งที่เพิ่งฟื้นตัวมาก่อนหน้านี้ไม่นาน
4. แบบ L-Shaped เศรษฐกิจหดตัวอย่างยาวนาน
เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่หลายคนไม่อยากให้เกิด เพราะกินระยะเวลานาน
อย่างกรณี “The Great Depression” ที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 1929 ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดิม
5. แบบ K-Shaped เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การล็อกดาวน์หลายปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโรงแรม เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
บางรายต้องปิดกิจการลง เพราะไปต่อไม่ไหว หรือหลายรายอาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับปกติได้
ขณะเดียวกัน ก็มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กลับได้ประโยชน์จากเรื่องนี้
โดยการฟื้นตัวรูปแบบนี้ จะเป็นการมองภาพที่ละเอียดมากขึ้น เพราะมันจะมีทั้งธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี และธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หรือแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับอักษร K ที่มีทั้งชี้ขึ้น และชี้ลงนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือ บทสรุปของเศรษฐกิจถดถอย และการฟื้นตัว ซึ่งก็น่าจะพอช่วยให้เรามีความเข้าใจ และพอจะเห็นภาพรวมของเศรษฐกิจได้มากขึ้นว่า ณ จุดที่เรายืนอยู่ เรากำลังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจแบบไหน..
1
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งซื้อ ได้ที่
โฆษณา