16 ม.ค. 2023 เวลา 14:29 • สิ่งแวดล้อม

ความสัมพันธ์ระหว่างผึ้งและดอกไม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

สมัยประถมผมเคยเรียนมาว่าความสัมพันธ์ระหว่างผึ้งและดอกไม้เป็นแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (+,+) เพราะดอกไม้ได้ผึ้งมาช่วยผสมเกสรส่วนผึ้งก็ได้น้ำหวานและเกสรเป็นแหล่งอาหาร ฟังดูเป็นความสัมพันธ์ที่สิ่งมีชีวิตช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างน่ารักใจดี
แต่เมื่อโตขึ้นผมจึงเข้าใจว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อน
ลองจินตนาการว่าดอกไม้เป็นแม่ค้าออนไลน์ที่อยากกระจายสินค้าไปตามจังหวัดต่างๆ แล้วให้แมลงเป็นบริษัทขนส่ง แม่ค้าจะได้กำไรเยอะที่สุดเมื่อเธอสามารถกระจายสินค้าออกไปให้ลูกค้าได้เยอะๆ โดยจ่ายเงินให้บริษัทขนส่งน้อยที่สุด ถ้าเขาส่งฟรีคงดีใจน้ำตาไหล ในทางกลับกัน บริษัทขนส่งจะได้กำไรเยอะที่สุดถ้าแม่ค้าจ่ายค่าจ้างให้อย่างงามแต่ตัวเองไม่ต้องเปลืองแรงขนของอะไรเลย เป็นไปได้ว่าแม่ค้าอาจจะทำสัญญารายเดือนกับบริษัทขนส่งเอาไว้ แต่น่าเศร้าที่เดือนนั้นไม่มีลูกค้าสั่งของเลย
ภาพ: KAZEM HUSSEIN (Unsplash)
ในกรณีของแมลงและดอกไม้ ถ้าเลือกได้พืชก็อยากให้แมลงมาขนเกสรให้ฟรีๆ แบบไม่ต้องเสียน้ำหวาน ส่วนแมลงก็ไม่ได้เป็นสัตว์ใจงามอยากช่วยเหลือต้นไม้ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ มันแค่กำลังทำภารกิจหาอาหารให้ได้เยอะๆ ในเวลาที่มีอยู่จำกัดก็แค่นั้นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้และแมลงแบบน่ารักที่เราเห็นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเห็นอกเห็นใจ (altruism) แต่เกิดขึ้นเพราะการแบ่งผลประโยชน์ที่ลงตัว
เมื่อมีต้นทุนที่ต้องจ่าย สิ่งมีชีวิตที่ลดต้นทุนสำเร็จจะได้เปรียบ
ต้นทุนของพืชมีอยู่สองอย่างคือค่าจ้างและค่าโฆษณา
ค่าจ้างแบบที่เข้าใจง่ายที่สุดคือน้ำหวาน น้ำหวานเป็นของที่ต้นทุนสูง พืชบางชนิดต้องยอมเสียน้ำตาลไปหนึ่งในสามเพื่อสร้างมันขึ้นมา พลังงานเสียไปกับการผลิตน้ำหวานสามารถเอาไปลงทุนกับของอย่างอื่นที่จะทำให้การแพร่พันธุ์ดีกว่าเดิมได้ เช่น เอาไปสร้างเมล็ดพันธุ์เยอะๆ หรือทำให้เมล็ดแข็งแรงขึ้น หลายครั้งน้ำหวานที่เหลือใช้จึงถูกดูดกลับเข้าไปในตัวพืช ส่วนค่าโฆษณาที่จ่ายไปก็เกิดเป็นดอกไม้ที่ทำหน้าที่ราวกับป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ มีสีสันโดดเด่นและกลิ่นเย้ายวนใจเพื่อล่อให้แมลงมาร่วมงานกัน
ภาพ: Yao Hu
เมื่อดอกไม้ตัดต้นทุนด้วยการเลิกผลิตน้ำหวานแต่ยังเรียกใช้งานแมลงอยู่ การแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมก็แปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์เรียกว่าอาชญากรรม การต้มตุ๋นแบบพื้นฐานคงเป็นการทำสีและกลิ่นเลียนแบบดอกไม้ที่จ่ายรางวัลแมลงอย่างดี ซึ่งเทียบไม่ติดกับความทุ่มเทระดับรางวัลลูกโลกของกล้วยไม้ที่ล่อลวงแมลงตัวผู้ด้วยเซ็กส์
แล้วสิ่งที่เป็นอาชญากรรมตามมาตรฐานมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร ขนาดดาร์วินยังแทบไม่เชื่อว่าเหล่าแมลงจะโง่เขลาถึงเพียงนี้ เหตุผลคร่าวๆ คงเป็นประมาณนี้
1) การเลียนแบบที่ประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นเมื่อดอกไม้ลวงโลกมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับดอกไม้ดี ถ้ามองไปทางไหนก็มีแต่ดอกไม้ลวงโลก แบรนด์สีและกลิ่นที่ดอกไม้ดีอุตส่าห์ปั้นขึ้นมาก็จะพังพินาศ ดอกไม้ลวงโลกและดอกไม้ดีก็จะตายกันหมด
2) ดอกไม้ลวงโลกเปลี่ยนรูปแบบการหลอกอย่างรวดเร็วจนแมลงหลบหลีกไม่ทัน
แต่ก่อนที่คุณผู้อ่านจะมองดอกไม้เป็นคนเลวไปมากกว่านี้ ผมก็อยากบอกว่าฝั่งแมลงเองก็เอาเรื่องใช่ย่อย แม้ว่าดอกไม้มักจะรังสรรค์โครงสร้างไว้เพื่อให้ตัวแมลงสัมผัสกับตัวเกสรระหว่างทางเข้าหาน้ำหวาน บางครั้งแมลงก็ทำการเจาะขโมยเอาน้ำหวานจากด้านข้างเอาซะดื้อๆ โดยไม่ได้ผ่านทางที่ออกแบบไว้แต่อย่างใด เคสที่ผมมองว่าโหดที่สุดเป็นการที่ผึ้งหึ่งไปรีดไถให้ต้นไม้ออกดอกด้วยการกัดทำลายใบ เพื่อที่รังของตนจะได้มีอาหารอย่างเพียงพอ
เฮ้อ เรื่องของความสัมพันธ์นี่มันไม่ง่ายเอาซะเลย
อ้างอิง
[1] Perkins, J., & Peakall, R. (2022). Floral economies. Current Biology, 32(12), R640-R644.
[2] Pashalidou, F. G., Lambert, H., Peybernes, T., Mescher, M. C., & De Moraes, C. M. (2020). Bumble bees damage plant leaves and accelerate flower production when pollen is scarce. Science, 368(6493), 881-884.
โฆษณา