19 ม.ค. 2023 เวลา 04:11 • ข่าว

ผลการเยือนไทยของรอง ปธน.สหรัฐฯ และ นรม.ออสเตรเลียในห้วงการประชุมเอเปค

การเยือนไทยในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ ของนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งว่า ไทยพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศในทุกภูมิภาคของโลกอย่างแท้จริง
โดยในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทยในครั้งนี้ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ หรือ ‘รองเอิน’ จะมาฉายภาพเกี่ยวกับการเยือนข้างต้นที่ผ่านมา ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในหลากหลายมิติกันค่ะ (รับฟังเพิ่มเติมได้ผ่านรายการบันทึกสถานการณ์ https://www.facebook.com/radiothailandlive/videos/873659680302603/)
รองเอินเล่าว่า เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ ประกอบด้วยการประชุมระดับผู้นำแบบกายภาพ หรือแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ ๔ ปี จึงเป็นการประชุมที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ ท่ามกลางบริบทที่มีความท้าทายมากมาย อย่างเช่น สถานการณ์โควิด - ๑๙ การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เป็นต้น
ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยได้แสดงบทบาทผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อบรรเทาและแก้ไขผลกระทบจากประเด็นท้าทายดังกล่าว โดยผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้นำระดับประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลจาก ๑๔ เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนระดับสูงจาก ๗ เขตเศรษฐกิจ ซึ่งได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมทั้งหมด ๓ ฉบับ ได้แก่
(๑) แถลงการร่วมในระดับรัฐมนตรี (๒) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ และ (๓) เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่จะเป็นการปักหมุด เพื่อให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจฯ มีเป้าหมายร่วมกันที่จะมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เรื่องความร่วมมือและมาตรการเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พบหารือกับนายกรัฐมนตรี (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
ทั้งนี้ รองเอินได้ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ ของผู้แทนระดับสูงจากเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยในส่วนของสหรัฐฯ นอกจากเข้าร่วมการประชุมฯ แล้ว รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเป็นผู้แทนประธานาธิบดีสหรัฐฯ รับมอบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๖ ต่อจากไทย
ในโอกาสที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ก็ได้ชื่นชมภาวะผู้นำของไทยด้วย การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ไทยได้มีโอกาสแสดงถึงศาสตร์และศิลป์ในด้านการเจรจา เพื่อให้ผู้นำทางเศรษฐกิจสามารถมีจุดยืนร่วมกันได้ รวมทั้ง ได้มีการเน้นย้ำและมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งในปี ๒๕๖๖ จะครบรอบ ๑๙๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ
อีกทั้งสหรัฐฯ ยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และเป็นนักลงทุนที่ไทยได้เชิญชวนมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นแหล่งพลังงานแห่งใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมนวัตกรรม ดังที่ทราบกันว่าสหรัฐฯ มีศักยภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และเป็นที่น่ายินดีที่สหรัฐฯ จะสานต่อสิ่งที่ไทยได้ผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปค อย่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
นอกเหนือไปจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ (Mekong – U.S. Partnership) โดยรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะเสนองบประมาณเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคนี้
และในการเยือนไทยครั้งนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะได้เห็นข่าวกิจกรรมอื่น ๆ ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างการเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และการเยี่ยมชมตลาด อ.ต.ก. ด้วย ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยให้ชาวโลกได้รู้จักมากขึ้น ดังนั้น ในภาพรวม จึงถือได้ว่าพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พบหารือกับนายกรัฐมนตรี (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)
สำหรับการเยือนของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นั้น รองเอินเล่าว่า เป็นการเยือนประเทศไทยครั้งแรกของนายแอนโทนี อัลบาเนซี ในฐานะนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และที่สำคัญ ปี ๒๕๖๕ เป็นโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งต่างพร้อมใจกันผลักดันความร่วมมือให้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยผลสำคัญของการเยือนครั้งนี้คือ ไทยและออสเตรเลียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการต่อต้านการมนุษย์ในประเทศไทย และในส่วนของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ออสเตรเลียยินดีที่จะให้การสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาให้การสนับสนุนไทยในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันในกรอบอาเซียนและกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยเช่นกัน
ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยปี ๒๕๖๕ จึงเห็นได้ว่า ไทยได้แสดงถึงภาวะผู้นำทั้งในกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และภาวะผู้นำในการรับแขกจากแต่ละเขตเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันความร่วมมือในระดับความสัมพันธ์พหุภาคีและความสัมพันธ์ทวิภาคีควบคู่กันไป และรักษาพลวัตด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาพรวม ซึ่งในปีนี้ ทีมงาน Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีความยินดีที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวด้านการต่างประเทศของไทยมาให้ท่านผู้อ่านร่วมกันติดตามต่อไปค่ะ
นางสาวพิมพ์ภัทรา ณ กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าวฯ
กรมสารนิเทศ
โฆษณา