Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เธอๆอ่านเรื่องนี้หรือยัง
•
ติดตาม
17 ม.ค. 2023 เวลา 14:13 • การ์ตูน
EP : 1,165
จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา
มันออกจะยากไปซักหน่อยที่ผมจะมารีวิวมังงะเรื่องนี้ว่ามันน่าสนใจแค่ไหน หรือตรงไหน สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน หรือไม่ชอบงานมังงะแนวที่มีเนื้อหาแน่นๆ หรือมีบทพูดที่เยอะและต้องเก็บรายละเอียด ซึ่งผมมองว่าการอ่านเนื้อหาแบบห้ามข้ามคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ เพราะเรื่องที่ผมกำลังจะรีวิวให้อ่านกันอยู่นี้มันคือเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “วิชาจริยปรัชญา”
เอาจริงๆนะครับ ผมอาจจะเป็นคนนึงที่เคยอ่านและรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า “ปรัชญา” มาระดับนึง แต่ระดับที่ว่ามันก็แค่ห่างอึ่ง แต่ก็ยังพอคุณเคยกับ “ปรัชญา” อยู่บ้างพอสมควร แต่ถ้ามีใครมาบอกว่าจะให้อ่านมังงะแนวปรัชญาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมก็คงต้องหาเวลาเหมาะจริงๆถึงจะหยิบมาอ่าน
เพราะในใจก็ต้องคิดแหละว่า มังงะแนวปรัชญาเหรอ มันจะสนุกหรือเข้าใจจริงๆเหรอ และที่มากกว่านั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “จริยปรัชญา” ซึ่งเฉพาะเข้าไปอีก ก็เพราะแบบนั้นนี่แหละครับ ผมถึงบอกว่ามันออกจะยากไปซักหน่อยที่ผมจะมารีวิวเรื่องนี้ให้คนที่ไม่รู้จัก รู้จักและเข้าใจว่าเรื่องนี้ควรอ่านซักแค่ไหน
แต่ถ้าคุณยังพอมีเวลา รบกวนอ่านรีวิวเรื่องนี้ซักหน่อย เพื่อว่ามันอาจจะอยากทำให้ท่านรู้สึกสนใจเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง เพราะเรื่องนี้มันควรค่ากับการอ่านจริงๆ เอาละครับ เข้าเรื่องกันดีกว่า กับรีวิวมังงะแนวจริยปรัชญาเรื่องนี้ใน “จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา” ครับ
.. จริยปรัชญานั้น...เป็นวิชาที่ต่อให้ไม่เรียนก็แทบไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
ไม่ได้เป็นวิชาที่พบเนื้อหาได้บ่อยในชีวิตประจำวันอย่างวิชาภูมิศาสตร์ หรือวิชาประวัติศาสตร์
นำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางอย่างภาษาอังกฤษหรือคณิตศาสตร์ก็ไม่...
ความรู้ที่ทุกคนจะได้จากชั้นเรียนนี้...แทบเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้...
สิ่งที่ผมจะสอนในคลาสเรียนนี้ .. ก็เช่น..
“ศาสนาคืออะไร”
“คนเราควรมีชีวิตเยี่ยงไรกัน”...
“ความสุขคืออะไร”
“อะไรคือเพศสภาพ”
“ชีวิต”.... “คืออะไร”...
..ผมชื่อ “ทาคายานางิ”
จากนี้ไปเป็นเวลาหนึ่งปีขอฝากตัวด้วย.....
ถ้างั้น..มาเริ่มคาบเรียนจริยปรัชญากันเลย....
“จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา” เป็นมังงะแนวดราม่าที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในโรงเรียน ห้องเรียนเป็นหลัก โดยมีตัวละครหลักคือ “นักเรียน” และ “อาจารย์” ครับ
พอพูดมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าภาพจำของพวกเรานักอ่านมังงะ หากพูดถึงมังงะเกี่ยวกับ นักเรียน อาจารย์ แล้วโรงเรียนแล้วละก็ ภาพของ อ.โอนิซึกะใน GTO คงต้องเด้งขึ้นมาทันที จะว่าไปนี่คือเรื่องราวที่สร้างภาพจำของ อาจารย์ นักเรียน และ “ปัญหา” ของเหล่าวัยรุ่นในชุดนักเรียนได้ดีมากๆที่สุดเรื่องนึง
ปฎิเสธไม่ได้ว่าช่วงวัยรุ่นถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของชีวิต เป็นช่วงที่เต็มไปด้วยคำถามที่ทั้งจริงจังและอ่อนยวบไปด้วยกัน เต็มไปด้วยแรงขับทั้งทางกาย หรืออ่อนไหวจากสิ่งเร้ารอบข้างตัวมากที่สุดช่วงนึงเลยทีเดียว ที่สำคัญ ณ เวลานั้น วัยรุ่นทุกคนขาดสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดหรือวิจารณญาณ” ส่วนบุคคลที่ตกตระกอนจากสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์” ก็คงไม่ผิดนัก
วัยรุ่นทุกคนคงไม่ตระหนัก หรือไม่ยอมรับ ช่องว่างที่ใหญ่ซึ่งไม่สามารถถมให้เต็มด้วยการดูหรือฟังหรือคิดเอาเองที่เรียกว่า “ประสบการณ์” ว่ามันใหญ่แค่ไหน นั่นทำให้ช่วงวัยรุ่นเต็มไปด้วยความสับสน เป็นวัยที่จะโตก็อาจพูดไม่ได้เต็มปาก แต่ก็ไม่ใช่เด็กที่จะมาปฎิบัติตามคำพูดของผู้ใหญ่โดยไม่คิดตามว่าต้องทำเพราะอะไร...
มังงะแนวอาจารย์และนักเรียนช่วงปลายยุค 90 (หรือก่อนหน้านั้น) จึงมักนำเสนอเรื่องราวของการปะทะกันทางประสบการณ์ของ อาจารย์และนักเรียน ในเชิงความสนุก ตื่นเต้นเป็นหลัก ก่อนที่จะตบให้วัยรุ่นเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไปนั้นต้องการจะสื่อสารอะไร หรือจะบอกว่านักวาดมังงะมักนำเสนอวิธีการบอก “สาร” ที่อยากสื่อสารในมังงะของตัวเองด้วยความสนุก แฟนตาซี หรือตื่นเต้นเป็นสำคัญ ซึ่งมังงะอย่าง GTO ก็สามารถสื่อสารในวิธีการนี้ได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ถูกใจของนักอ่านทุกคนอย่างไม่ต้องสงสัยครับ
ที่ร่ายยาวมาถึงตรงนี้ก็เพื่อจะบอกว่าเรื่อง “จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา” ที่กำลังรีวิวอยู่นี้ ก็คือเรื่องราวที่ไม่หนีจาก GTO เพียงแต่วิธีการในการนำเสนอตรงกันข้ามอย่างชัดเจนมากๆ เพราะใช้ทั้งตัวละครที่ดูเรียบง่ายเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป กับวิธีที่เรียบง่ายของการสอนและบอกเล่าสิ่งที่ที่ยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป(รวมถึงผมด้วย) อย่าง “จริยปรัชญา” เพื่อบอกให้กับนักเรียนในช่วงวัยรุ่นของเขาได้เข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์อันดีงาม”
เพศ ความต้องการทางด้านร่างกาย การฉุนเฉียว แรงขับที่ไม่อาจปล่อยผ่าน ความโกรธ ความสับสนอันไร้คำตอบที่ตัวเองจะหาด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดๆของการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นในแต่ละคนของเรื่องนี้ คือสิ่งที่เนื้อหาของเรื่องต้องการจะบอกเล่าจากมุมมองที่ผ่านาจาก อ. ที่สอนเรื่องราวเกี่ยวกับจริยปรัชญา
เอาแค่ข้างต้นด้วยองค์ประกอบที่บอกว่า จะเห็นว่ามันแตกต่างจากมังงะที่เกี่ยวกับ อาจารย์และนักเรียนที่เคยอ่านและอยู่ในความทรงจำของเราอย่างมาก ไม่มีอาจารย์ที่เก่ง ฉลาด แข็งแรงหรือมีเบื้องหลังอันน่าตกใจให้ได้เห็น มีแต่ความรู้สึกของมนุษย์และมุมมองของ อาจารย์ที่อ่อนแอ และดูเป็นคนธรรมดาคนนี้เท่านั้นที่จะคอยพูดให้กับลูกศิษย์ในชั้นที่กำลังเจอปัญหาที่เราๆคุ้นเคยจากการอ่านหรือจากการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นที่ผ่านมา
เพราะแบบนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผมมองว่าทั้งเก่าและใหม่ไปในตัว เก่าด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้หนีจากสิ่งที่เรื่องราวแนวนี้ต้องการบอก คือการเเก้ปัญหาให้กับเหล่านักเรียนที่กำลังเจอปัญหาและกำลังสับสน และใหม่ที่วิธีการนำเสนอเลือกใช้ตัวละครในแบบที่ยากต่อการได้รับความนิยม
แต่ทั้งๆที่มีพื้นฐานของความยากต่อการได้รับความนิยม หรือการเข้าถึงและเข้าใจ เรื่องนี้กลับสามารถทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ยากๆ และจำเป็นของเรื่องราวในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี อาจจะเพราะสุดท้ายแล้วเรื่องกำลังเล่าถึงปัญหาที่เด็กวัยรุ่นต้องเจอ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้หนีจากการรับรู้ของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเคยอ่านหรือเคยเจอในชีวิตจริงๆ
ความสนุกของเรื่องนี้ไม่ใช่การได้เห็นอะไรแปลกแหวกแนวของพื้นฐานความเป็นจริงของสถานะทางสังคมที่เรียกว่า นักเรียนและอาจารย์ แต่กลับเป็นการได้เห็นความเป็น “มนุษย์” ในตัวตนของอาจาย์และนักเรียนซึ่งหาได้ทั่วไป
ด้วยการเล่าแบบเนิบๆ ผ่านปัญหาที่ไม่อาจหาคำตอบด้วยตัวเองของนักเรียนในชั้นเรียนพิเศษนี้ เรื่องราวจึงออกมาแบบตอนสองตอนจบไม่ยาวมาก ที่สำคัญเรื่องเน้นให้ อ. ของเราแค่แนะนำสิ่งที่นักเรียนต้องคำนึงถึงให้มากๆในปัญหาที่ตัวเองกำลังเจอ และให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยไม่บังคับหรือกำหนดคำตอบให้พวกเขา เพียงเพราะเป็นคำตอบของคนที่โตกว่าอย่าง อ. เรื่องนี้จึงมีความก่ำกึ่งของความคิดที่ใช่และไม่ใช่ในหลายๆปัญหาที่นำเสนอครับ
เนื้อหาอาจจะดูอึมครึมและดูไม่มีอะไรชวยตื่นเต้นในแง่เหตุการณ์หรือการเล่าเรื่องก็ตาม แต่อยากบอกว่า ลายเส้นก็เช่นกันครับ ไม่ได้มีความสวยงามเป็นสำคัญ ออกจะอึมครึมและเข้าไปกับโทนของเรื่องเป็นอย่างมาก ในสายตาของผมเลยรู้สึกว่าลายเส้นมันเข้ากับ mood & tone ของเรื่องราวในนี้อย่างมาก เข้ากันได้ดีมาก ทำให้อารมณ์เรื่องราวระหว่างเนื้อหาและลายเส้น ไม่ขัดแย้งจนทำให้เกิดความสับสนในการอ่านครับ
“จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา” เรื่องและภาพโดย อ. SHIORI AMASE ในไทยเจ้าของ LC คือ Luckpim เพิ่งออกมาเล่มแรกไม่นานนัก น่าจะยังหาอ่านได้อยู่นะครับตอนนี้
ถ้าถามผมว่าชอบเรื่องนี้ไหม โดยความชอบส่วนตัวผมคงต้องบอกว่า “ชอบมาก” ครับ ชอบทั้งรูปแบบการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแต่สามารถทำให้ผมเข้าใจเนื้อหาที่อิงกับการอธิบายในหลักปรัชญาได้อย่างดี(แม้ไม่ทั้งหมด) ผมมองว่าวิธีการเล่าแบบนี้มันเสี่ยงต่อความนิยมและเข้าถึงคนยากกว่าสายแฟนตาซีที่เน้นความสนุก ถือเป็นการเลือกทางยากในการเล่าเรื่อง
แต่หากจะอยากสร้างความแตกต่าง ทางเลือกแบบนี้นี่แหล่ะเหมาะสมอย่างมาก ซึ่งผมไม่คิดว่าทุกคนที่มาใช้ทางนี้ในการเล่าเรื่องจะทำออกมาได้ดี สนุก และน่าสนใจหรอกนะครับ แต่เรื่องนี้ทำได้ และทำได้ดีมากๆ เป็นเรื่องที่ต้องให้เครดิตกับ อ. SHIORI AMASE อย่างมากที่ทำออกมาได้ถึงขนาดนี้ ส่วนตัวเป็นเรื่องที่จัดให้ “ห้ามพลาด” ด้วยประการทั้งปวงครับ เรื่องปวดหัวของวัยรุ่นชุดนักเรียนในรูปแบบปรัชญาที่สัมผัสเข้าถึงจิตใจคุณได้อย่างดีและไม่สับสนแน่นอนครับ
*** คะแนนที่ให้ไว้นี้สำหรับอ่านเล่ม 1 จบเท่านั้นหากอนาคตได้มีโอกาสอ่านเรื่องนี้จนจบ จะกลับมารีวิวและให้คะแนนใหม่อีกครั้งนะครับ ***
ภาพ 7.5/10
เรื่อง 9/10
ความประทับใจ 9.4/10
#Manga #รีวิวการ์ตูน #ยังไม่จบ #รักพิมพ์ #การ์ตูนแนววัยรุ่น #การ์ตูนแนวอาจารย์ #MangaAnimeReviews #การ์ตูนแนวปรัชญา #9คะแนน #จากนี้ไปจะเป็นคาบวิชาจริยปรัชญา #หนังสือการ์ตูน #Rate15 #LuckPim #การ์ตูนแนวดราม่า #เธอๆอ่านเรื่องนี้หรือยัง
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย