18 ม.ค. 2023 เวลา 05:09 • ท่องเที่ยว

ประวัติการสร้างพระเจดีย์หลวง .. วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ “ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม” สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๕๔) กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้าง
วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ สร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา .. ต่อมามีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ และถือว่าเป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่
ประวัติ
จุลศักราช 289 (พ.ศ. 1874) พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน
มหาเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ .. สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้า แสนเมือง (พ.ศ. 1928-1944) กษัตริย์แห่งนพบุรี ศรีนครพิงค์เชียงใหม่เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระเจ้ากือนา พระราชบิดา ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 .. ต่อมาได้ สร้างเพิ่มเติมให้เป็นมหาเจดีย์สูงใหญ่เสียดฟ้า สูงใหญ่ พอที่จะให้คนที่อยู่ไกลสองพันวาสามารถมองเห็นได้ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคต
พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีได้สืบทอด เจตนารมย์สร้างต่อ โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ
มหาเจดีย์หลวงที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวี ทรงก่อสร้างนั้น ประดับด้วยโขงประตูทั้งสี่ด้าน มี พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้งสี่ด้าน มีรูป พญานาคปั้นเต็มตัวและหัวห้าหัว รูปปั้นราชสีห์สี่ตัว ตั้งอยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์ กล่าวกันว่า รอบ ๆ ฐานพระมหาเจดีย์หลวงนี้ แต่เดิมมีรูปปั้นพญาช้าง 8 เชือก มีชื่อต่าง ๆ กัน คือ เมฆบังวัน ข่มพลเสน ดาบแสนค้ำ หอกแสนคัน กลอนแสนแหล้ง หน้าไม้ แสนเกียง แสนเขื่อนค้าน และไฟแสนเตา
ยามใดมี ข้าศึกมาถึงเมือง เจ้าเมืองและเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ก็จะเขียนชื่อพญาช้างทั้ง 8 เชือกนี้ และพญาช้างเผือกอีก 2 เชือก ที่ประตูหัวเวียง คือ พญาช้างปราบจักรวาล และพญาช้างปราบเมืองมารเมืองยักษ์ พร้อมกับพญา ราชสีห์สองตัวที่อยู่หัวเวียงใส่วอไปบูชาที่ประตูเมือง แจ่งเมือง และที่กลางเมืองทุกแห่ง เชื่อว่าจะสามารถ ป้องกันข้าศึกได้
ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. 1985-2030) ได้โปรดให้ช่างปฏิสังขรณ์ และขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๔ และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๑ นานถึง ๘๐ ปี
ในสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายได้ปิดทอง ภายในซุ้มจรนัมของเจดีย์หลวงทั้งสี่ด้าน
ปี พ.ศ. 2055 ในสมัย พระเจ้าเมืองแก้ว พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม
ได้สร้างหอพระแก้วและอัญเชิญ พระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มจระนำ ด้านทิศ ตะวันออกของเจดีย์หลวงนี้ถึง 79 ปี อีก 1 ปี ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง สร้างมหาวิหารหลวง แล้วอัญเชิญพระอัฏฐารสมาเป็นพระพุทธปฏิมาประธาน เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมริดปางห้ามญาติสูง 18 ศอก พร้อมทั้งพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ สารีบุตร ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1954 โดยพระนางติโลกจุฑาฯ ทรงซ่อมแซมทองจังโกและปิดทององค์มหาเจดีย์
ในสมัยพระนางจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ประมาณ พ.ศ. 2088 ได้เกิดพายุฝนตกหนักแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ จากนั้นได้ถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี
กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง
ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา
พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535
โฆษณา