18 ม.ค. 2023 เวลา 08:51 • ท่องเที่ยว

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (2) .. เสาอินทขิล และต้นยางนา

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (2) .. เสาอินทขิล และต้นยางนา
เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง .. ภายในวัดเจดีย์หลวง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็ก ๆ
“หลักอินทขิล” นี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน มีพระพุทธรูป ปางขอฝน หรือ พระคันธารราษฎร์ ประดิษฐาน ไว้บนเสาอินทขิล อีกด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของปวงชน ให้ตั้งมั่นอยูในศีลธรรมเสมือนเป็นหลัก สำหรับที่พึ่งพิงของจิตใจ
ประวัติของ เสาอินทขิล … ตามตำนานกล่าวเอาไว้ว่า ในยุคหนึ่งบ้านเมืองเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ คนไม่มีศีล ไม่มีสัตย์ เดือดร้อนถึงพระอินทร์จึงได้นำเอาเสาอินทขิลลงมาให้โดยให้กุมภัณฑ์ทั้งสองนำใส่สาแหลกลากมาเอาฝังไว้กลางเมืองเชียงใหม่
เสาอินทขิล หรือเสาสะดือเมือง.. เดิมตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า "สายดือเมือง" อยู่ ณ วัดสะดือเมือง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ แต่วัดนี้ร้าง
เมื่อพระเจ้ากาวิละย้ายออกจากเวียงป่าซางซึ่งอยู่นาน 14 ปี 4 เดือน 20 วันเข้าสู่นครเชียงใหม่ เมื่อเดือน 6 ขึ้น 12ค่ำ ย้ายเข้าวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2339 เพื่อ "สร้างบ้านแปลงเมือง" นำเชียงใหม่สู่ “ยุคเก็บผักใส่ช้าเก็บข้าใส่เมือง” ฟื้นอำนาจเชียงใหม่จนประสบชัยใน พ.ศ.2343 จึงเรียกชื่อเมืองเชียงใหม่ว่า "เมืองรัตตนติงสาภินวปุปรี"
.. ทรงบูรณะเชียงใหม่จึงได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้บริเวณวัดเจดีย์หลวง (โชติการาม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระอารามที่สถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา ใน พ.ศ.๑๙๙๕ .. พร้อมก่อรูปกุมภัณฑ์รูป สุเทวฤษไว้ใกล้หออินทขีล ที่วัดโชติอารามวิหาร
เสาอินทขิลตั้งอยู่ในมณฑปจตุรมุขวิหาร ด้านใต้ .. เป็นเสาที่ก่ออิฐถือปูนและประดับลวดลายสวยงามตรงใจกลาง ใช้เป็นที่วางพานครู และเป็นเครื่องสักการะไหว้ของชาวเมืองตลอดมา
ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง และทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลประจำปี
ในการทำพิธีบรรดาพ่อหมอพฤฒาจารย์ทั้งหลายจะมาสักการะขึ้นครู (สักการครู) สักการะแก่ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ต่ออาฮัก (อารักษ์) เจนบ้านเจนเมืองมีการทรงเจ้า เชิญเจ้านายอาฮัก เจ้าหลวงคำเขียว เจ้าหลวงคำแดงดอยอ่างสลุงเชียงดาว เพื่อทราบถึง ความเป็นไปของบ้านเมืองว่า ฟ้าฝน ข้าวปลา ธัญญาหาร จะขาดแคลนหรือสมบูรณ์เพียงใด
ในส่วนของประชาชน ชาวเชียงใหม่ จำนำข้าวตอกดอกไม้ไปบูชา เรียกว่า พิธีใส่ขันดอกอินทขิลในช่วงวันเวลาดังกล่าว ... นอกจากนี้ยังมีพิธีบูชาพระพุทธรูปฝนแสนห่า และขันบูชาเสาอินทขิลซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อความเป็น สิริมงคลและการอยู่ดีกินดีของประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกผู้ทุกนามสืบไป
ประเพณี การบูชาเสาอินทขิล หรืองานบูชาเสาหลักเมืองเชียงใหม่ และงานใส่ขันดอกไม้บูชาสมโภชเสาหลักเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นประเพณีที่ชาวล้านนาปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน การทำพิธีสักการบูชาเสาหลักเมือง เสาอินทขิล เพราะนอกจากจะเป็นเสาหลักเมืองแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และยังเป็นที่ สักการบูชา ถือว่าเป็นที่รวมของวิญญาณของคนเมืองเหนือ และบรรพบุรุษ
ชาว เชียงใหม่มีความเชื่อว่า เมื่อสักการบูชาเสาอินทขิลแล้ว บ้านเมืองจะพ้นภัยพิบัติและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเป็นประเพณีสักการบูชามาตราบกระทั่งทุกวันนี้
ในช่วงกลางวันและกลางคืนจะมีพิธีใส่ขันดอก ซึ่งเป็นพิธีที่กระทำต่อจากการจุดธูปเทียน บูชาอินทขิลประชาชนนำดอกไม้ ที่ตนเตรียมมา ไปวางในพาน (ขัน) ที่ทางวัดเตรีบยมไว้ให้จนครบ เหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ .. การถวายดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล กุมภัณฑ์ฤาษี และพระรัตนตรัย
วิธีการใส่ขันดอกบูชา ... เมื่อคนเราเกิดมามีสรีระร่างกายครบ 32 เป็นคนดวงดี โชคดีมีบุญบารมี การใส่ขันดอกจะใส่ขันแรก ตั้งแต่ ขันประธานที่มี 12 ขัน รอบบริเวณอีก 12 ขัน
ทั้งหมดนี้บูชาตามอาการของคนคือ 32 ครบถ้วน คนเรามีขวัญ 32 ขวัญ ก็จะได้บูชาอีก แล้วไปบูชาคุณ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมกันเป็น 108 ขัน .. ความหมายคือ บูชาเอาสิ่งดีเป็นสิริมงคลกับตัวเอง เมื่อตัวเองได้แล้วก็ปิติยินดี อยู่เย็นเป็นสุข ครบรอบปีหนึ่งนึกถึงก็อยากจะมาอีก สมัยปู่ย่าตายายของเราแนะนำมาตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า
ดอกไม้ที่นำมาใส่ขันดอก .. ผู้คนจะเก็บดอกไม้ที่เป็นมงคล เช่นดอกเก็ดถวา (ดอกพุทธรักษา) ดอกสบันงา, ดอกมะลิ, ดอกด้าย, ดอกตะล้อม(ดอกบานไม่รู้โรย) ส่วนมากจะเก็บตามบริเวณบ้าน
กลิ่นดอกจะหอม เช่น ดอกพุด, ดอกแก้ว, เป็นไม้มงคลที่คนโบราณใช้ไปวัด .. แต่ปัจจุบันเอาดอกไม้ที่หาง่าย ๆ มาก็ได้
ต้นยางนาชื่อวิทยาศาสตร์ *Diptrocarpus alatus Roxb* .. ยางต้นนี้ปลูกสมัยพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร (2324-2358) สันนิษฐานว่า
1.ปลูกให้เป็นที่หมายเมือง ในปีที่ย้ายจากเวียงป่าซาง มาอยู่เมืองเชียงใหม่อย่างเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2339
2.ปลูกให้เป็นของคู่กันกับเสาอินทขิลตามตำนานที่ย้ายเสาอินทขิลจากวัดสะดือเมืองมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อ พ.ศ. 2343
ขอบคุณ : ข้อความบางส่วนจากนิตยสาร อสท
โฆษณา