19 ม.ค. 2023 เวลา 01:15 • ท่องเที่ยว

พระแก้วมรกต .. การเดินทางจากล้านนา สู่เวียงจันทน์ ก่อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร

พระแก้วมรกต .. การเดินทางจากล้านนา สู่เวียงจันทน์ ก่อนกลับมาที่กรุงเทพมหานคร
วัดเจดีหลวง ตามประวัติพญาแสนเมืองโปรดให้สร้าง ครั้งแรกเป็นเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็กเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา ทว่ายังสร้างไม่เสร็จก็สวรรคตพระมเหสีได้ทรงดูแลให้สร้างต่อจนสำเร็จในสมัยของพญาสามฝั่งแกน มา
ในสมัยพญาติโลกราชจึงโปรดให้หมื่นด้ามพร้าคดเป็นนายกองสร้างเสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น โดยขยายส่วนฐานให้กว้างออกจากเดิม 14 เมตร เป้ฯ 56 เมตร และขยายความสูงจาก 24 เมตร เป็น 95 เมตร เรียกได้ว่าเป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา เรียกกันว่า “กู่หลวง”
พระแก้วมรกต ก็เคยประดิษฐานบนมุขด้านตะวันออกของเจดีย์หลวงแห่งนี้
การเดินทางที่ยาวนานของพระแก้วมรกต
“พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปที่ไม่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาว่า ใครสร้าง และสร้างมาแต่เมื่อใด มีแต่ตำนานและนิทานของทั้งเขมร ลาว ไทย กล่าวไว้หลายทางจนถึงเทวดาเป็นผู้สร้าง
ประวัติของพระแก้วมรกตที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๗๗ เมื่อฟ้าผ่าพระสถูปเก่าแก่องค์หนึ่งที่เมืองเชียงรายทำให้พระสถูปนั้นพังลงมา เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งปิดทองทึบทั้งองค์ซ่อนอยู่ภายใน ก็คิดกันว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นธรรมดา จึงอัญเชิญไปไว้ในวิหารที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย ซึ่งก็คือ “วัดพระแก้วเชียงราย” ในปัจจุบัน
ครั้นต่อมาอีก ๒-๓ เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการเห็นเป็นแก้วสีเขียวงามอยู่ภายใน จึงแกะต่อไปจนคนทั้งปวงได้เห็นเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบหรือหยกเนื้อดีงดงามเหมือนมรกต ทั้งองค์สมบูรณ์ไม่มีบุบสลาย หน้าตักกว้าง ๔๘.๓ ซม. สูงทั้งฐาน ๖๖ ซม. ชาวเชียงรายและเมืองใกล้เคียงต่างแตกตื่นไปนมัสการกันแน่นขนัด เจ้าเมืองเชียงรายจึงใบบอกรายงานไปถึงเมืองเชียงใหม่ผู้ปกครองเชียงราย
พระเจ้าสามฝั่งแถน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้จัดขบวนช้างไปอัญเชิญพระแก้วมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อถึงทางแยกไปเมืองลำปาง ช้างก็จะไปเมืองลำปาง ไม่ยอมไปเชียงใหม่ พระเจ้าสามฝั่งแถนคิดว่าผีที่รักษาองค์พระไม่ยอมไปเชียงใหม่ จึงยอมให้อัญเชิญพระแก้วไปอยู่วัดในลำปาง ซึ่งก็คือ “วัดพระแก้วดอนเต้า” ในปัจจุบัน
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ๓๒ ปี จนถึง พ.ศ.๒๐๓๑ พระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสร้างพระอารามและวิหารถวาย แล้วจะอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานที่พระวิหารที่เป็นปราสาทมียอดสูง แต่ก็สร้างไม่สำเร็จเพราะฟ้าผ่าหลายครั้งจนเลิกล้มความตั้งใจ อัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำ ด้านหลังของพระธาตุเจดีย์หลวง นั้นก็คือ “วัดเจดีย์หลวง” .. พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่ ๘๔ ปี
มาถึงสมัยของเทวีจิระประภา พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาก กู่หลวงได้พังทลายลงมา ส่วนยอดหักเหลือแค่ครึ่งองค์ ครั้งที่เจดีย์หักโค่นลงมานั้น ชาวเชียงใหม่ถือเป็นลางบอกเหตุร้ายที่จะเกิดแก่บ้านเมืองตน ลางนั้นก็คือการเสียเมืองเชียงใหม่ให้กับพม่านั่นเอง
ปรากฏการณ์นี่เกิดในสมัยเทวีจิระประภา ครั้งที่นั่งเมืองรออยู่ 1 ปี บางความคิดถือว่าผู้หญิงเป็นใหญ่ คืออัปมงคลถึงเมือง แต่ที่จริงผู้หญิงล้านนาถืออำนาจลับอยู่เบื้องหลังบัลลังก์มาทุกยุคทุกสมัย จะเท็จจริงอย่างไรไม่กล้าให้ความเห็น เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปีพม่าก็เข้ายึดเมืองเชียงใหม่ไว้ได้
อันที่จริงประวัติของพระเทวีปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จากการประมวลจากตำนาน เกร็ดเรื่องเล่าต่างๆ ประมวลได้ว่า ..
.. พระเทวีฯ เป้นเจ้านายชั้นสูงสายราชวงศ์เม็งราย ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ไม่แน่ชัดว่าเพระเทวีฯ เป็นธิดาหรือชายาของพระเกศเมืองแก้วกันแน่ ด้วยประวัติศาสตร์ไม่ชี้ชัด
.. พระเกศเมืองแก้วถูกปลงพระชนม์โดยขุนนางที่คิดกบฏ แผ่นดินจึงว่างผู้ปกครอง .. ขุนนางเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม และต่อสู้กันเป็นสงครามกลางเมือง เพราะกลุ่มหนึ่งต้องการให้พระชัยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยามาปราบปรามและถวายเมืองเชียงใหม่ให้ อีกกลุ่มหนึ่งต้องการให้เจ้าเชียงตุงมาครอง กลุ่มสุดท้ายต้องการต้องการถวายตำแหน่งให้พระไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง เมืองหลวงพระบาง (เป็นพระญาติกับพระเทวีฯ) ขุนนางฝ่ายที่อยากมอบชียงใหม่ให้กับอยุธยาถูกติหนิติเตียนอย่างรุนแรง เพราะไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของเชียงใหม่
เชียงใหม่ตอนนั้นเป็นรัฐอิสระ ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน ก่อร่างสร้างเมืองมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไฉนจะยอมไปเป็นเมืองบริวารของอยุธยา .. พระชัยราชาได้รับสาส์นจากขุนนางเชียงใหม่ จึงยกทัพมาหมายจะปราบกบฏให้ .. เมื่อเหตูการณ์ผันแปร ขุนนางที่เหลือจึงทำการปราบกบฏได้สำเร็จลุล่วง และอัญเชิญพระมหาเทวีขึ้นนั่งเมือง
ทัพอยุธยามาถึง พบว่าไม่มีกบฏให้ปราบแล้ว .. พระเทวีจิระประภาจึงเสด็จไปต้อนรับพระชัยราชานอกเมือง พร้อมริ้วขบวนหญิงงามทั้งปวง พร้อมแจ้งข่าวว่าไม่มีความวุ่นวายใดๆเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ พระมหาเทวีฯอัญเชิญพระชัยราชาไปประทับพักผ่อนที่เมืองเจ็ดริน บริเวณตีนดอยสุเทพ บำรุงบำเรอจนพระชัยราชาพอพระทัยเปลี่ยนใจไม่ยึดเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้น
พระเทวีฯ ยังโอดครวญถึงชตากรรมที่น่าสงสารของตัวเอง แล้วขอพระราชทานเงินห้าพันบาท พร้อมขอผ้าทรงไว้เป็นที่ระลึกและบูชา .. พระชัยราชาทรงประทานสิ่งของที่ขอให้พระมหาเทวีฯ เพื่อเป็นทุนไปใช้ในการสร้างเจดีย์บรรจุกระดูกของพระเกศเมืองแก้ว แล้วพระชัยราชาจึงยกทัพกลับ โดยคิดว่าเทวีฯอ่อนน้อมมีใจภักดีแก่อยุธยา
พระเทวีฯ มีสาส์นไปอัญเชิญพระญาติจากล้านช้าง คือพระไชยเชษฐา มานั่งเมืองเชียงใหม่แทน .. เมื่อพระชัยราชาทรงทราบก็พิโรธที่ถูกเล่ห์สตรี จึงยกทัพกลับมาเพื่อล้างอายให้หายแค้น แต่เมื่อมาถึงเมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่เกิดรบพุ่งกันขึ้น พระชัยราชาถูกปืน จึงยกทัพกลับเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็มาเสด็จสวรรคตโดยน้ำมือของท้าวศรีสุดจันทน์ในเวลาต่อมา
ที่เชียงใหม่ … พระเทวีฯ อัญเชิญพระไชยเชษฐา (บุตรของพระนางยอดคำทิพ ราชธิดาพระเมืองเกษเกล้า เจ้าเมืองเชียงใหม่ กับพระเจ้าโพธิสาร พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง) มานั่งเมืองเชียงใหม่ในขณะที่มีพระชนม์พรรษาเพียง 14 พรรษาเท่านั้น พระองค์ถูกจับแต่งงานกับสาวงามเชียงใหม่ 2 นาง คือ องค์ดำและองค์ทิพย์
.. ขุนนางเชียงใหม่ไม่ค่อยปลื้มกับพระไชยเชษฐานัก เพราะยังเด็กและเป็นคนพลัดบ้านพลัดเมืองมา พระไชยเชษฐานั้นเล่าก็สุดจะอึดอัดขัดข้อง เพราะขุนนางไม่เชื่อฟัง เลยเบื่อและคิดจะกลับล้านช้างอยู่ตลอดเวลา
ใน พ.ศ.๒๐๙๔ เจ้าไชยเชษฐา ผู้ครองนครเชียงใหม่ .. ครั้นเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ .. พระไชยเชษฐาได้ช่อง เลยขอกลับไปหลวงพระบาง เพื่อปลงศพพระราชบิดา โดยได้ขอยืมพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ไปให้ชาวหลวงพระบางบูชา คือ “พระแก้วมรกต” “พระพุทธสิหิงส์” “พระแก้วขาว” “พระแทรกคำ” .. โดยพระแก้วมรกต ถูกนำออกจากเจดีย์หลวง (วัดเจดีย์หลวงในปัจจุบัน) ขึ้นหลังช้างกลับหลวงพระบางไป เพื่อให้บรรดาญาติได้บูชาสักการะกันในงานทำบุญให้พระบิดาที่วายชนม์ และได้ขึ้นครองราชย์แทนพระบิดา เลยไม่ได้กลับเชียงใหม่
ขุนนางเชียงใหม่เดินทางไปขอพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของตนคืน .. แต่ได้เพียงพระพุทธสิหิงส์ กับพระแก้วขาว กลับมา และมีคำตอบจากล้านช้างว่า จะขอเก็บพระคู่บ้านคู่เมืองเอาไว้ที่หลวงพระบางชั่วคราว เพื่อให้พ้นภัยจากการรุกรานของบุเรงนอง เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติจะเอามาคืนให้
** บางข้อมูลกล่าวเอาไว้ว่า ไม่มีการคืนพระพุทธรูปเลยสักองค์เดียว จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการนำพระแก้วขาวมาถวาย ส่วนพระพุทธสิหิงส์นั้น วังหน้าซึ่งเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 1 ทรงนำกลับมา
พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบาง ๑๒ ปี ใน พ.ศ.๒๑๐๗ ..
*** พระเทวีจิระประภามีบทบาทในช่วงสั้นๆในประวัติศาสตร์ล้านนา แต่เป็นส่วนสำคัญในประวัติของวัดเจดีย์หลวง
บุเรงนองเริ่มแผ่แสนยานุภาพเข้ามายังอาณาจักรใกล้เคียง รวมถึงเมืองหลวงพระบางด้วย .. พระไชยเชษฐาย้ายเมือง หนีภัยพม่าไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เวียงจันทน์ เพราะเมืองหลวงพระบางอยู่ในชัยภูมิที่ล่อแหลมใกล้เพราะติดแม่น้ำโขง ในขณะเดียวกัน เชียงใหม่ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าแล้ว .. และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ โดยสร้าง “หอคำพระแก้ว” เป็นที่ประดิษฐานด้วย
ครั้งนี้พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์ถึง ๒๑๕ ปี ... จนใน พ.ศ.๒๓๒๑ ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพไปตีเมืองล้านช้าง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่กรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้สร้าง “โรงพระแก้ว” ขึ้นที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐาน
ใน พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายพระนครมาอยู่ฟากตะวันออก ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต แล้วเสร็จในเวลา ๒ ปี ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๓๒๗ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดขบวนเรือ แห่พระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำ ภายในพระอุโบสถของพระอารามที่สร้างขึ้นใหม่ พร้อมผูกพัทสีมาในวันนั้น พระราชทานนามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”
ดาราม”
ทั้งยังได้พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระแก้วมรกตว่า
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิดกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาย อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ “
มีความหมายว่า
กรุงเทพมหานคร - พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์ – เป็นที่สถิตของพระแก้วสีเหมือนพระอินทร์ คือสีเขียว
สถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในครั้งนี้ จึงไม่ใช่ “วัดพระแก้ว” หรือ “หอพระแก้ว” อย่างที่ผ่านมา แต่เป็น “เมืองพระแก้ว”
การเดินทางของแก้วมรกตครั้งนี้ เป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย และประดิษฐานอยู่ที่กรุงเทพมหสนคร จบจนถึงปัจจุบัน และจะสถิตคู่มหานครแห่งนี้ไปชั่วนิรันดร
Ref: เนื้อความบางส่วนจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000028271
หากอยากอ่านเรื่องพระแก้วมรกตใน Version แตกต่าง ตาม link ไปค่ะ
โฆษณา