19 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • ธุรกิจ

มหาเศรษฐีเพียง 1% ครองรายได้เกิน 60% ของโลก

รายงานจาก Oxfam ​International ที่พึ่งออกมาไม่กี่วันก่อน ได้ตอกย้ำให้เห็นถึง
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับโลก”
เมื่อในช่วงสองปีที่ผ่านมา อภิมหาเศรษฐี 1% เป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่า 60% ของทั้งโลก
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกผ่านความยากลำบาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีระดับรายได้น้อย
ผู้ได้รับกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด และค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากด้วย…
ความเหลื่อมล้ำของโลกเพิ่มมากสุดตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยในรายงานของ Oxfam แสดงให้เห็นว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งระหว่างอภิมหาเศรษฐี 1% แรก
กับคน 99% ที่เหลือทั้งโลกมีความห่างกันมากขึ้นไปอีก
1
ประมาณการกันว่า สองปีมานี้มีความมั่งคั่งทั้งโลกเพิ่มขึ้น 42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเป็นความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของอภิมหาเศรษฐี 1% ถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นถึง 63% หรือมองง่ายๆ ก็คือประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด
1
ส่วนของคนอีก 99% มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 16 ล้านล้านดอลลาร์
หรือคิดเป็นเพียง 37% หรือก็คือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด
ซึ่งสัดส่วน 63% ของความมั่นคั่งของคน 1% มากยิ่งกว่า ช่วงก่อนหน้านี้
ที่คน 1% จะครอบครองความมั่งคั่งประมาณ 50% (ซึ่งถือว่าสูงมากแล้ว) เสียอีก
แต่ในขณะที่มหาเศรษฐี 1% บนของโลกมีสัดส่วนความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
ในช่วงสองปีที่ผ่านมากับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากกับคนกลุ่มรายได้น้อยสุด
โดยอ้างอิงจากทางธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2020 ซึ่งมีการระบาดของโควิดอย่างหนักเป็นปีแรกในรอบ 25 ปี ที่ตัวเลขของผู้ที่ในกลุ่มยากจนสุดขีด (Extreme Poverty)* เพิ่มมากขึ้นกว่า 70 ล้านคน รวมทั้งโลกเป็น 719 ล้านคน
*กลุ่มยากจนสุดขีด (Extreme Poverty) ตามนิยามของธนาคารโลกหมายถึง คนที่ใช้ชีวิตด้วยเงินต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์ต่อวัน
และยิ่งในปี 2021 ที่ผ่านมา เมื่อโลกเริ่มคลี่คลายจากปัญหาโควิด
ก็ยังมาโดนซ้ำเติมจากปัญหาสงครามในยูเครน
ซึ่งทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังประเมินอีกว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา
เป็นช่วงเวลาที่ความเหลื่อมล้ำของโลกเพิ่มมากขึ้นที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
และก็ยังแสดงความกังวลใจว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นหน้านี้ทั้งหมดนี้
ส่งผลให้เป้าหมายการยกระดับรายได้คนจนสุดขีดทั้งหมดให้สูงขึ้น
จนเกิน 2.15 ดอลลาร์ต่อวันภายในปี 2030 แทบจะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว
โดยจากการประมาณเมื่อตุลาคมปีก่อน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า
จะมีคนสูงถึงเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก ที่จะยังอยู่ในระดับความยากจนสุดขีดในปี 2030
 
การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์จะเป็นส่วนสำคัญในช่วงต่อไป
คุณ Indermit Gill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าวว่า “ในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ การลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษาจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนา”
“แต่ในช่วงเวลาที่สภาวะหนี้ทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงแบบนี้ ประเทศต่างๆ ก็ทำเรื่องนี้ได้ยากเช่นกัน แต่รัฐบาลก็ต้องจัดสรรและมุ่งเน้นทรัพยากรที่มีจำกัดนี้ไปที่การลงทุนในการสร้างคนและอัตราการเติบโตก่อน”
ซึ่งมันก็สอดคล้องไปกับที่ Oxfam International ต้องการให้มีการนำเงินมาลงทุนด้านสุขภาพ และบริการสาธารณะให้กับประชาชนมากขึ้น
พร้อมทั้งเสนอให้มีการเก็บภาษีมหาเศรษฐีโลกมากขึ้น โดยกล่าวว่า
“การเก็บภาษีมหาเศรษฐีโลกเพิ่มขึ้น 5% ก็เพียงพอ
จะช่วยให้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกพ้นจากระดับความยากจน
และทำโครงการหยุดความหิวโหยระยะเวลา 10 ปีได้”
อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนของการจัดการภาษีมีเหตุผลมากกว่านั้นให้พิจารณา โดยมีการศึกษาที่แสดงผลเชิงลบจากการขึ้นอัตราภาษีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่เช่นกัน
อย่างการรวบรวมงานศึกษาของ Taxation Foundation แสดงให้เห็นว่า
อัตราภาษีก็ยังมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่
ถ้ามีการเก็บอัตราภาษีเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นระบบ หรือเก็บจากส่วนที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าส่งผลดีต่อภาพรวมก็ประเทศได้เช่นกัน
และแม้ว่าจะมีเงินทำโครงการมากขึ้น ก็เป็นเพียงต้นทางของโครงการ
เพราะการนำลงไปใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาวกับทุกคนเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายเลย
ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังต้องช่วยกันคิดและออกแบบ
เพื่อสร้างสังคมมนุษย์ที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา