20 ม.ค. 2023 เวลา 03:54 • ข่าวรอบโลก

ไทยร่วมส่งเสริมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

ไทยร่วมส่งเสริมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างในการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” เน้นเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นางสาววรมน สินสุวรรณ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู (รษก. กสญ.ฯ) ได้เข้าร่วมการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่สำคัญที่สุด ประจำปี ๒๕๖๕ โดยมีผู้แทนระดับสูงของมณฑลเสฉวนและกระทรวงการต่างประเทศจีนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน  จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ในโอกาสนี้ รษก. กสญ.ฯ ได้ร่วมกล่าวในพิธีเปิดงานฯ โดยกล่าวว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation: MLC) มีพัฒนาการความร่วมมืออย่างก้าวกระโดดทั้ง ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การเมืองและความมั่นคง (๒) เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ (๓) สังคมและวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC โดยให้เงินทุนสนับสนุนแก่โครงการต่าง ๆ กว่า ๔๐๐ โครงการ
นอกจากนี้ จีนยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ประชาคมโลกเผชิญร่วมกันอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย รษก. กสญ.ฯ ย้ำว่าไทยสนันสนุนให้ MLC เป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งนายหยาง หวงโป รองผู้อำนวยการสภาประชาชนมณฑลเสฉวน กล่าวว่า นับตั้งแต่ประกาศ MLC มณฑลเสฉวนส่งเสริมความร่วมมือหลายสาขากับ ๕ ประเทศลุ่มน้ำโขง (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เช่น การเกษตรสมัยใหม่ การคุ้มครองมรดกโลก การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนเมืองมิตรภาพระหว่างประเทศ การศึกษาและวัฒนธรรม และการประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือระดับท้องถิ่นของมณฑลเสฉวน-นครฉงชิ่ง-ประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาและฟื้นฟูอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสู่ความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
นอกจากนี้ นายหวัง ฝูคัง เอกอัครราชทูต กรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ยังเห็นว่าการที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เป็นข้อได้เปรียบที่จะนำไปสู่กรอบความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งกับกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง มิได้มุ่งสร้างประโยชน์แก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น
นายฉือ จงจุ้น เลขาธิการศูนย์อาเซียน - จีน ยังเห็นว่า ๖ ปีที่ผ่านมา MLC มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ การสนับสนุนทางการเงิน และการร่วมมือเชิงปฏิบัติ ซึ่งจีนได้สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงอาเซียนด้วย และเชื่อว่าประเทศสมาชิกจะสามารถใช้เวทีนี้สร้างฉันทามติ ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความร่วมมือระหว่างกันในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไปได้
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
การประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยได้ส่งเสริมความร่วมมือกับจีนภายใต้ MLC ที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อาทิ การลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ของมณฑลเสฉวนกับมหาวิทยาลัยของไทย ได้แก่ (๑) Sichuan Integrative Medicine Hospital กับวิทยาลัยนครราชสีมา และ (๒) Southwest Medical University กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รวมทั้งการเปิดวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยซีหัวที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอย่างเป็นทางการ หลังจากการลงนามบันทึกการประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาระดับภูมิภาคแม่โขง - ล้านช้าง และการแลกเปลี่ยนนักเรียนและการฝึกอบรมครูระหว่างกัน
ภาพการประชุม “2022 Sichuan/Chongqing – Mekong River Countries Regional Cooperation Forum” ณ เมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน จากเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - จีนภายใต้กรอบ MLC เป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมืออื่น ๆ ที่แสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและใกล้ชิด อาทิ อาทิ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) อาเซียน-จีน รวมไปถึงการขยายความร่วมมือภายใต้ BRICS Plus ที่จีนได้ริเริ่มขึ้น
อีกทั้ง การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ในห้วงการประชุม APEC2022 ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง
โดย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
เรียบเรียงโดย นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา