20 ม.ค. 2023 เวลา 07:10 • ท่องเที่ยว

วัดผาลาด - สกทาคามี .. วัดสวยเชิงดอยสุเทพ

วัดผาลาด - สกทาคามี .. วัดสวยเชิงดอยสุเทพ
“สกทาคามี” (บาลี: Sakadāgāmī; สันสกฤต: Sakṛdāgāmin) หรือ “สกิทาคามี” แปลว่า ผู้จะมาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ 2 ใน 4 ประเภท
“คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี” อธิบายว่าคำว่า "โลกนี้" หมายถึงกามาวจรโลก กล่าวคือ ผู้บรรลุ “สกทาคามี” ในมนุษยโลกแล้วไปเกิดในเทวโลก สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเทวโลกนั้นได้
.. หากไม่ได้อรหัตตผล จะมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน ฝ่ายผู้บรรลุ “สกทาคามี” ในเทวโลกแล้วมาเกิดในมนุษยโลก สามารถบรรลุอรหัตตผลในมนุษยโลกนั้นได้ หากไม่ได้ จะกลับไปเกิดในเทวโลกแล้วบรรลุอรหัตตผลอย่างแน่นอน
วัดผาลาด (Wat Pha Lat) วัดเล็กๆที่ซ่อนตัวอยู่บน “ดอยสุเทพ” ห่างจากบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพขึ้นมาด้านบนประมาณ 5 กิโลเมตร .. เป็นวัดป่า 1 ใน 3 วัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย วัดแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 500 ปี
วัดผาลาดสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีหลักฐานปรากฏให้อ้างอิง ..แต่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ปรากฏขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์ล้านนา รัชกาลที่ 6 ในราชวงศ์มังราย ในช่วงเวลาที่ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยมาสู่เชียงใหม่
จากนั้นพระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน ส่วนแรก ทรงให้อัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก .. ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ณ ที่แห่งนั่น
ช้างที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้น ได้ออกเดินทางจากวัดสวนดอกในตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งตรงไปทางดอยอ้อยช้าง (ชื่อเดิมของดอยสุเทพ) ทิศตะวันตกของเมือง .. พระเจ้ากือนาพร้อมทั้งพญาลิไทจากเมืองสุโขทัย และเหล่าเสนาอำมาตย์ ก็แห่ฆ้อง กลอง ตามหลังช้างไป
ในครั้งนั้น ช้างมีการหยุดพักชั่วระยะหนึ่งใน 3 จุด ก่อนจะเดินขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ และหยุดอยู่ตรงจุดนั้น จึงได้มีการสร้างพระธาตุดอยสุเทพขึ้นเพื่อบรรจุองค์พระบรมสารีริกธาตุ
จุดทั้ง 3 ที่ช้างได้แวะพักนี้ ภายหลังจากสร้างพระธาตุดอยสุเทพแล้วเสร็จ ก็ได้สร้างวัด ณ จุดแวะพักเพื่อเป็นอนุสรณ์ ได้แก่
1. บริเวณสามยอบ (วัดโสดาบัน หรือวัดศรีโสดา อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ)
2. ผาลาด (วัดผาลาด หรือวัดสกทาคามี)
3. ม่อนพญาหงส์ (วัดม่อนพญาหงส์ หรือวัดอนาคามี ต่อมามีการสาบสูญไป และบูรณะขึ้นมาใหม่เป็นพุทธอุทยานอนาคามี)
“วัดผาลาด” .. เดิมเชื่อว่ามีชื่อเรียกว่า “ผะเลิด” เพราะคนที่ดินตามช้างมาตามลำธารน้ำตก แล้วเกิดลื่นหกล้มกันหลายคน บ้างก็ว่าช้างก็ลื่นเหมือนกัน จึงให้เรียกชื่อว่า “วัดผะเลิด” แต่ต่อมาเรียกเป็น “วัดผาลาด” ตามชื่อผาน้ำตก
ว่ากันว่า .. วัดผาลาดนั้นน่าจะมีอายุหลายร้อยปี แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด โดยอนุมานมาจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีอยู่ในวัด และในช่วงหนึ่ง ที่นี่ได้กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้งในราว พ.ศ.2534 ให้มีสถานภาพเป็นวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรม
ประตูทางเข้าสู่พื้นที่ด้านในของวัด
เมื่อเดินช้าๆ ไปเรื่อยๆ ในบริเวณของวัด จะพบกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเงียบสงบ มีความร่มเย็นจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
… สิ่งที่เราชอบมาก คือ เสียงของสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ จากน้ำตกและธารน้ำ ที่ทำให้รู้สึกได้ถึงพลัง ความสงบทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ประติมากรรม อันเป็นส่วนกระกอบของสิ่งก่อสร้างของวัดนี้ .. น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนที่นิยมวัตถุโบราณ และการถ่ายภาพ
.. แต่บางส่วนก็ได้รับการปรับปรุง ก่อสร้างขึ้นใหม่ และตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม และยังได้ยิน
โบราณสถานภายในวัด
ภายในวัดผาลาด มีหลายๆ จุดที่สวยงาม ที่มีทั้งความงามสงบที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางป่าเขา
มีสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง ของสิ่งของประดับประดาต่างๆ ให้เดินชม และรับความสงบสดชื่นจากธรรมชาติรอบๆ ตัว .. รวมถึงยังสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มอบความสงบทางใจให้กับผู้คนอีกด้วย
สิ่งที่ผู้มาเยือนจะได้ชมภายในวัดผาลาด มีอาทิ เช่น ..
พระวิหาร .. สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โดยมีหลวงโยนการวิจิต หรือ พญาตะก่า ชาวพม่า ผู้เป็นลูกศิษย์ของครูบาโสภา (เทิ้ม) วัดแสนฝาง และครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย เป็นแม่งาน ..
หน้าบันของวิหารแกะสลักเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพม่า ส่วนด้านหลังแกะเป็นรูปกระต่าย อันเป็นปีเกิดของครูบาเทิ้ม
เจดีย์ .. องค์เจดีย์เป็นศิลปะสมัยครูบาศรีวิชัยพร้อมกับพระวิหาร แต่สร้างโดยช่างชาวพม่าจึงทำให้ลักษณะของเจดีย์จึงออกมาเป็นศิลปะแบบพม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มี ขโมยแอบขุดเจาะเอาของมีค่าออกไป จนเป็นเหตุให้ยอดเจดีย์พังลงมา องค์เจดีย์กลวงเป็นรูใหญ่ ทั้งสองด้าน
ปี ๒๕๔๕ อาจารย์สุวิทย์ จากศิลปกรได้ขอนุญาตเข้ามาบูรณะให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงขึ้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พระมหาสง่า ธีรสํวโร ได้อาราธนาครูบาปัญญาวชิระ วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง) นำญาติโยมมาช่วยบูรณะต่อเติมจนเต็มองค์ และอาราธนาพระญาณสมโภชมาเป็นประธานทำพิธียกฉัตรในปีเดียวกัน
บ่อน้ำทิพย์ .. สร้างขึ้นร่วมสมัยการอัญเชิญพระธาตุขึ้นประดิษฐานบนดอยสุเทพของพระเจ้ากือนา เพื่อเอาน้ำไว้กิน อาบ เป็นวิธีการกรองน้ำอย่างหนึ่งของคนโบราณ จะได้ไม่ต้องใช้น้ำจากลำห้วยโดยตรง แต่คาดว่า น่าจะมีการสร้างบูรณะขึ้นหลายครั้ง
.. รวมถึงเมื่อครั้งที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ (ดูจากอิฐกี่ปากบ่อน้ำ) และอีกครั้งในสมัยครูบาศรีวิชัย โดยหลวงโยนการวิจิตร (อุปโยคิน) การสร้างมณฑปครอบบ่อน้ำนี้เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในถิ่นชาวไต และทางภาคเหนือของพม่า
หอพระพุทธรูปหน้าผา ... หอพระพุทธรูปแห่งนี้อยุ่ริมหน้าผา ติดลำธารที่ไหลลงสู่น้ำตก เดิมเป็นหอพระพุทธรูปที่สวยงามมาก เป็นวิหารสี่เหลี่ยมตามแนวผ่า ศิลป์พม่าร่วมสมัย หรือล้านนาโคโรเนี่ยล
บันไดทางเข้าไปในถ้ำ ประดับด้วยประติมากรรมรูปสัตว์ที่คล้ายกับ ตัวมกร
มีผู้เล่าว่าสมัยก่อนพระที่อยู่หน้าผาเป็นพระศิลป์แบบเชียงแสน และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งเรียกว่าพระไล่กา
.. ภายหลังมีชาวบ้านขึ้นมาหลบภัยสงครามอยู่ ณ ถ้ำผาลาด จึงพากันสร้างพระพุทธรูปไว้สักการะ และป้องกันภัยสันนิษฐานว่าถ้ำน่าจะอยู่ตรงพระพุทธรูปที่หน้าผา หรือไม่ก็อยู่ทางด้านข้างใกล้ ๆ กับบริเวณหอพระพุทธรูปนี้
วิหารพระเจ้ากือนา .. ปัจจุบันเห็นแต่งเพียงแนวอิฐ อยู่ข้างลำธาร ตรงฐานพระประธาน ได้สร้างศาลาครอบเอาไว้ แต่ยังมองเห็นแนวแท่นพระอยู่
วิหารวัดสามยอบ และม่อนภาวนา .. ปัจจุบันเห็นแต่เพียงเนินดินสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ x ๔๐ เมตร มีอิฐ และลวดลายปูนปั้น ตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ
ด้านหน้าวิหารมีร่องรอยของสระน้ำอยู่ เดิมน่าจะมีทางรินน้ำไหลผ่านมาเข้าที่สระนี้ ซึ่งหากสามารถนำน้ำมาลง ณ ที่นั้นได้จะช่วยให้บริเวณสามยอบ และม่อนภาวนา ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกลับชุมชื่น ต้นไม้ใบหญ้าจะสดชื่นขึ้นอีกมากมาย ทั้งจะสามารถป้องกันปัญหาไฟไหม้ได้อีกด้วย
น้ำตกภายในวัด .. อยู่ริมผา เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลต์ของวัดนี้ ซ.งเหมาะสมมากในการทำจิตให้อยู่ในสมาธิ นั่งเงียบๆ ทำจิตใจให้สงบ แล้วฟังเสียงน้ำตก เสียงนกร้อง และเสียงใบไม้ต้องลมนอกจากจะผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้เรามีสมาธิมาก ๆ
.. ณ จุดนี้ หากมองออกไป จะสามารถมองเห็นวิวเมืองเชียงใหม่ได้ออกไปไกลสุดลูกหูลูกตา
บันไดนาค .. บันไดนาคริมน้ำตก เป็นบันไดเก่าแก่ที่เคยเส้นทางแสวงบุญ สำหรับการเดินขึ้นดอยในสมัยก่อน เส้นทางดังกล่าวเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่า Monk’s Trail นั่นเอง
ลานขนาดย่อม ก่อนลงไปที่ชานพึก และบันไดนาค ซึ่งอยู่ด้านล่าง
ราวบันไดประดับด้วยรูปประติมากรรมลอยตัวของเทวดา
ชานพัก ก่อนลงไประดับที่ตั้งของบันไดนาค .. ในมุมที่มองกลับขึ้นไปด้านบน จะเห็นรูปปั้นสิงห์แบบพม่าทั้งสองด้านของบันไดทางขึ้น
ภาพในระยะใกล้ ของบันไดนาคที่ทอดตัวจากด้านบนลงมา
.. ณ จุดนี้สามารถมองออกไปชมทิวทัศน์ของตัวเมืองเชียงใหม่ได้กว้างไกล
กลุ่มอาคาร ที่คงเป็นกุฏิพระสงฆ์ ..
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัด ยังมีพระพุทธรูป และรูปปั้นของสัตว์หลายชนิด อันเป็นศิลปะในสไตล์ของพม่า กระจายอยู่ทั่วไป
วัดผาลาด .. นับว่าเป็น Hidden Gem ที่ควรค่าต่อการไปเยือนอย่างยิ่งค่ะ
โฆษณา