20 ม.ค. 2023 เวลา 09:43 • กีฬา

ประสบการณ์เชียร์ทีมชาติเม็กซิโก ที่ Estadio Azteca

พูดถึงแถบลาตินอเมริกา คงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลของคนแถบนี้ และความจัดจ้านในฝีเท้าที่ทำให้นักเตะลาตินที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เม็กซิโกก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ารอบฟุตบอลโลกทุกปี (ตั้งแต่ปี 1994) และการเข้าไปชมฟุตบอลในสนามถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ห้ามพลาดเมื่อได้เดินทางมายังเม็กซิโก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับทีมชาติ หรือการแข่งขันระดับลีกในประเทศ
#DLAUnit จะขอประเดิมดินแดน Blockdit ด้วยการชวนผู้อ่านตาม "คุณปรีชญา สินประเสริฐ" จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ไปขึ้นอัฒจันทร์ในสนามฟุตบอลประจำชาติ “Estadio Azteca” ทางใต้ของกรุงเม็กซิโก เพื่อเกาะติดบรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกาตาร์ 2022 ที่ผ่านมา และฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับความหลงใหลในฟุตบอลสไตล์ชาวเม็กซิกันที่มีสีสันและเกร็ดน่ารู้มากมาย
การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกาตาร์ 2022 ณ สนาม “Estadio Azteca” เป็นเกมระหว่างเม็กซิโก-แคนาดา และเม็กซิโก-ฮอนดูรัส ถือเป็นการจัดแข่งฟุตบอลทีมชาติครั้งแรกตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยมีข้อจำกัดขายตั๋วได้ร้อยละ 75 ของความจุปกติ และไม่ขายที่นั่งติดกันเกิน 4 ที่นั่ง ทั้งสองเกมมีแฟนบอลเข้าไปดูในสนามเกมละประมาณ 40,000 คน จากความจุสนามทั้งหมดกว่า 81,000 ที่นั่ง ซึ่งสนาม Estadio Azteca เคยเป็นเจ้าภาพจัดรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในปี 1970 และ 1986 มาแล้ว
บรรยากาศในสนาม “Estadio Azteca” สนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเม็กซิโกและในภูมิภาคลาตินอเมริกา เคยเป็นที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกมาแล้วถึง 19 นัด
ทีมชาติเม็กซิโกมีชื่อเล่นว่า “El Tri” (เอล ตรี) มาจาก “El Tricolor” หมายถึง สามสีบนธงชาติเม็กซิโก (เขียว-ขาว-แดง) ซึ่งถือเป็นสีประจำชาติไปโดยปริยาย โดยมีกัปตันทีมคือ Guillermo Ochoa ผู้รักษาประตูที่มีทรงผมโดดเด่น และมีดาวเด่น อาทิ Raúl Jiménez ซึ่งเล่นให้สโมสร Wolverhampton Wanderers ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ Hirving ‘Chucky’ Lozano สังกัดสโมสร Napoli ในอิตาลี และ Jesús Corona สังกัดสโมสร Porto ในโปรตุเกส ส่วน Chicharito หรือ Javier Hernández ที่คนไทยรู้จักกันดี ไม่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมทีมชาติชุดนี้
บรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลในสนามของชาวเม็กซิกันนั้นเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานตื่นเต้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนใส่เสื้อฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโกในแบบต่าง ๆ โดยหากไม่ได้เตรียมไปจากที่บ้านก็สามารถไปหาซื้อก่อนเข้าสนามได้ พร้อมของที่ระลึกละลานตา โดยความตื่นเต้นเริ่มขึ้นตั้งแต่นักฟุตบอลลงมาวอร์มอัพในสนาม จากนั้นเสียงเชียร์ดังขึ้นเมื่อมีการแนะนำนักเตะทั้งสองทีม และฮึกเหิมขั้นสุดเมื่อเพลงชาติเม็กซิโกดังขึ้น
แฟนบอลเม็กซิโกพร้อมใจร้องเพลงชาติกระหึ่มไปทั้งสนาม สร้างกำลังใจให้นักเตะของตนอย่างเต็มที่ คาดว่าแฟนบอลทั้งหลายอัดอั้นอยากเชียร์ฟุตบอลในสนามมาพอสมควร และทีมนักเตะก็คิดถึงบรรยากาศเหล่านี้ พร้อมเกิดความกดดันในการเล่นในบ้านตัวเองอีกด้วย
บรรยากาศการชม-เชียร์ฟุตบอลในสนามของแฟนบอลเม็กซิโก
นักเตะบางคนจะมีเพลงเชียร์เป็นของตัวเอง อย่าง Raúl หรือ El Chucky Lozano ซึ่งทั้งสนามจะปรบมือเข้าจังหวะและร้องพร้อมกันเมื่อนักเตะคนนั้นได้ครองบอล และอีกเอกลักษณ์หนึ่งของเกมฟุตบอลแถบนี้ คือเมื่อมีการทำประตูเกิดขึ้น คนพากย์จะตะโกนคำว่า GOOOOOOOOOOL! (Goal) จนสุดลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นในสนามหรือในโทรทัศน์ เคยได้ยินว่ามีการทดสอบคัดเลือกคนพากย์ฟุตบอลด้วยการแข่งตะโกนคำว่า GOL ให้นานที่สุดด้วย
ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ชมฟุตบอลในยุโรปอาจจะพอเข้าใจว่าการชมฟุตบอลในสนามนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคำสบถของแฟนบอล ซึ่งมีระดับความรุนแรงตามความตื่นเต้นของเกม แน่นอนว่าแฟนบอลเม็กซิโกก็มีวัฒนธรรมการแสดงความรัก (?) ต่อนักฟุตบอล รวมถึงกรรมการตัดสินในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่ทั้งสนามสบถออกมาเป็นท่วงทำนองพร้อมกัน เมื่อกรรมการตัดสินไม่ถูกใจ หรือจังหวะเปลี่ยนตัวนักเตะ ทั้งสนามจะผิวปาก 5 ครั้งเป็นประโยคด่าบุพการี (เป็นประโยคเดียวกับการบีบแตรรถ 5 ครั้ง ซึ่งชาวเม็กซิกันใช้แสดงความไม่พอใจบนท้องถนนเช่นกัน)
บรรยากาศการชม-เชียร์ฟุตบอลในสนามของแฟนบอลเม็กซิโก
อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดูบอลคือ "เบียร์" ซึ่งชาวเม็กซิกันมีวิธีดื่มเบียร์เฉพาะตัว อาทิ ดื่มเบียร์ในแก้วปาดน้ำหวานที่เรียกว่า “chamoy” (น้ำตาลเคี่ยวผสมพริกเกลือ) หรือเบียร์ผสมน้ำมะนาว หรือน้ำมะเขือเทศ ที่เรียกว่า “michelada” ซึ่งในสนามบอลก็จะมีเบียร์มาเสิร์ฟถึงที่นั่ง และเมื่อมีการทำประตูหรือจบเกมก็จะมีการสาดเบียร์เกิดขึ้น คนนั่งอัฒจรรย์ด้านล่างก็ต้องทำใจ เตรียมหลบกันให้ดี
เบียร์ในแก้วปาดน้ำหวานที่เรียกว่า “chamoy” เครื่องดื่มคู่ใจแฟนบอล
ในอดีต เมื่อผู้รักษาประตูฝั่งตรงข้ามซอยเท้าเตะฟุตบอลจากหน้าประตู แฟนบอลเม็กซิโกจะตะโกนคำหยาบคายที่มีนัยเหยียดเพศทางเลือก (ความหมายตรงตัวคือโสเภณีชาย) ซึ่งกลายเป็นความเคยชินของแฟนบอลเม็กซิโกไปแล้ว ทั้งในเกมระดับทีมชาติหรือเกมลีกในประเทศ
แต่ต่อมา การกระทำนี้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาในช่วงฟุตบอลโลก 2014 ที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเพศทางเลือกออกมาประณามการกระทำดังกล่าว เนื่องจากมีนัยเหยียดเพศทางเลือก ทำให้ต่อมา FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) ออกกฎห้ามแฟนบอลเม็กซิโกตะโกนคำดังกล่าว โดยทีมชาติเม็กซิโกเคยถูกปรับจากเหตุดังกล่าวไปแล้วในปี 2017 และถูกลงโทษห้ามแฟนบอลเข้าสนามไปแล้ว 2 นัดในช่วงปีนี้ และโทษสูงสุดคือการถูกปรับแพ้ได้ในอนาคต
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทีมชาติเม็กซิโกออกแคมเปญรณรงค์ให้แฟนบอลตะโกนคำว่า "เม็กซิโก" แทน โดยก่อนเริ่มเกม มีการฉายสปอตโฆษณาและกัปตันทีมออกมากล่าวขอความร่วมมือแฟนบอลงดใช้คำเหยียดเพศดังกล่าว นอกจากนี้ ระหว่างเกม เมื่อถึงจังหวะที่คาดว่าแฟนบอลจะตะโกน คนพากย์จะตะโกนคำว่าเม็กซิโกให้กลบเสียงแฟนบอลอีกด้วย
ซึ่งในเกมเม็กซิโก-แคนาดา มีแฟนบอลบางส่วนยังตะโกนแบบเดิมอยู่ ทำให้มีการสั่งหยุดเกมประมาณ 5 นาทีเพื่อเตือนแฟนบอลไม่ให้ทำอีก โดยปัจจุบันมีการแบนคำดังกล่าวถูกนำไปใช้กับลีกภายในประเทศด้วย ซึ่งแฟนบอลเม็กซิโกต้องค่อย ๆ ปรับตัวเนื่องจากเป็นความเคยชินที่ทำมานาน และการแบนเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
บรรยากาศการชม-เชียร์ฟุตบอลในสนามของแฟนบอลเม็กซิโก
ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเม็กซิโกและทั่วลาตินอเมริกาไปแล้ว กล่าวได้ว่าเด็กผู้ชายในลาตินอเมริกาแทบจะไม่มีใครไม่เคยเตะฟุตบอลหรือไม่ชอบฟุตบอล และประสบการณ์ดูฟุตบอลในสนามกับแฟนบอลเม็กซิโกเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเมื่อได้มาเยือนเม็กซิโกจริง ๆ และคาดว่าการแข่งขันระหว่างทีมในประเทศน่าจะเข้มข้นกว่าการแข่งขันระดับทีมชาติ เพราะแฟนบอลน่าจะมีอารมณ์ร่วมมากกว่า ไว้ถ้าโอกาสหน้าได้ไปดูเกมระดับท้องถิ่น เราจะเอาบรรยากาศมาฝากผู้อ่านอีกแน่นอน
#ReadDLA #DiscoverLatinAmerica #DLA #AspaWatch
โฆษณา