21 ม.ค. 2023 เวลา 06:54 • ท่องเที่ยว

วัดหลวงขุนวิน .. วัดสวยกลางป่า Unseen เชียงใหม่

วัดหลวงขุนวิน .. วัดสวยกลางป่า Unseen เชียงใหม่
“วัดหลวงขุนวิน” เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติและการสร้าง “วัดหลวงขุนวิน” ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนนัก .. ด้วยเหตุที่มีการสร้างมาหลายยุคหลายสมัย มีทั้งยุครุ่งเรืองและบางสมัยเป็นวัดร้าง
1
ตำนานเล่าขนาสืบต่อกันมาว่า พระพุทธองค์ทรงเสด็จมายังบริเวณที่ตั้งของ “วัดหลวงขุนวิน” ปัจจุบัน …
ชาวลัวะ 2 คน คือ ขุนสาบและขุนสระเมิง มีจิตเลื่อมใส ได้กราบทูลขอพระเกศาธาตุ
.. พระพุทธองค์ทรงประทานให้ มีการสร้างเจดีย์ครอบไว้บนยอดเตี้ย ๆ เรียกว่า “พระธาตุม่อนเปี้ยะ” จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาทางทิศที่จะมาเพื่อประทับรอยพระบาท ประทับบนหินก้อนหนึ่งกว้างประมาณ 1 ศอก ยาว 2 ศอก .. แต่เนื่องจากหินก้อนมีขนาดเล็ก จึงปรากฏเฉพาะรอยฝ่าพระบาทเท่านั้น ส่วนส้นและนิ้วพระบาทหายไป
1
.. พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ว่า พระพุทธบาทนี้ไม่เต็มรอยเพราะแหว่งไป (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า หวิดไป) จึงเรียกเมืองแถวนี้ว่า “เมืองหวิด” ต่อมาเรียกว่า “เมืองวิน”
... ต่อมาวัดก็ตกอยู่ในสภาพรุ่งเรืองบ้าง เสื่อมบ้างไปตามกาลสมัย
ราวปี พ.ศ. 1760 สมัย “เจ้าหมื่นคำชาว” ฐานะเป็นน้องของขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ทำนุบำรุงวัดหลวงขุนวินได้เจริญขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีครูบาปัญญาวงศา เป็นเจ้าอาวาส
มาจนถึงปี พ.ศ. 1800 พม่าตีเมืองเชียงใหม่แตก วัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างเกือบ 700 ปี
มาถึงปี พ.ศ. 2497 “ครูบาอุ่นเรือน สุภทฺโท” วัดควรนิมิตร ได้บูรณะวัดอีกครั้งหนึ่ง .. สร้างเสร็จได้นิมนต์ “ครูบาอภิชัย ขาวปี” มาเป็นประธานร่วมฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2501
“วัดหลวงขุนวิน” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
การเดินทางไปยัง วัดหลวงขุนวิน ต้องผ่านถนนแคบๆที่ไม่ราบเรียบ ... ถนนคอนกรีตหยาบบางๆ มีให้เห็นเป็นบางช่วง และหลายช่วงเป็นลูกรังดินแดง ที่ตัดผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ มีป่าโปร่งตลอดแนวสองข้างทาง เป็นระยะทางราว 11 กิโลเมตร ..
.. คำแนะนำที่เราได้รับมา คือ ควรใช้บริการรถสองแถวขับเคลื่อนสี่ล้อของสมาชิกชมรมการท่องเที่ยวบ้านสบวิน ณ ปากทางเข้า ด้วยเหตุที่คนในพื้นที่จะคุ้นเคยเส้นทางมากกว่าเรา
รถสองแถว นำเราไต่ความสูงขึ้นมา .. สโลปความสูงของภูเขา และความคดโค้งของเส้นทาง รวมถึงฝุ่นจากถนนลูกรังแคบๆ ดูเหมือนว่าจะทำให้การควบคุมพาหนะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เราอดคิดไม่ได้ว่า ผู้คนที่ดั้นด้นขึ้นมาที่วัดนี้ ต้องมีความศณัทธาอย่างสูงเลยทีเดียว
หลังจากเดินทางกว่า 1 ชั่วโมง .. เรามาถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ต้องขอบคุณโชเฟอร์คนเก่งของเรา ที่มีความระมัดระวังอย่างสูง
“วัดหลวงขุนวิน” .. ต้องเรียกว่า ตั้งอยู่กลางป่า
ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของวิหารไม้ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ที่ว่ากันว่า เป็นสถานที่เก่าแก่
ด้านในวิหาร มีพระพุทธรูป 1 องค์ เป็นพระประธานของวิหาร
ด้านข้างเป็นระเบียงไม้ยาวเหมือนระเบียงคด .. สถาปัตยกรรมแบบล้านนาเช่นเดียวกัน
เจดีย์ด้านหลังวิหาร .. ตามตำนานเล่าว่า เป็นสถานที่ บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราเดินขึ้นมาตามเนินบันไดที่ขนาบด้วยต้นดวงจำปา ซึ่งอยู่ถัดจากที่ตั้งของ พระเจดีย์ .. รอบๆพื้นที่มีต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปี หรืออาจจะเป็นร้อยๆ ปี แผ่กิ่งก้านสร้างบรรยากาศสงบ ร่มรื่น ร่มเย็นทั่วทั้งบริเวณ
สภาพภูมิประเทศ ที่เป็นป่าเขา สภาพแวดล้อมจึงเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิด ราวกับว่าถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติอันสดชื่นเขียวขจีจากทุกด้าน บรรยากาศนิ่งสงบ วิเวก หลีกเร้นจากจากความวุ่นวายจากภายนอก
พอพ้นเนินขึ้นมา สิงที่ปรากฏในสายตาทำให้เราทึ่งมากมาย .. “บันไดนาค” และ “บันไดมกร” สองบันได ที่วิจิตรอลังการด้วยงานปูนปั้นที่มีรายละเอียดเยอะมาก
.. บันไดด้านซายมือของเรา เป็นบันไดนาค ขนาดใหญ่ .. การออกแบบงานปูนปั้นแสดงออกถึงงานศิลปะแบบไทยทางเหนืออย่างชัดเจน บันไดนี้เป็นทางออก ที่จะนำเราลงไปด้านล่าง
เราเดินขึ้นไปตามบันไดนาคที่อยู่ทางด้านขวามือ ซึ่งมีขนาดเล็กว่าอันแรก แตไม่ด้อยกว่ากันในเชิงฝีมือช่างที่วิจิตร
เน้นรายละเอียดที่ประณีตโดดเด่น
รายชะเอียดงานช่าง ของการสร้างบันได
.. ขั้นบันได คล้ายเกล็ดของพญานาค เมื่อมีมอสขึ้นเกาะตามที่ต่างๆจากความชื้นของสภาพอากาศที่แวดล้อม ยิ่งทำให้ดูเปี่ยมเสน่ห์ เต็มไปด้วยมนต์ขลังอย่างน่าประหลาดใจ
ซุ้มที่เห็นไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรกันแน่ แต่เห็นอยู่หลายอัน .. หากจะให้เดา ก็ขอเดาว่า น่าจะเป็นซุ้มของเสมา ที่กำหนดและบอกขอบเขตของพระอุโบสถ
ประติมากรรมหลายๆชิ้น ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงพลังศรัทธา ผ่านงานศิลป์อันวิจิตรงดงาม
อุโบสถของ “วัดหลวงขุนวิน” มีสองหลัง คือ อุโบสถพระนอน (ปางปรินิพพาน) และ อุโบสถพระยืน (ปางจงกรมแก้ว) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักทั้งสององค์
พระอุโบสถพระนอน .. สถาปัตยกรรมแบบล้านนา สร้างจากไม้ทั้งหลัง หลังคาคลุมด้วยเกร็ดไม้เช่นกัน ลักษณะหลังคาเอนลาด ยกเก็จซ้อนชั้นหลังคาลดหลั่นกัน 3 ชั้น
เป็นงานศิลป์แบบล้านนาที่สวยมาก ..
สะกดสายตาให้ตื่นตลึง คือ หางนาคเกี้ยวกระหวัดเป็นยอดกลางซุ้ม
ประติมากรรมปูนปั้นรูปนาคตัวเล็กตัวใหญ่ที่เลื้อยล้อมรอบด้านนอกพระอุโบสถโดดเด่นมาก อ่อนช้อยเหมือนมีชีวิต และสวยมาก
ความเชื่อของชาวไทยเกี่ยวกับพญานาค โดยส่วนใหญ่จะเชื่อว่า พญานาคเป็นสัตว์กึ่งเทพ มีอิทธิฤทธิ์ ศักดานุภาพ สามารถเนรมิตร่างกายเป็นมนุษย์ชายและหญิงได้
ทั้งยังมีความเชื่อว่าพญานาคนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่ง สายน้ำเป็นผู้พิทักษ์รักษาและเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ในด้านการสร้างความสามัคคีปรองดอง สงบ สันติ สุขในสังคม นอกจากน้ันพญานาคมีอิทธิพลในด้านต่างๆ (จิตรกร เอมพันธุ์, 2545)
ด้านศิลปกรรม อิทธิพล ความเชื่อเรื่องพญานาคกับงานศิลปกรรมจะมีปรากฏโดยทั่วไป โดยมีความเชื่อว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์ของความ มีพลังอ้านาจที่ยิ่งใหญ่ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นน้ันๆ เมื่อพบเห็นแล้วท้าให้จิตใจสงบร่มเย็น
ด้วยเหตุ ดังกล่าว ได้เกิดการถ่ายทอดจากความเชื่อเข้าสู่งานศิลปกรรมไทยในแขนงต่างๆ เช่น … สถาปัตยกรรม พญานาคเป็น ส่วนประกอบท่ีสำคัญ มีคตินิยมที่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ท้าให้ผู้พบเห็นได้รู้สึกสงบร่มเย็นท้าให้เกิด ความสุข (วิษณุ ยะโสภา, 2560)
นอกจากนี้ยังมีการตีความทางพระพุทธศาสนาว่า รูปปั้นพญานาคท่ีบันไดพระ อุโบสถ เหมือนทำหน้าที่เป็นพาหนะข้ามทะเลแห่งวัฏสงสาร และเทินพระวิหารเปรียบเสมือนเรือส้าเภาทองที่จะนำมนุษย์ข้ามพ้นวัฎสงสารไปได้ (วิเชียร นามการ, 2554)
พระพุทธรูปไม้ปางไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปประธานของพระอุโบสถแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงกลางของอาคาร ..
ด้านหลังมีไม้แกะสลักลวดลลายละเอียดประดับ เพื่อให้พุทธศาสนิกได้เข้ามาสักการะ
ผนังด้านใน .. มีงานศิลป์ให้ได้ชมอยู่แทบทุกตารางนิ้ว
รวมถึงรูปเทพหรือเทวดา แกะด้วยไม้ หลายองค์ประดับอยู่
ไม้แกะสบักรูปพญานาค ภายในพระอุโบสถ .. งดงาม
หน้าจั่วบนทับหลังประตูทางเข้า พระอุโบสถพระนอน
พระอุโบสถ “อุโบสถพระยืน” (ปางจงกรมแก้ว) .. ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถพระนอน
พระพุทธเมตตาลีลารัตนจงกรม .. ว่ากันว่า แม้วัดนี้จะอยู่กลางป่า ห่างไกลจากแหล่งชุมชน แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วย พลังศรัทธาจากชาวบ้าน และพุทธศาสนิกชน ที่คอยช่วยกัน ทำนุบำรุงสถานที่แห่งนี้ อยู่เสมอมา ..ด้วยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีจิตศรัทธาทุกคน พระพุทธรูปองค์นี้จึงถูกนำมาแกะสลักจากต้นจำปี ซึ่งไม้ต้นเดียว
.. จนเป็นพระพุทธรูปปางจงกลมแก้ว สูง 9 เมตร ฐานกว้าง 2 เมตร ที่เป็นความน่าอัศจรรย์ ของการสรรสร้างงานพุทธศิลป์อันล้ำค่าชิ้นนี้ .. และได้รับพระราชทานนามอันเป็นมงคล จากสมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช
เดินชม และถ่ายภาพมามากมาย .. ถึงช่วงเย็นเราลาจากวัดสวยแห่งนี้ด้วยการเดินลงมาตามบันไดนาค และอดไม่ได้ที่จะกดชัตเตอร์ซ้ำๆเก็บความวิจิตรของงานปูนปั้นสวยๆเพิ่มเติม โดยไม่เบื่อ
“วัดหลวงขุนวิน” .. เป็นวัดเก่าเก่าแก่ อายุราว 700 ปี ที่มีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดามากๆ แม้จะเป็นวัดที่เข้าถึงไม่ง่ายนัก แต่เป็นหนึ่งในวัดที่นอกจากจะสวยมาก ที่เกิดจากความศรัทธา ความวิจิตรของงานศิลป์ ความร่มรื่นจากธรรมชาติ ของเชียงใหม่แล้ว .. ยังเป็นวัดที่อยู่กลางป่าเขา มีความความเงียบสงบมาก สัมผัสได้กับธรรมชาติบริสุทธิ์ที่อยู่รอบตัว เป็น Unseen Destination ที่ควรมาเยือนสักครั้ง เมื่อมีโอกาส
Ref : เนื้อความส่วนหนึ่งจาก Wikipedia
โฆษณา