25 ม.ค. 2023 เวลา 15:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Platonic Solid

จักรวาลที่ปราศจากอะตอม
1
บนโลกที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากในปัจจุบัน หลายๆข้อเท็จจริงพื้นฐานอาจดูพื้นๆจนเราอาจไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมัน ทั้งที่จริงๆแล้ว ข้อเท็จจริงพื้นฐานหลายอย่างตั้งตระหง่านอยู่บนซากปรักหักพังของทฤษฎีและความเชื่อเก่าแก่มากมายนับไม่ถ้วน
หนึ่งในคำถามที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ คือ เอกภพถูกสร้างขึ้นจากอะไร?
ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ อันเป็นช่วงเวลาที่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนยังไม่เกิดขึ้น นักคิดจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งพื้นฐานที่สุดของเอกภพ คือ ธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยรายละเอียดและคุณสมบัติของธาตุเหล่านี้แตกต่างไปตามสำนัก อีกทั้งยังมีการปรับแต่งเพิ่มเติมธาตุพื้นฐานอื่นๆให้เข้ากับแนวคิดของสำนักด้วย
ธาตุทั้งสี่
นักคิดผู้ยิ่งใหญ่อย่างอาริสโตเติล มีการเพิ่มธาตุอีเธอร์ (Aether) ซึ่งเป็นธาตุแห่งสวรรค์เข้าไปเป็นธาตุที่ห้า ส่วนความเชื่อเก่าแก่ของฮินดูมีการเพิ่มธาตุสุญญะ (śūnya) ซึ่งเป็นธาตุแห่งความว่างเปล่าเข้าไป
อีกหนึ่งแนวคิดที่พยายามอธิบายธาตุพื้นฐานของเอกภพวางอยู่บนรูปทรงเรขาคณิตที่เรียกว่า ทรงตันเพลโต (Platonic solid) ที่สร้างขึ้นจากแผ่นเรขาคณิตสองมิติ โดยรูปร่างสองมิติต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- แต่ละแผ่นต้องมีความยาวด้านและมุมเท่ากัน และมีลักษณะเหมือนกัน
- เมื่อนำมาประกอบเป็นทรงตัน แต่ละแผ่นจะชนกันที่ขอบ โดยไม่มีการเหลื่อมกัน
- แต่ละมุมของทรงตัน จะมีจำนวนแผ่นมาชนกันตรงมุมเท่ากันทุกมุม
นักคณิตศาสตร์พบว่ารูปทรงที่ตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้มีเพียง 5 แบบเท่านั้น นั่นคือ
1.tetrahedron
2.ลูกบาศก์ (cube)
3.octahedron
4.dodecahedron
5.icosahedron
สำหรับนักปรัชญาอย่างเพลโตผู้มีชีวิตในช่วง 400 กว่าปีก่อนคริสตกาล มองว่าทรงตันเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงรูปทรงที่สวยงามหรือมีความน่าสนใจทางคณิตศาสตร์เท่านั้น ในสมัยนั้น คณิตศาสตร์ถูกหลอมรวมเข้ากับความเชื่อทางจิตวิญญาณและคำอธิบายธรรมชาติ เพลโตเชื่อว่าการมีอยู่ของทรงตันทั้ง 5 แบบนั้น สอดคล้องกับการมีอยู่ของธาตุพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นทุกสรรพสิ่ง
แน่นอนว่ามันเป็นความเชื่อที่ไม่ได้มีการสังเกตอย่างลึกซึ้งมารองรับ พูดง่ายๆว่ามันเป็นความเชื่อแฟนตาซีที่ดูแล้วยิ่งใหญ่ แต่ไม่ได้มีความเป็นวิทยาศาสตร์
แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 17 นักดาราศาสตร์ โยฮันเนส เคปเลอร์ ยังมีการนำทรงตันเพลโตมาวางซ้อนไว้ระหว่างวงโคจรของดาวเคราะห์เพื่อมองหาความสัมพันธ์สอดประสานระหว่างวงโคจรเหล่านั้น เคปเลอร์เชื่อไปไกลจนถึงขั้นว่าพระเจ้าสร้างเอกภพขึ้นมาโดยใช้เรขาคณิตเป็นเค้าโครงด้วยซ้ำ
แนวคิดเกี่ยวกับอะตอมที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ กว่าจะเกิดขึ้นก็ต้องรอจนถึงยุคของ จอห์น ดอลตัน (John Dalton)
ประเด็นคือ สมมติฐานเกี่ยวกับอะตอม นั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สอนกันตั้งแต่ระดับมัธยมต้น แต่มันไม่ใช่แนวคิดที่ปรากฏขึ้นต่อมนุษย์อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งและเรียบง่าย สมดังคำกล่าวของริชาร์ด ไฟน์แมนที่ว่า " หากอารยธรรมโลกต้องสูญสลายไปด้วยสงครามจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มนุษยชาติสั่งสมมาหายไปจนหมดสิ้น แต่ถ้าเราสามารถเลือกส่งข้อความไปยังมนุษย์รุ่นถัดไปได้เรื่องหนึ่ง เราจะส่งความรู้เรื่องใดไป?”
2
ไฟน์แมนเชื่อว่า สมมติฐานเรื่องอะตอมสำคัญที่สุดและสมควรได้รับการบอกเล่าส่งต่อ
1
ริชาร์ด ไฟน์แมน
หากเราไม่รู้ถึงวิวัฒนาการทางความคิดที่มนุษย์มีต่ออะตอม เราอาจไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการค้นพบข้อเท็จจริงเรียบง่ายนั้นไปอย่างน่าเสียดายและพลาดการเรียนรู้วิธีคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง
1
ปล.เราพบเห็นทรงตันเพลโตได้ในธรรมชาติจริงๆ ทั้งรูปทรงของผลึก และสิ่งมีชีวิตอย่างโปรโตซัว ไปจนถึงโครงสร้างโมเลกุลที่เคมีสังเคราะห์ขึ้นมาได้
1
โฆษณา