22 ม.ค. 2023 เวลา 01:06 • การศึกษา

สร้างกุศลง่ายๆ

คำสอนพระพุทธเจ้าเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง และไม่ได้ใช้เวลามากมาย แม้บางเรื่องที่ทำแล้วได้กุศลผลบุญมากที่สุด กลับใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีต่อวัน
วิธีสร้างกุศลง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ทาน ศีล และภาวนา
ทำทานต้องอธิษฐานอะไรหรือไม่?
พระพุทธเจ้า สอนให้ทานเพื่อฝึกวางจิตละความตระหนี่ จะได้อานิสงส์สูงกว่าการให้ทานแล้ววางจิตคิดไปเรื่องอื่น ๆ รวมไปถึงการคิดอธิษฐานขณะให้ทาน
บางคนอาจสงสัยว่า อย่างน้อยควรอธิษฐานขอให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ได้แจ้งซึ่งพระนิพพานหน่อยหรือไม่ ฯลฯ
พระพุทธเจ้ายังคงรับรองเหมือนเดิมว่า เพียงวางจิตละความตระหนี่ + ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอันสูงสุด อานิสงส์ที่พึงหวังได้โดยปริยาย คือ อนาคามี แล้วก็จะปรินิพพาน
ป.ล. แต่อยากอธิษฐานสิ่งใดจริง ๆ สามารถเก็บไปอธิษฐานก่อนออกจากสมาธิได้
พระพุทธเจ้า มีตรัสเหตุแห่งความสำเร็จสมปรารถนาทั้งทางโลกและทางธรรม ว่าให้ รักษาศีล ๕ + นั่งสมาธิ
อนึ่ง จิตที่เป็นสมาธิมีกำลังมาก จึงอาศัยช่วงนั้นอธิษฐานการงานชอบ ส่วนตัวลองปฏิบัติตามแล้วได้ผลตามนั้น
จะรักษาศีลต้องมีพิธีอะไรหรือไม่?
ไม่ปรากฏว่ามีบัญญัติพิธีใด ๆ เช่นกัน เพียงแต่บางคนอาจจะอยากสมาทานต่อหน้าภิกษุเป็นยานยึดเหนี่ยวจิตใจก็แล้วแต่สะดวก แต่แค่จะบอกว่าไม่มีบัญญัติเรื่องพิธี ดังนั้นใครอยากทำเลยก็ทำเลยไม่ต้องรอ
เจริญสมาธิภาวนะต้องสวดอะไรหรือไม่?
บางคนอาจต้องการสวดมนต์ก่อนเพื่อทำใจให้เป็นสมาธิก็แล้วแต่ แต่ถ้าใครสามารถหลับตานั่งสมาธิตรง ๆ ได้เลยก็ไม่มีอะไรเสียหายเลย
อย่างที่บอกไปว่า พระพุทธเจ้า ไม่บัญญัติพิธีรีตองใด ๆ ให้ใครต้องยุ่งยากในการจะเข้ามาปฏิบัติธรรม อยากให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญสมาธิภาวนา ก็ลงมือทำได้เลย
ที่สำคัญ การสร้างกุศลไม่ได้ต้องการเวลามากมาย โดยพระพุทธเจ้ารับรองผลบุญใหญ่ ดังนี้ :
…”ถ้าภิกษุเจริญสัมมาสมาธิแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิเล่า…”
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
“...การที่บุคคล ‘เจริญเมตตาจิต’ โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท (ศีล ๕)
และการที่บุคคล ‘เจริญอนิจจสัญญา’ แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ…”
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ทั้งสองกรณีมีคำศัพท์เดียวกัน คือ ‘ชั่วเวลาลัดนิ้วมือ’
หรือ ระยะเวลาสั้นเพียงประมาณดีดนิ้วนั้นเอง
- ฌาน คืออะไร
คือจิตเป็นสมาธิตั้งมั่น แนวแน่ หรือยิ่งยวด ระหว่างที่จิตเป็นสมาธิตั้งมั่น นิวรณ์ ๕ จะดับไป จิตที่ปราศจากนิวรณ์ ๕ เป็นจิตที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงเป็นกุศลมหาศาลในตัวของมันเอง นั่นเองครับ
และอย่างที่บอกไปว่าเป็นช่วงเวลาที่จิตมีกำลังมากแถมประกอบพร้อมด้วยบุญมาก การอธิษฐานในช่วงนี้จึงมีประสิทธิภาพด้วยเหตุปัจจัยอย่างนี้
- เจริญอนิจจสัญญา คืออะไร
คือการที่เรารู้แจ้งความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่าง ๆ จนรู้ชัดว่าธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย ความรู้แจ้งนี้เป็น ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา หรือ ภาวนามยปัญญา
ภาวนามยปัญญา เป็นสิ่งที่ พระพุทธเจ้า มุ่งสอนให้เราเข้ามารู้แจ้งแทงตลอด เพื่อถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะลำพัง การให้ทานตลอดชีวิต หรือ การรักษาศีลตลอดชีวิต ไม่ได้หมายความจะเห็นสัจจะความจริงข้อนี้ไปเสียทุกคน (ทั้งนี้การฝึกให้ทาน+รักษาศีล เกื้อกูลต่อการเจริญสมาธิภาวนาอย่างมาก)
นั่นจึงเป็นเหตุที่หลักธรรมะ ยกให้การเจริญอนิจจสัญญาแม้แค่ชั่วกาลลัดนิ้วมือมีอานิสงส์มหาศาล เพราะมันเป็นการวางเท้าของคุณลงบนเส้นทางที่จะเดินออกจากระบบสังสารวัฏ
โฆษณา