24 ม.ค. 2023 เวลา 03:57 • ท่องเที่ยว

แอ่วเวียงเชียงใหม่ หัวใจล้านนา : ไหว้ “พระธาตุศรีจอมทอง” พระธาตุประจำปีชวด

แอ่วเวียงเชียงใหม่ หัวใจล้านนา : ไหว้ “พระธาตุศรีจอมทอง” พระธาตุประจำปีชวด
เริ่มต้นศักราชใหม่ ถือเป็นโอกาสนิมิตรหมายอันดีที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต และสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธถือปฏิบัติกันในช่วงปีใหม่ก็คือการไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำหรับชาวล้านนานั้นมีความเชื่อเรื่อง “พระธาตุประจำปีเกิด” โดยเชื่อว่าก่อนที่วิญญาณจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของผู้เป็นมารดา วิญญาณจะลงมา “ชุธาตุ” ซึ่งหมายถึงการที่ดวงวิญญาณจะลงมาพักอยู่ที่เจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมี ตั๋วเปิ้ง (สัตว์ประจำนักษัตร) พามาพักไว้
.. และเมื่อได้เวลา ดวงวิญญาณก็จะเคลื่อนจากพระเจดีย์ ไปสถิตอยู่บนกระหม่อมของผู้เป็นบิดาเป็นเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์ของมารดา และเมื่อเสียชีวิตลงแล้ว ดวงวิญญาณก็จะกลับไปพักอยู่ที่เจดีย์นั้นๆ ตามเดิม
ดังนั้นการมีโอกาสได้ไปกราบไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ก็เชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อีกทั้งเชื่อว่าเมื่อตายไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปในทุคคติภพ
ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 .. แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
“พระธาตุศรีจอมทอง” .. เจดีย์นักษัตรของผู้ที่เกิดในปีชวด (หนู) ตามความเชื่อของชาวล้านนา ผู้ที่เกิดในปีนักษัตรนี้จะต้องไปกราบไหว้บูชา “พระธาตุศรีจอมทอง” ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริเวณนี้เรียกว่าดอยจอมทองมาแต่โบราณ
ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ
ดอยจอมทอง มีสัณฐานเป็นภูเขาดินสูงจากระดับพื้นที่ราบอื่น
.. ยอดดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” เจ้าผู้ครองเมืองนั้นชื่อว่า “พระยาอังครัฏฐะ” .. ครั้งหนึ่งพระองค์ ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้“ เวลานี้ประทับอยู่เมืองราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย
พระองค์จึงอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด .. พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้วจึงเสด็จมาสู่เมือง “เมืองอังครัฏฐะ” ทรงแสดงธรรมและทรงพยากรณ์ ไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานแล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวาของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทอง แห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ
พระยาอังครัฏฐะทรงสดับพระดำรัสที่ตรัสพยากรณ์นั้นแล้ว .. ได้ทรงรับสั่งให้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทองด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้
.. กาลล่วงมาถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย พระองค์ได้เสด็จสู่ดอยจอมทอง ได้ขุดคูหูเปิดอุโมงคใต้พื้นดอยจอมทองแล้วทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปไว้ภายในคูหานี้ ทรงอัญเชิญพระบรมธาตุที่อยู่ในสถูปที่ “พระยาอังครัฏฐะ” รับสั่งให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปประดิษฐานในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทอง
… แล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำาคูหาไว้ ทรงอธิษฐานไว้ว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ฝูงชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา”
สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด
พ.ศ. ๑๙๙๕ พ่อสร้อย แม่เม็ง สองสามีภรรยา บ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทอง จึงได้เริ่ม สร้างเป็นวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้นแล้วให้ชื่อว่า “วัดศรีจอมทอง” การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี พ่อสร้อย แม่เม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาเมื่อ
พ.ศ. ๒๐๐๙ มีชาย ๒ คน ชื่อสิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจอมทองและก่อสร้างวิหารมุงหญ้าคาขึ้นหนึ่งหลังจนเสร็จ แล้วได้อาราธนาพระสารีปุตตเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ. ๒๐๔๒ ในสมัยที่ “พระธัมมปัญโญเถระ” เป็นเจ้าอาวาส มีตาปะขาวคนหนึ่งเกิดนิมิตฝันว่าเทวดามาบอกว่าที่ใต้พื้นวิหารบนยอดดอย ที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าและพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันให้เจ้าอาวาสฟัง ..
… ท่านจึงได้ทำการอธิษฐานว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้นขอให้พระบรมธาตุจงเสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิษฐานแล้วในวันรุ่งขึ้น ได้พบพระบรมธาตุอยู่ในช่องใจกลางพระเกศโมลีของพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่ภายในวิหารนั้นจึงได้เก็บรักษากันไว้ โดยเงียบๆ สืบมา
พ.ศ. ๒๐๕๘ สมัยที่ “พระมหาสีลปัญโญ” เป็นเจ้าอาวาส ได้มี “พระมหาพุทธญาโณเถระ” ได้นำตำนาน “พระทักขิณโมลีธาตุ” มาจากเมืองพุกามจึงได้สั่งให้ “พระอานันทะ” ผู้เป็นศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง จึงได้ทำการสักการบูชาอธิษฐานอยู่
.. ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญเมื่อได้เห็นอาการดังนั้น จึงได้นำเอาพระบรมธาตุที่ได้เก็บรักษากันต่อๆกันออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปแจ้งแก่ พระมหาพุทธญาโณ ผู้เป็นอาจารย์ ฝ่ายพระมหาพุทธญาโณ เมื่อได้ทราบดังนั้น จึงได้นำความไปทูล “พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช” (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ
พ.ศ. ๒๐๖๐ “พระเมืองแก้ว” จึงอาราธนาให้พระมหาพุทธญาโณ เป็นหัวหน้าไปสร้างวิหารจตุรมุข และก่อปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น จากนั้นรับสั่งให้ช่างทองสร้างโกศทองคำเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ทรงประกอบพิธีสมโภชเฉลิมฉลอง และอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าไว้ในโกศทองคำ และประดิษฐานไว้ในมณฑปปราสาทนั้น
.. ได้พระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก ทั้งยังถวายข้าทาสและที่นาให้แก่วัด เรียกว่า “ข้าพระธาตุ” เพื่อให้คนเหล่านั้นอยู่ดูแลรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุและวัดสืบไป .. พระบรมธาตุจึงได้รับการเก็บรักษาไว้โดยวิธีนี้ ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงกาลปัจจุบัน
พระบรมสารีริกธาตุแห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง .. จึงอยู่ใกล้ชิดกับพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส ศรัทธา มาช้านาน
.. โดยพระบรมธาตุองค์อื่นๆ มักจะประดิษฐานอยู่ในสถูปหรือเจดีย์ แต่พระทักขิณโมลีธาตุประดิษฐานอยู่ในโกศภายในมณฑปปราสาทในวิหารหลวงของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และยังเปิดให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะทุกปีเป็นประจำในช่วงวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันวิสาขบูชา เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวจอมทองและชาวเชียงใหม่จะมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
“พระบรมธาตุเจดีย์ศรีจอมทอง” .. เจดีย์ทรงล้านนาสีทองอร่าม สูง 30 เมตร ที่สร้างด้วยศิลปะล้านนา เป็นเอกลักษณ์ของวัดพระธาตุแห่งนี้ และเป็นโบราณสถานแห่งแรก ที่ปรากฏในสายตาเมื่อเรามายังวัดพระธาตุศรีจอมทองแล้ว
บริเวณฐานของพนะเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “ยกเก็จ” กว้าง 9 เมตร ส่วนบริเวณยอดเป็นฐานทรงกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้นตามแบบที่นิยมในล้านนา ส่วนยอดด้านบนสุดจะเป็นฉัตรสีทอง ฐานโดยรอบก็จะบุด้วยแผ่นโลหะ ดุนลายเป็นรูป 12 นักษัตร และลายไทยอย่างสวยงดงาม
“พระวิหารหลวง” .. สถาปัตยกรรมทรงจตุรมุขอันเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งองค์พระบรมธาตุมีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวล
.. องค์พระธาตุนั้นบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนมณฑปปราสาท หรือ “กู่” ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระบรมธาตุ โดยกู่นี้เปรียบเสมือนปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้านั่นเอง ประชาชนสามารถเข้าไปสักการะพระบรมธาตุภายในวิหารหลวงกันได้
.. ประตูมี 4 ด้าน หลังคาหลายชั้นซ้อนกันมียอดแหลมงดงามยิ่งนัก
พระประธาน และกลุ่มพระพุทธรูป ตรงกลางพื้นที่ของวิหารหลวง
อีกด้านหนึ่งของกลุ่มพระพุทธรูป ภายในพระวิหารหลวง
มุมหนึ่งของกู่ทอง
พระพุทธรูป และธรรมมาสน์ .. ก่อนทางเข้าพิพิธภัณฑ์
ภ่ยในพระวิหารหลวง .. ประดับตกแต่งด้วยศิลปะในสไตล์ล้านนาโบราณที่วิจิตร ให้ความรู้สึกขลัง และงดงาม ดั่งทองทาจริงๆ
กลุ่มพระพุทธรูปด้านหลีงพระประธาน อยู่ตรงกับประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ของวิหารหลวง
ส่วนด้านหลังของวิหารที่ประดิษฐานพระประธาน .. เป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณที่ล้ำค่าจำนวนมาก และเปิดให้สาธุชนเข้าไปชมและถ่ายภาพได้
.. พระพุทธรูปโบราณมากมาย ที่สะดุดตาอย่างมาก คือ พระพุทธรูปตาเพชร
.. พระพุทธรูปทองคำ
.. พระอัฐธาตุ ประดิษฐานอยู่ในผอบ ในพระวิหาร
ทุกปีจะอัญเชิญออกมาให้พุทธศาสนิกชนสรงน้ำ ในเทศกาลสงกรานต์
พระพุทธรูป และวัตถุโบราณที่ล้ำค่าอีกมากมาย ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่นี่
พระพุทธรูปที่งดงามส่วนหนึ่ง ที่เก็บรักษาไว่ที่นี่
“พระอุโบสถ”(ไม่มีภาพ) …สถาปัตยกรรมทรงไทยหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น หน้าบันลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปสามองค์ สร้างด้วยไม้แกะสลัก ส่วนพระประธานเป็นปางถวายเนตร ต่างจากพระอุโบสถฉบับล้านนาทั่วไป นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าถึงตำนานพระธาตุศรีจอมทอง และสวรรค์ในชั้นต่างๆ อีกด้วย แม้จะเป็นจุดที่น่าสนใจ และน่าเข้าไปกราบไหว้สักครั้ง แต่บริเวณประตูทางเข้าพระอุโบสถได้มีการฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ตามความเชื่อของชาวล้านนาจึงไม่อนุญาตให้สตรีขึ้นไปที่พระอุโบสถ
“หอพระไตรปิฎก” .. เป็นอาคารสองชั้นสำหรับเก็บพระไตรปิฎก อยู่ด้านหลังของพระอุโบสถ อาคารนี้ได้มีการบูรณะใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536
“พระเจดีย์บริวาร” หรือ “พระธาตุน้อย” สร้างมาคู่กับพระเจดีย์องค์ใหญ่ มีการสันนิฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้มีอายุราวๆ 300 ปีแล้ว สร้างโดยชาวพม่าเมื่อครั้งปกครองนครเชียงใหม่จึงมีกลิ่นอายศิลปะมอญ-พม่า
“ศาลาธํรรมสามัคคี” .. ศาลาการเปรียญ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
ระเบียงคด .. เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด
พิพิธภัณฑ์วัดศรีจอมทอง .. เป็นสถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุศรีจอมทองแห่งนี้ในวันที่เราไปเยือนไม่เปิดให้เข้าชม
นอกจากนี้ ภายในวัดพรพธาตุศรีจอมทอง ยังมี หอระฆัง
.. วิหารพระเจ้าทันใจ
.. โรงเรียนพระปริยัติธรรม, สำนักปฏิบัติธรรม, กุฎิสงฆ์ และอื่นอีกมากมาย
“การสรงน้ำพระธาตุ” .. ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ ปี .. รางน้ำที่ใช้ในการสรงน้ำ เพื่อให้น้ำที่ผู้คนเทลงในรางไหลตกลงมาที่องค์พระธาตุ
วัดพระธาตุศรีจอมทอง มีประเพณี “แห่ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี” ในช่วงวันปีใหม่เมืองหรือวันสงกรานต์อีกด้วย .. โดยมีการจัดงานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์มายาวนานถึง 200 กว่าปีแล้ว ซึ่งการถวายไม้ค้ำโพธิ์นอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งต้นไม้ไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่ากุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด
สำหรับผู้ที่เกิดปีชวด (หนู) หรือผู้ที่เกิดในปีนักษัตรอื่นๆ ก็สามารถมากราบไหว้พระบรมธาตุและพระธาตุประจำปีเกิดปีชวดได้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เพื่อสร้างความสงบสุขในจิตใจ อีกทั้งยังจะได้ชมศิลปะล้านนาที่งดงามภายในวัดอีกด้วย
พระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 ปีนักษัตร มีดังนี้
1. พระธาตุประจำปีชวด(หนู) - พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
2. พระธาตุประจำปีฉลู(วัว) - พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
3. พระธาตุประจำปีขาล(เสือ) - พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
4. พระธาตุประจำปีเถาะ(กระต่าย) - พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
5. พระธาตุประจำปีมะโรง(งูใหญ่) - พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่
6. พระธาตุประจำปีมะเส็ง(งูเล็ก) - มหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย หรือเจดีย์วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่
7. พระธาตุประจำปีมะเมีย(ม้า) - พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศเมียนมา
8. พระธาตุประจำปีมะแม(แพะ) - พระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
9. พระธาตุประจำปีวอก(ลิง) - พระธาตุพนม จ.นครพนม
10. พระธาตุประจำปีระกา(ไก่) - พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
11. พระธาตุประจำปีจอ(สุนัข) - พระธาตุอินทร์แขวน ประเทศเมียนมา
12. พระธาตุประจำปีกุน(หมู) - พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
Ref : ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก Wikipedia .. https://travel.trueid.net/detail/wAE9bPgDqwRA
โฆษณา