24 ม.ค. 2023 เวลา 07:16 • ท่องเที่ยว

"วัดอุโมงค์" .. วัดงาม มุมสงบแห่งเชียงใหม่

"วัดอุโมงค์" .. วัดงาม มุมสงบแห่งเชียงใหม่
“วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)” .. เป็นวัดที่เก่าแก่และงดงามวัดหนึ่งของเชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์งดงามไม่เหมือนใคร .. ตัววัดตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ไม่ไกลจากบริเวณตีนดอยสุเทพ อยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอยู่ไม่ห่างจากย่านฮิปของนักท่องเที่ยวอย่างนิมมานเหมินทร์มากนัก
“วัดอุโมงค์” มีประวัติที่ยาวนาน ย้อนไปถึงเริ่มต้นขึ้นในสมัยของปฐมกษัตริย์ของล้านนา คือ “พระเจ้ามังรายมหาราช” ...
ประมาณปี พ.ศ. 1839 “พระยามังราย” ทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย คือ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” กษัตริย์ปกครองสุโขทัย และ “พระเจ้างำเมือง” กษัตริย์ปกครองพะเยา มาสร้างเมืองเวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และตั้งชื่อเมืองว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์”
“พระเจ้ารามคำแหงมหาราช” .. ได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา รวมถึงได้ส่งคนนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาอาศัยอยู่ใน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่พระสงฆ์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุโขทัย
“พระยามังราย” ทราบข่าวดังกล่าว จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกาจากพระเจ้ารามคำแหง 5 รูป โดยมี”พระกัสสปะเถระ” เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์นี้ โดยจำพรรษาที่วัดการโถม ..
ในครั้งนั้นพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่บริเวณป่าไผ่ 11 กอ เพื่อเป็นที่พำนักของคณะสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ และสร้างโดยยึดรูปแบบของวัดเมืองลังกา อาทิ เจดีย์ ก็สร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกา
เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยก็ได้ทำการฉลองวัด และทรงขนานนามว่า “วัดเวฬุกัฏฐาราม” (วัดไผ่ 11 กอ) และทรงนิมนต์คณะสงฆ์จากลังกาเข้าอยู่จำพรรษาเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
ต่อมาเมื่อ “พระเจ้ามังราย” สวรรคต ... ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมีการทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ
จนถึงสมัย “พระเจ้าผายู” ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง
บันไดนาค ทางเดินขึ้นไปที่เจดีย์ทางทิศใต้ ...
เป็นบันไดนาคที่สร้างพญานาคได้สวยมาก มีเครา มีหงอน ดูน่าเกรงขามอยู่ในที
พระเจดีย์ 700 ปี ด้านบนของอุโมงค์ .. เจดีย์ในวัดอุโมงค์เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม แต่ว่ากันว่า รูปแบบของเจกีย์ได้มีการปรับเปลี่ยนตามแต่ละยุคสมัย
แรกเริ่มก่อสร้างเริ่มขึ้นในสมัยของพระเจ้ามังรายประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 .. โดยมีโครงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกา มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด ..
ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆัง มีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า
หอระฆัง .. บนพื้นที่เดียวกับพระเจดีย์
จวบจนมาถึงรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช ..พระองค์ได้บูรณะ “วัดเวฬุกัฏฐาราม” ขึ้นใหม่ และได้ทรงสร้างอุโมงค์ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้น เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่และสวยงาม มีทางเข้าออก 4 ช่อง
.. แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ สะดวกแก่พระเดินจงกรมและภาวนาอยู่ด้านใน และในเพดานอุโมงค์ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันอีกด้วย
จนถึงสมัย “พระเจ้ากือนาธรรมาธิราช” (ประมาณ พ.ศ. 1910) พระองค์ทรงศรัทธาเป็นพิเศษใน “พระมหาเถระจันทร์” พระสงฆ์ชาวล้านนาผู้แตกฉานในพระไตรปิฏกและมีปฏิภาณโต้ตอบปัญหาธรรมเป็นเยี่ยม .. พระเจ้ากือนา จึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์
.. “พระมหาเถระจันทร์” ชอบจาริกอยู่ตามป่าดงเพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญภาวนา ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน เวลาต้องการตัวโต้ตอบปัญหาหรือศึกษาข้อธรรมมักจะตามไม่ค่อยพบ
“พระเจ้ากือนา” มีพระราชประสงค์จะให้ “พระเถระจันทร์” อยู่เป็นที่ สะดวกต่อการติดต่อและพบปะ .. จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นที่ฐานพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่อเป็นที่อยู่ของพระมหาจันทร์ ต่อมาคนจึงเรียกกันว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” มาตั้งแต่บัดนั้น
ราชวงศ์มังรายล่มสลาย เมื่อปี พ.ศ. 2106 .. เปลี่ยนเป็นพม่าปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง ปล่อยให้ร้าง ปรักหักพัง ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ
ภาพจาก internet
ต่อมา เจ้าชื่น สิโรรส (บุตรของเจ้าอินทปัตย์ สิโรรส) ได้จัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้ .. และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม
จากนั้นจึงนิมนต์ .พระภิกษุปัญญานันทะ. จากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา และท่านได้เผยแพร่ศาสนา ด้วยความที่ท่านมีศรัทธาในแนวทางของ “หลวงพ่อพุทธทาส” แห่งสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ท่านจึงกราบอาราธนานิมนต์ท่านพุทธทาสให้มาเผยแผ่ธรรมะที่เชียงใหม่ เพราะท่านได้สร้างสวนพุทธธรรมและหอพุทธธรรมที่วัดอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว
.. แต่ท่านพุทธทาสยังมีภารกิจมากมายที่ “สวนโมกข์” จึงส่ง “พระภิกษุปัญญานันทะ” มาแทน ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อปัญญาก็ได้มาบุกเบิกงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่วัดอุโมงค์ เป็นที่มาของรูปหล่อหลวงพ่อปัญญาด้านหน้าอุโมงค์นั่นเอง
ปัจจุบัน “วัดอุโมงค์” กลายเป็นสถานปฏิบัติธรรม สถานที่ที่คนมาแสวงหาความสงบ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามแปลกตาของเชียงใหม่ ..
เมื่อมาเยือนที่วัดอุโมงค์จะได้พบกับความร่มรื่นและความเงียบสงบภายในวัด
บริเวณอุโมงค์ .. ครั้งแรกที่เห็น ทำให้คิดถึงป้อมกำแพงเมืองของญี่ปุ่นที่มีทางเข้าหลายช่องทะลุกันด้านใน
อาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมที่ภายนอกมีมอสปกคลุมเป็นพรมสีเขียวด้วยความชื้น ยิ่งเพิ่มความสงบงามให้แก่สถานที่
เมื่อเข้าไปภายในอุโมงค์จะพบกับความเงียบและความมืดสลัว .. มีดวงไฟตามทางเป็นระยะๆ บริเวณอุโมงค์ช่วงแรกจะมีพระพุทธรูปให้เรากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจะเป็นทางเดินที่เชื่อมต่อกับอุโมงค์อื่นๆ เป็นระยะๆ
บางช่วงเรายังเห็นร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 700 ที่ยังหลงเหลืออยู่บนเพดานโค้งในอุโมงค์บางส่วน .. แต่ก็ลบเบือนไปมากแล้ว
จึงมีจากการสำรวจในโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ และได้พบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากมาย เป็นเหตุให้กรมศิลปากรได้เข้ามาร่วมสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้
ทำให้เรื่องราวและภาพของจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ได้ออกสู่สายตาประชาชนมากยิ่งขึ้น
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง .. เศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 .. อยู่ด้านข้างของทางเข้าอุโมงค์
เป็นลานกลางแจ้งที่มีเศียรพระพุทธรูปวางอยู่เรียงรายเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง .. นอกจากเศียรพระพุทธรูปแล้วยังมีพระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ชำรุดเรียงรายอยู่ในสวน .. เคยมาที่นี่ในช่วงหน้าฝน ซึ่งมอสขึ้นบนองค์พระพุทธรูปเหล่านี้จนเขียวเกือบทุกองค์.
เราใช้เวลาเดินอยู่ที่นี่นาน ด้วยคามรู้สึกเศร้าในใจ แม้มุมภาพจะดูสวย .. แต่ความรู้สุกหดหู่ใจ กลับจู่โจมเข้ามาในความรู้สึก
เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ วางคู่กับเศียรพระพุทธรูปและหินแกะสลักอย่างระเกะระกะเหล่านี้ .. สร้างขึ้นโดยช่างสกุลพะเยาประมาณปี พ.ศ. 1950 – พ.ศ. 2100
เจ้าชื่น สิโรรส และผู้ศรัทธาวัดอุโมงค์ได้ทยอยนำมาจากวัดร้างในพะเยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2513
พระพุทธรูปชำรุด กระจายอยู่บนพื้นดิน .. เหมือนเชลยศึกที่พ่ายแพ้สงคราม
ภาพจาก internet
พระอุโบสถ .. โบสถ์ขนาดเล็ก ที่ใช้รูปปั้นดอกบัว แทนเสมา
เสาอโศกจำลอง .. สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง พระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์แรกของโลก ซึ่งเสาอโศกเป็นเครื่องหมายอันสำคัญ เมื่อพบตั้งอยู่ที่ใด หมายถึงสถานที่นั้นมีความสำคัญกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา
ภาพจาก internet
วัดอุโมงค์ ในปัจจุบัน .. กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาเดินทางมากราบไหว้และปฏิบัติธรรม รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างศาสนาที่ต้องการมาชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่
“วัดอุโมงค์” ตั้งอยู่ที่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ให้วิ่งมาตามถนนสุเทพ มุ่งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดอุโมงค์บริเวณตรงข้ามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โฆษณา