25 ม.ค. 2023 เวลา 02:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ญี่ปุ่น ดูดเงินเข้าประเทศ 300,000 ล้าน ด้วย อานิเมะ

รู้ไหมว่า ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาวงการ “อานิเมะ” หรือ “การ์ตูนญี่ปุ่น” ในปี 1990 หรือระยะเวลาเพียง 30 กว่าปีเท่านั้นเอง
2
แต่มาในปี 2020 อานิเมะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับญี่ปุ่นมากถึง 316,000 ล้านบาท
โดยกว่า 9 ใน 10 เป็นรายได้มาจากต่างประเทศอีกด้วย
2
แล้วอานิเมะญี่ปุ่นมาถึงแสนล้านบาท ได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกอย่างนี้ว่า อานิเมะยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องที่มา ว่าเริ่มต้นจากในญี่ปุ่นเอง หรือได้รับวัฒนธรรมมาจากสหรัฐอเมริกาในภายหลัง
แต่ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ยุคแรกของอานิเมะก็ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะเป็นช่วงเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายหนักมาก จากสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี
 
นั่นทำให้ ญี่ปุ่นจึงต้องไปเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยอุตสาหกรรมหนัก และการส่งออกก่อน
จนกระทั่งเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด
สามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก สร้างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ต่าง ๆ เครื่องจักร หรือสินค้าอุตสาหกรรม
ในปี 1960 การ์ตูนญี่ปุ่นถึงเริ่มมีชื่อเสียงในระดับโลกเป็นครั้งแรก และดังไกลไปถึงสหรัฐอเมริกา เช่น Astro Boy หรือเจ้าหนูอะตอม
2
ในเวลาต่อมา ก็มีบริษัทผลิตอานิเมะเกิดขึ้นอีกมากมาย อย่างเช่น Toei Animation ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง Dragon Ball, Sailor Moon หรือ One Piece
1
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ญี่ปุ่นนั้นเกินดุลการค้าอย่างมหาศาล สร้างความไม่พอใจให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
4
จนในปี 1985 ญี่ปุ่นต้องยอมลงนามในข้อตกลง Plaza Accord กับสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
5
ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นนั้น แข่งขันในเวทีโลกได้น้อยลง จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่น ไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า
3
และอีกทางหนึ่ง ญี่ปุ่นต้องหาแหล่งทำเงินใหม่ เข้าประเทศ ซึ่งนั่นก็คือ “อานิเมะ”
2
โดยในช่วงปี 1990 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสนับสนุนอานิเมะอย่างเต็มที่ ด้วยการให้เงินพัฒนาคนในวงการ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
และยังส่งเสริมให้ใช้อานิเมะ เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินตามรอยอีกด้วย
2
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การจัดงานประกวดและงานจัดแสดงอานิเมะ เพื่อให้ธุรกิจในวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
ส่วนในฝั่งของธุรกิจเอง ก็มีการลดความเสี่ยงด้านการผลิตอานิเมะในแต่ละเรื่อง โดยใช้วิธีที่เรียกว่า “Production Committee”
โดยวิธีที่ว่านี้ เป็นการรวมเงินจากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงการ เช่น ธุรกิจผลิตอานิเมะ ธุรกิจเผยแพร่ ธุรกิจของเล่น เพื่อให้สามารถใช้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ร่วมกันได้
ทำให้ต้นทุนของแต่ละธุรกิจลดลง และสามารถไปโฟกัสเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองถนัด นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธุรกิจกันอีกด้วย
โดยปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นสร้างรายได้จากอานิเมะสูงถึง 316,000 ล้านบาท และกว่า 9 ใน 10 เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศอีกด้วย
2
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ อานิเมะยังไม่ได้เป็นสินค้าหลักของญี่ปุ่น ที่ได้รับการสนับสนุนมากนัก
แต่พอญี่ปุ่นเจอปัญหาสินค้าส่งออกแข่งขันได้น้อยลง
อานิเมะจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นพยายามส่งเสริม ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า หากเราพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากเพียงพอ ก็ยากที่คู่แข่งจะเข้ามาแย่งชิงไปได้อย่างง่าย ๆ
และเมื่อสินค้าอื่น ๆ ไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป การปรับตัวก็เป็นสิ่งจำเป็น ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน..
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งซื้อ ได้ที่
โฆษณา