26 ม.ค. 2023 เวลา 03:00 • ท่องเที่ยว

วัดต้นแกว๋น .. ต้นแบบหอคำหลวง วัดสวยในแบบล้านนาโบราณ

วัดต้นแกว๋น .. ต้นแบบหอคำหลวง วัดสวยในแบบล้านนาโบราณ
“วัดต้นเกว๋น” หรือ “วัดอินทราวาส” .. ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์
หากคุณเป็นแฟนละครพีเรียดของไทย แค่ผ่านประตูทางเข้าของวัด ก็อาจจะรู้สึกว่าอาคารในสถาปัตยกรรมล้านนาที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้นคุ้นตามาก ..
“วัดต้นเกว๋น” .. เป็นวัดโบราณที่ได้ชื่อว่ามีอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น อยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้และดงตาล จึงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ สวยงามเหมือนความอ่อนช้อย อ่อนหวานของสาวเหนือ .. จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดแห่งนี้ได้รับเลือกให้เป็นฉากของละครย้อยยุคหลายเรื่อง ว่าจะเป็น เพลิงพระนาง กลิ่นกาสะลอง รอยไหม รากนครา ..
.. รวมถึงการันตีความงดงามในเชิงสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ได้ชื่อว่า ร่ำรวยไปด้วยความปราณีตงดงาม ด้วยรางวัล “อาคารอนุรักษ์ดีเด่น” เมื่อปี พ.ศ. 2532
“เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์” หรือ “เชียงใหม่” .. ในอดีตเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ที่มีความรุ่งเรือง มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ รุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์พาะตัวที่โดดเด่นในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา วิถีชีวิต และงานศิลปะแขนงต่างๆ และมีการสืบทอดมายาวนานกว่า 700 ปี
งานทางด้านสถาปัตยกรรมของล้านนาโบราณ .. มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งเราสามารถมองเห็นร่องรอยที่งดงามของอดีตกาลที่เปี่ยมเสน่ห์ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้ได้ เมื่อไปเยือนหลายๆวัดในเชียงใหม่
อาคารและสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณต่างๆภายใน “วัดต้นเกว๋น” .. มีอายุเก่าแก่นับย้อนหลังไปได้กว่าร้อยปี กาลเวลาได้กัดกร่อนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของอนัตตา
… แต่ยังได้รับการบูรณะมาต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัย สะท้อนถึงจิตของผู้คนที่เลื่อมใสในการสืบทอดความสำคัญของวัดเก่าแก่ต่อชุมชน จนสามารถรักษาส่วนที่สำคัญๆของสิ่งก่อสร้างเดิมไว้ได้เกือบหมด และเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์เหนือกาลเวลามากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น
2
“วัดต้นเกว๋น” มีความเป็นมาที่น่าสนใจ .. ว่ากันว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ในช่วงที่พระองค์เป็นเจ้าหลวงปกครองนครเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2399-2412
.. ชื่อของวัดมาจากชื่อของ ต้นตะขบป่า ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ต้นมะเกว๋น” ซึ่งขึ้นอยู่ในวัดนั่นเอง ต่อมจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดอินทราวาส” ซึ่งมาจากชื่อของครูบาอินทร์ ผู้สร้างวัดนี้ .. ปัจจุบันวัดนี้ไม่มีพระจำพรรษา
“วัดต้นเกว๋น” .. เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญในอดีต ด้วยเหตุที่ถูกสร้างขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หรือ “พระบรมธาตุศรีจอมทอง” ณ ศาลาจตุรมุข .. ซึ่งในอดีตถือเป็นประเพณีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่ต้องอัญเชิญขบวนมาที่ “นพบุรีศรีนครพิงค์” ทุกปี .. รวมถึงเป็นที่พักของขบวนช้าง ขบวนม้าในขบวนด้วย .. วัดนี้จึงไม่มีองค์พระเจดีย์ หรือ พระธาตุ เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษนั่นเอง
ขบวนแห่จะหยุดพักที่วัดแห่งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้มาสักการะ สรงน้ำสมโภชองค์พระธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาจตุรมุข ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพ ..
… ปัจจุบันพิธีการแบบนี้จะจัดขึ้นเฉพาะในวาระที่สำคัญจริงๆเท่านั้น และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในพ.ศ. 2559 ในโอกาสครบรอบ 720 ปีของการสถาปนาเวียงเชียงใหม่
ศาลามณฑปจตุมุข .. สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด เป็นศาลาที่สร้างตามมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน เป็นวิหารที่มีลักษณะแบบล้านนาแท้ๆที่มีสถาปัตยกรรมที่งามวิจิตร เปี่ยมเอกลักษณ์ มีความสมบูรณ์มาก พบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ
มณฑปแบบจตุรมุขนี้ .. จึงมีความสำคัญและทรงคุณค่า สะท้อนความงามที่ช่างล้านนาโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นมา
.. สร้างด้วยเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินขอเผาแบบล้านนา (แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าปั้นด้วยดินเหนียวแล้วเอามาเผาไฟ เป็นแผ่นเล็กๆปลายตัดเรียงซ้อนกัน) ..
… ใช้ระบบเสาและคานในการรับน้ำหนัก ซึ่งโครงสร้างที่ถ่ายทอดน้ำหนักแบบนี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ระบบม้าต่างไหม” จัดเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจ และเราจะพบเห็นได้ในหลายวัดของเชียงใหม่
ส่วนบนของหลังคา .. มีช่อฟ้าและหงส์ประดับอยู่เหนือราวหลังคา กลางสันหลังคาจะมีซุ้มมณฑปเล็ก ๆ เรียกซุ้มแบบนี้ว่า "ปราสาทเฟื้อง" ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและลาว
.. รูปแบบของ “ปราสาทเฟื้อง” ในคติความเชื่อทางด้านศิลปะของคนล้านนา .. เป็นการจำลองคติจักรวาล เขาพระสุเมรุ
ส่วนปลายของปั้นลมซึ่งแกะสลักเป็นรูป “มกรคายนาค”
… ลําตัวนาคและนมนาคเป็นลวดลายเครือดอก ประดับด้วยกระจกสีอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันลายละเอียดบางชิ้นได้หลุด และผุหายไปตามกาลเวลา
“วิหารทรงพื้นเมืองล้านนา” .. วิหารของวัดต้นเกว๋นสร้างขึ้นตามแบบแผนทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามและทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2401
.. โครงสร้างและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจะใช้ไม้แกะสลัก โดยนายช่างที่มีความสามารถและชำนาญการแกะสลักในสมัยนั้น .. มีฐานก่ออิฐถือปูน
ลักษณะของวิหารด้านหน้าเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น
ด้านหลังของพระวิหาร .. หลังคาซ้อน 2 ชั้นเป็นเอกลักษณ์การสร้างแบบล้านนา
หน้าบันวิหาร .. ประดับตกแต่งด้วยกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้าหรือฝาปะกน
โก่งคิ้วจำหลักไม้ลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค มีลายปูนปั้นรูปเทพนมและดอกไม้อยู่หัวเสา
ด้านหน้าบันปีกนกแกะสลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก ตีเป็นช่องตารางเพื่อระบายอากาศ
… ปั้นลมและหางหงส์แกะรูปมกรคายนาคอย่างงดงาม คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ .. ลวดลายที่มีความอ้อนช้อยสวยงาม
ไม่แกะสลักประดับอาคารพระวิหารนั้นงดงาม อ่อนช้อย
สวยไปหมดทุกด้าน ทุกมุม
เพ่งพิศ พินิจเท่าใด ก็ไม่เบื่อ .. พรีอมกดชัตเตอร์กล้องมือเป็นระว้ว
ราวบันไดที่ทอดสู่ตัววิหาร .. เป็นประติมากรรมประดับรูปมกรคายนาค เป็นนาคมีหงอนและมีเกล็ดที่ค่อนข้างสมบูรณ์
มกร (มะ-กอน) .. เป็นหนึ่งสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของชาวเหนือ พบเห็นได้ตามวัด ลักษณะจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค มีขายื่นออกมาจากลำตัว และมักจะถูกปั้นให้อยู่มนท่าทางที่กำลัง "คาย" พญานาคออกจากปากด้วย เรียกกันว่า "มกรคายนาค" เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถาน
1
มกรเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นการอวยพรให้ผู้ที่เข้ามามีความสุข นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า มกรเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคา และพระวรุณ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำด้วย
การที่ช่างปั้นให้คายนาคนั้น เพื่อสื่อความหมายด้านพุทธศาสนา เปรียบมกรเป็นความรัก โลภ โกรธ หลง ส่วนนาคนั้นคือ ตัวเรา แปลความหมายได้ว่า หากตัวเรายังยึดติดกับความลุ่มหลงต่างๆ เราก็เหมือนกับพญานาคที่ถูกมกรยึดติดไว้ ไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือปล่อยวางได้
สถาปัตยกรรมภายในพระวิหาร .. โครงสร้างภายในเปิดให้เห็นหลังคาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องดินขอ อันเป็นงานฝีมือที่มีความประณีตและพิถีพิถัน เป็นโครงสร้างไม้แบบ “ม้าต่างไหม” มีบันทึกอักษรไทยยวน(ตั๋วเมือง) ที่เพดานที่ระบุวันที่สร้างพระวิหารไว้ เชื่อกันว่าพระวิหารถูกสร้างขึ้นในพ.ศ. 2401 และมีการปั้นลวดลายปูนปั้นที่หน้าแหนบพร้อมกันด้วย
โครงสร้างเสาและคานภายในวิหาร มีผนังปิดล้อมโดยรอบ … เสาทั้งหมดเป็นเสาไม้มีลวดลายวิจิตรแบบลายคำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมแบบล้านนา ด้วยการลงรักปิดทองคำเปลวให้มีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดงหรือพื้นสีดำ การประกอบส่วนต่างๆใช้การเข้าเดือยโดยไม่ใช่ตะปู อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นมาก
พระประธานภายในพระวิหาร ... เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูดสวยงามแบบล้านนา
ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ซึ่งหล่อเป็นองค์ๆ เอาติดฝาผนังเป็นรูปคล้ายซุ้ม พระพิมพ์มี 2 แบบคือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2x4 ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3x5 ซม. .. นอกจากนี้ยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำทซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากความงดงามของวิหารนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกใช้เป็นต้นแบบในการออกแบบหอคำหลวง ซึ่งตั้งอยู่กลางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่
นอกจากนี้แล้วยังมีอาสนะสำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุซึ่งยังอยู่ในสภาพดี ..
.. มีฮางฮดหรือรางรินสำหรับรองน้ำสุคนธาราหรือน้ำอบน้ำหอมที่นำมาหยดหล่อพระธาตุ ... มีเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟจุดบูชาที่แกะสลักลวดลายดอกสวยงาม และรูปนาคลงรักชาดปิดทอง แต่ปัจจุบันทรุดโทรมไปแล้ว
ทางเดินจากอาคารจตุรมุข .. ลักษณะคล้ายวิหารคด
ทางเดินที่มีหลังคาคลุม คล้ายวิหารคดของวัดอื่นๆ .. มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
.. และมีกลองโยน (กลองบูชา) โบราณเรียกว่า “ก๋องปูจา”
“วัดต้นเกว๋น” .. นับเป็นวัดเก่าแก่ทรงคุณค่า ที่เปี่ยมเอกลักษณ์แห่งความงามวิจิตรโบราณแบบล้านนาไว้ได้สมบูรณ์แบบมาก หากมีโอกาสก็ควรมาชม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถือโอกาสตามรอยละครดังหลายเรื่องในเวลาเดียวกันค่ะ
Ref: ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก https://travel.trueid.net/detail/mLyeenxJDopL
โฆษณา