26 ม.ค. 2023 เวลา 10:30 • การเกษตร

เล่าเรื่องพันธุ์ดาหลา

ดาหลามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etlingera elatior วงศ์ Zingiberales มีถิ่นกำเนิดบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไปมีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า เป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้น ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่น เป็นลำต้นเทียม ลำต้นเหนือดินสูง 2 – 3 เมตร มีสีเขียวเข้ม ใบมีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลายใบและฐานใบ ใบไม่มีก้านใบผิวเกลี้ยง ทั้งด้านบนและด้านล่าง ใบยาว 30 – 80 เซนติเมตร กว้าง 10 – 15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมฐานใบเรียวลาดเข้าหาก้านใบ เส้นกลางใบปรากฏชัดทางด้านล่างของใบ
สำหรับดอกเป็นช่อดอกแบบ Head ประกอบด้วยกลีบประดับ 2 ขนาด ส่วนโคนประกอบด้วยกลีบประดับขนาดใหญ่ เรียงซ้อนกันอยู่และจะบานออก ประมาณ 25 – 30 กลีบ และมีกลีบประดับขนาดเล็กอยู่ส่วนบนของช่อดอกความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร จะมีสีเดียวกับกลับประดับขนาดใหญ่ กลีบประดับเล็กนี้จะหุบเข้าเรียงเป็นระดับมีประมาณ 300 – 330 กลีบ อยู่ภายในกลีบดอกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก ดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 14 – 16 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 30 – 150 เซนติเมตร ลักษณะก้านช่อดอกแข็ง
ดอกออกตลอดปีแต่จะให้ดอกดกที่สุดในช่วงฤดูร้อน คือ เดือนมีนาคม - พฤษภาคม ดอกจะพัฒนามาจากหน่อดอกที่แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน แต่ละลักษณะจะมีความแตกต่างของพันธุ์ โดยพันธุ์ที่จะแนะนำให้รู้จักมี ดังนี้
พันธุ์ตรัง 1 ดอกสีขาว ให้ดอกเฉลี่ย 39 ดอก/กอ/ปี
พันธุ์ตรัง 2 ดอกสีบานเย็น ให้ดอกเฉลี่ย 40 ดอก/กอ/ปี
พันธุ์ตรัง 3 ดอกสีแดง ให้ดอกเฉลี่ย 106ดอก/กอ/ปี
พันธุ์ตรัง 4 ดอกสีชมพู ให้ดอกเฉลี่ย 136 ดอก/กอ/ปี
พันธุ์ตรัง 5 ดอกสีแดงเข้ม ให้ดอกเฉลี่ย 48 ดอก/กอ/ปี
พันธุ์พื้นเมือง ดอกสีขาว มีลักษณะก้านดอกสั้น
พันธุ์พื้นเมือง ดอกสีชมพู ลักษณะก้านดอกสั้น
พันธุ์พื้นเมือง ดอกสีแดง ลักษณะก้านดอกสั้น
หากมีสายพันธุ์อื่น ๆ จะมาแนะนำเพิ่มเติมในภายหลัง และขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
โฆษณา