26 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พอดีดอลลาร์สหรัฐ!! บราซิล-อาร์เจน เปิดฉากคุยใช้สกุลเงินร่วมกัน

โดยทั่วไป ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมักจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศผู้เข้าร่วมให้ดีขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาชิกในการต่อรองกับประเทศนอกกลุ่ม
ซึ่งแนวคิดนี้ก็คงอยู่เบื้องหลัง “ความพยายามในการสร้างสกุลเงินร่วมกันของประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา” ที่พึ่งถูกประกาศออกมา ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยกับหลายคนไม่น้อย
📌ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้
โดยการประกาศนี้เกิดขึ้นในทริปการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของประธานาธิบดีบราซิลป้ายแดงของบราซิลอย่าง “ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inacio Lula da Silva)” ซึ่งออกเดินทางไปกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
และก็มีการแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำอาร์เจนตินา “อัลเบร์โต เฟร์นานเดซ (Alberto Fernandez)” ต่อสื่อมวลชน
โดยคุณลูอิสกล่าวว่า
“ถ้ามันได้ขึ้นอยู่กับผมแล้ว เราคงจะมีการค้าขายระหว่างกันในสกุลเงินเดียวกัน ซึ่งมันจะทำให้เราไม่ต้องไปพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐอีก”
 
(If it depended on me, we would have external commerce always in the same currency of the other countries so we wouldn’t have to depend on the dollar)
Luiz Inacio Lula da Silva
1
อย่างไรก็ดี หลังจากเริ่มมีเสียงแสดงความกังวลออกมาเรื่อง “แนวคิดสกุลเงินเดียวกัน” ทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของบราซิล “คุณเฟร์นานโด ฮัดแดด (Fernando Haddad)” ก็ออกมาลดทอนกระแสนี้ลงโดยกล่าวกับทางรอยเตอร์ว่า
“สถานการณ์การค้าค่อนข้างแย่ ซึ่งปัญหามันก็เกิดมาจากเงินตราต่างประเทศชัดๆ เราก็เลยต้องหาทางแก้ไขสักอย่างร่วมกันที่จะทำให้การค้าเติบโต”
(Trade is really bad and the problem is precisely the foreign currency, right? So we are trying to find a solution, something in common that could make commerce grow)
“แต่มันก็จะไม่ไปถึงระดับการรวมตัวเป็นสหภาพการเงินแบบที่เกิดในที่ยูโรโซนอย่างแน่นอน”
(It “won’t reach the level of monetary unification seen with the euro”)
อย่างไรก็ดี เมื่อปีก่อนทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังรายนี้พึ่งร่วมเขียนบทความเกี่ยวกับ “สกุลเงินที่นำมาใช้ในการค้านี้ อาจจะถูกนำมาใช้เป็นสกุลเงินหลักในประเทศได้ด้วย”
จึงทำให้หลายคิดว่า แม้ในตอนแรกสกุลเงินที่มีความคิดจะสร้างนี้ยังถูกนำมาใช้แค่ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่มันก็มีโอกาสจะถูกนำมาใช้ในประเทศได้
โดยในบทความ ยังให้เหตุผลของการสร้างสกุลเงินร่วมกันในอเมริกาใต้ว่ามี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในภูมิภาคในการต่อรองกับประเทศอื่น ลดการพึ่งพิงสกุลเงินและจากต่างประเทศ เนื่องจากเห็นบทเรียนที่ยุโรปและสหรัฐฯ ใช้เครื่องมือทางด้านระบบการเงินโจมตีรัสเซีย การสร้างสกุลเงินในอเมริกาใต้ขึ้นมาก็จะลดการพึ่งพิงระบบจากประเทศอื่นนี้ได้
1
นอกจากนี้ นโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ยังมีส่วนให้ประเทศในอเมริกาใต้ผิดชำระหนี้หลายครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ตามความคิดของพวกเขาการสร้างสกุลเงินกลางขึ้นมาก็จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ตั้งคำถามเรื่องนี้เช่นกัน
📌 ฝั่งผู้ที่สงสัยต่อการสร้างสกุลเงินครั้งนี้
หลังจากแถลงการณ์ตอนต้น หนึ่งในผู้ที่แสดงความเคลือบแคลงสงสัยต่อการสร้างสกุลเงินร่วมกันครั้งนี้คือ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) “คุณเคนเนธ รอกอฟฟ์ (Kenneth Rogoff)” ที่ออกมาเปรียบเทียบว่า
“มันไม่ต่างจากการที่เอลซัลวาดอร์นำบิทคอยน์มาใช้เลย”
(It’s not far from El Salvador adopting Bitcoin)
1
อีกคนหนึ่งคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง “โอลิเวียร์ บล็องชาร์ด (Olivier Blanchard)” ที่พูดออกมาสั้นๆ ว่า “มันบ้ามาก (Insane)”
1
โดยหนึ่งในเหตุผลที่มาจากการยกมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเหตุผลแรกคือ บทเรียนจากการรวมตัวกันของประเทศในอเมริกาใต้ในอดีตไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
ตัวอย่างคือ ความพยายามรวมตัวทางการค้าของ 4 ประเทศในอเมริกาใต้ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ที่เรียกว่า “Mercosur” มีเป้าหมายเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีกันเอง ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 1991 แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เป้าหมายนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดี
และอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกหยิบขึ้นมา ก็คือ ความแตกต่างกันทางนโยบายและภาวะทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ
โดยปีที่ผ่านมาอาร์เจนตินามีอัตราเงินเฟ้อสูงมากกว่า 90% ในขณะที่บราซิลเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อ 5.8%
ความแตกต่างทางภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมของแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป แต่หากมีการสร้างสกุลเงินร่วมกัน เครื่องมือด้านนโยบายที่แต่ละประเทศใช้ได้ก็จะน้อยลงไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียมากกว่า
ยิ่งมีตัวอย่างจากกรณีของยูโรโซน ที่แม้จะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาและมีแนวโน้มเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างมาก สุดท้ายก็เกิดปัญหาใหญ่ได้เมื่อประเทศสมาชิกอย่างกรีซและอิตาลีมีปัญหาหนี้สาธารณะในช่วงทศวรรษ 2010
ซึ่งในตอนนั้นหากไม่มีการช่วยเหลือจากประเทศอื่นในสหภาพยุโรป ปัญหาก็อาจจะลุกลามต่อเนื่องและกลายเป็นวิกฤติที่หนักกว่านี้ และหากคิดว่าสถานการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นในอเมริกาใต้บ้าง ก็ยากจะจินตนาการว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
ก็ต้องติดตามกันดูต่อไปว่าหลังจากนี้ทั้งสองประเทศจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไร และแนวคิดสกุลเงินร่วมกันจะออกมาได้จริงมากแค่ไหน ต้องรอติดตามกันครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Evaristo SA/AFP/Getty Images via CNN
โฆษณา