27 ม.ค. 2023 เวลา 07:14 • สุขภาพ

ประวัติหน้ากากอนามัยและหน้าประวัติศาสตร์ครั้งที่ไทยขาดแคลนหน้ากากเพราะโควิด-19

เพื่อนๆทราบมั้ยคะว่า กว่าจะมาเป็น "หน้ากากอนามัยทางการแพทย์" ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดและประวัติความเป็นมาอย่างไร ?
วันนี้เราเก็บเกร็ดประวัติมาฝากกันค่ะ
ย้อนอดีตไปราวๆร้อยกว่าปี หมอผ่าตัดเริ่มใส่หน้ากากครั้งแรกขณะผ่าตัด ซึ่งเดิมทีหมอผ่าตัดส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก จนกระทั่งเมื่อ 115 ปีก่อน นักเรียนแพทย์ที่นั่งอยู่ในมุมหนึ่งของห้องผ่าตัด มองเห็นภายใต้แสงไฟ ละอองน้ำลายของหมอผ่าตัด ขณะพูดกับหมอผู้ช่วย และพยาบาลส่งเครื่องมือ กระเด็นลงในแผลผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดติดเชื้อ หมอผ่าตัดทั่วโลกจึงเริ่มใส่หน้ากากกัน
โดยในสมัยนั้นหน้ากากทำด้วยผ้า ต่อมาโลกมีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปนไปทั่วโลก ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เดือน ต.ค.2461 สิ้นสุด มี.ค.2462 ราว 2 ล้าน 3 แสนคน เสียชีวิตประมาณ 8 หมื่นราย จากพลเมืองสยามเวลานั้น มีทั้งหมด 8 ล้าน 4 แสนคน ป่วยทั้งประเทศ 27% ตายเกือบ 1% ช่วงนั้นผู้คนก็ใส่หน้ากากผ้ากันทั่วโลก
โดยในประเทศไทย หน้ากากอนามัยใช้กัน ครั้งแรกปี 2463 นอกจากจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ก็ยังมีการระบาดของวัณโรคร่วมด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้ทรงนิพนธ์บทความให้รู้วิธีป้องกันวัณโรคไม่ให้แพร่เชื้อไปติดคนอื่น เวลาไอจาม ต้องปิดปากด้วยผ้า มือเปื้อนต้องล้างมือ จุดประสงค์ของการใส่หน้ากากสมัยนั้นเพื่อป้องกันผู้อื่นมากกว่าเพื่อป้องกันตนเอง
สมัยก่อนที่โลกจะรู้จักกับไวรัสโควิด-19 คนที่ใส่หน้ากากในสมัยนั้น สังคมมักจะมองว่าคนผู้นั้นป่วย บางคนตั้งแง่รังเกียจ จึงต้องมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้มีจิตสำนึกว่าแม้จะไม่ป่วย การใส่หน้ากากอนามัยก็ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ วัณโรค หรือโรคติดเชื้อใหม่ที่อาจเกิดขึ้นใน อนาคต ให้ใส่หน้ากาก และล้างมือเมื่อมือเปื้อนน้ำมูกเสมหะ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม
จนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัว กลัวฝุ่นพิษ PM 2.5 เราจึงเห็นคนไทยใส่หน้ากากมากขึ้นอีกในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แต่จุดประสงค์ของการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตนเองจากการหายใจฝุ่นพิษเข้าร่างกาย การใส่หน้ากากจึงกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจอีกต่อไป
และเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด19 ร่วมด้วย การใส่หน้ากากจึงกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ซึ่งหากใครยังจำได้ในช่วงการระบาดของโควิดในช่วงแรก ประเทศไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัยเป็นอย่างมาก ทำให้มีราคาสูง
ในครั้งนั้นจำได้ว่าราคาหน้ากากอนามัยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จนกระทรวงพาณิชย์ต้องออกกฏเพื่อควบคุมราคาจำหน่ายให้ไม่เกินแผ่นละ 2.50 บาท อย่างไรก็ตามหน้ากากอนามัยก็ยังคงขาดแคลน
วิกฤติในครั้งนั้น ได้มีภาคธุรกิจหลายรายยื่นมือช่วยเหลือสังคม หนึ่งในนั้นคือเครือซีพี ที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม โดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประกาศสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และเพื่อคนไทย ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถผลิตหน้ากากอนามัยคุณภาพดี แจกถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้เปราะบางได้
โดยมีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรที่ดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยส่งต่อไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศ จนวิกฤติขาดแคลนหน้ากากเริ่มคลี่คลายและมีเพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน ซึ่งในระยะต่อมาทางซีพีก็ยังคงแจกจ่ายหน้ากากอนามัยฟรี ให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรการกุศล มูลนิธิ จิตอาสา ชุมชนแออัด คนพิการ โรงพยาบาลในชนบท โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และกลุ่มเปราะบาง อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันแจกไปแล้วกว่า 31 ล้านชิ้น
โฆษณา