28 ม.ค. 2023 เวลา 16:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ดาวหางสีเขียว เริ่มมองเห็นด้วยตาเปล่า เหนือฟ้าเมืองไทย สดร.แนะทิศชม

ดาวหางสีเขียว หรือ ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เริ่มมองเห็นด้วยตาเปล่าเหนือฟ้าเมืองไทย
วันที่ 28 มกราคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (ซีสองศูนย์สองสอง อีสาม แซดทีเอฟ) เริ่มมองเห็นด้วยตาเปล่าเหนือฟ้าเมืองไทย
นักดาราศาสตร์แนะนำให้ในพื้นที่มืดสนิท โดยติดตามชมได้ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏทางทิศเหนือ บริเวณกลุ่มดาวยีราฟ แนะชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มสังเกต ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่มืดสนิท ทางทิศเหนือ บริเวณกลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ตั้งแต่เวลาประมาณ 22:00 น.
ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุด (ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์) จะสังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนกระทั่งรุ่งสางก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันถัดไป และคาดว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย
ผู้สนใจสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่า ให้พยายามสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ หรือ ดาวดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น
หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์ จะช่วยยืนยันและเห็นดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อบันทึกภาพดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะสังเกตเห็นหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางดวงนี้ได้
ณ วันที่ 28 มกราคม 2566 ดาวหางได้ปรากฏหางให้เห็นจำนวน 3 หาง ได้แก่ “หางไอออน” มีลักษณะเป็นเส้นตรงและยาวที่สุด “หางฝุ่น” มีลักษณะฟุ้งเป็นแถบในทิศทางเดียวกับหางไอออน
และสุดท้ายคือ “Antitail” อยู่ในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะเริ่มสังเกตได้ยากขึ้น เนื่องจากหางชนิดนี้จะปรากฏให้เห็นในช่วงเวลาสั้นๆ เฉพาะช่วงที่ดาวหางโคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และโลกของเราโคจรผ่านหรือเข้าไปใกล้กับระนาบวงโคจรของดาวหางเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกมากขึ้น ผู้สังเกตการณ์บนโลกจึงอาจไม่สามารถสังเกตได้
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี มีผู้ค้นพบในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility
ช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3 ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง และเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีความสว่างปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ในขณะนี้
ชวนชม ดาวหางสีเขียว ด้วยตาเปล่า โคจรใกล้โลกครั้งแรกรอบ 5 หมื่นปี
โฆษณา