29 ม.ค. 2023 เวลา 03:53 • ถ่ายภาพ

ศิริพร พรมวงศ์

อาท ซี และโอ เป็นเด็กวัยรุ่นที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งไม่ไกลจากคลองเตยที่ซึ่งผมกำลังคุยกับแอ๋ม - ศิริพร พรมวงศ์ พวกเขากำลังเตรียมเครื่องดนตรีเพื่อที่จะไปเล่นในงานเย็นวันนี้ อาทเป็นเด็กชุมชนคลองเตยอายุราวๆ 14-15 ปี เขามีพัฒนาการค่อนข้างช้า ความจำไม่ค่อยดี ในวงดนตรีเขาเป็นมือกลองที่ฝึกเล่นด้วยตัวเองโดยการเปิดยูทูปทำความเข้าใจแล้วตีกลองตามด้วยความรู้สึก เพราะเขาไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน แยกมือซ้ายมือขวาไม่ได้
แม้บางทีเขาจะทำตามใจตัวเองไปบ้าง เช่นหยุดตีกลองเพื่อขยับแว่น หรือตีจบเพลงแล้วเดินลงจากเวทีโดยไม่รอเพื่อนๆ แต่ตอนนี้เขาเป็นมือกลองตัวหลักของวงที่ไว้ใจได้ ซีเป็นมือกีตาร์ โอเป็นมือเบส ทั้ง 2 เป็นชาวมอญ อายุราวๆ 17-18 ปีที่ตามครูแอ๋มมาฝึกดนตรีที่นี่และช่วยงานสอนดนตรีให้เด็กรุ่นเล็ก ทั้งสองคนมีชีวิตความเป็นมาที่ค่อนข้างลำบากลำบนและผ่านความเลวร้ายของสังคมหลากหลายแต่ไม่สามารถเล่าให้ฟังในที่นี้ได้
อย่างไรก็ตามพวกเขาเป็น 3 ในวงดนตรี 7 คนที่กำลังมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยดนตรี จากการช่วยเหลือของแอ๋ม - ครูสาวที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาด้วยดนตรี และเพื่อนๆ อาสาสมัครที่ทำงานในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Music Sharing”
กระนั้นดนตรีเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ที่ครูแอ๋มใช้เพื่อที่จะนำพาเด็กๆ ไปสู่ทางเลือกของชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบันของพวกเขา
แอ๋มเป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคที่โรงพยาบาลวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เธอใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล กระทั่งเดินทางมาเรียนต่อพยาบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดล แม่เป็นช่างเย็บผ้าทำงานที่บ้าน ซึ่งชีวิตวัยเด็กของเธอห้อมล้อมไปด้วย ‘พี่-น้อง’ ซึ่งแม่รับมาเลี้ยงจากญาติที่ครอบครัวมีปัญหา เธอบอกว่าแม่เป็นคนขี้สงสาร จึงช่วยดูแลลูกๆ ของญาติๆ ที่มีปัญหา แม่เลี้ยงลูกคนอื่นเหมือนลูกตัวเอง ส่งเสียให้เรียน สอนให้อ่านหนังสือ จนจบปริญญาตรีและมีงานทำกันทุกคน ในวัยเด็กแอ๋มจึงอยู่กับเด็กๆ เต็มบ้าน
“ตอนเด็กๆ เรารู้ว่าพ่อเป็นกลุ่มพนักงานระดับล่างของโรงพยาบาล ไม่ได้มีฐานะอะไร เราเคยรู้สึกว่าทำไมเวลาคนอื่นไปเที่ยว ไปงานกาชาดถึงมีรถขับ แต่ที่บ้านเราไม่มีอะไรแบบนั้น เราอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตของครอบครัวดีขึ้น และให้ทุกคนดีขึ้นด้วย ตอนเป็นเด็ก พ่อแม่อยากให้เรียนพยาบาล หมอ หรือเภสัช แต่เราไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร ตอนเรียนอยู่มัธยมเคยมีความคิดว่าอยากเรียนสังคมสงเคราะห์ เพราะรู้สึกสนใจเรื่องเด็ก พ่อบอกว่าเป็นพยาบาลก็ช่วยคนได้” แอ๋มจึงเข้าเรียนพยาบาลตามคำแนะนำของพ่อ
ขณะเป็นวัยรุ่นเรียนพยาบาลที่มหาวิทยาลัยมหิดล แอ๋มคลุกคลีอยู่กับการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา สิ่งแวดล้อม การเมือง และสังคม ซึ่งทำงานผ่านบทกวีและเสียงเพลง 2สิ่งนี้ดึงดูดแอ๋มเข้าไปในสังคมอุดมคติตามแบบอย่างของ ‘กลุ่มสลึง’ รุ่นพี่แพทย์และพยาบาลที่มีอุดมการณ์ปรารถนาสังคมที่ดีตั้งแต่ประชาธิปไตยเบ่งบาน 40 กว่าปีก่อน หลังเรียนจบพยาบาล หญิงสาวใช้เวลาเพียงปีเดียวในการทำงานเป็นพยาบาลฝึกหัดอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วจึงลาออกหันมาทำงานกิจกรรมกับเยาวชน
แอ๋มหญิงสาวร่างบอบบางแต่แกร่ง ใครๆ ก็สังเกตได้จากดวงตาอันแจ่มใสของเธอ เธอเริ่มงานด้วยการทำงานกับเด็กชาวม้งตั้งแต่ปี 2550 แล้วขึ้นดอยตามไปทำกิจกรรมดนตรีในหมู่บ้านชาวม้งในเขตจังหวัดน่าน อดีตพื้นที่สีแดงของนักศึกษาและผู้ร่วมอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมยุคปี 2519 โดยมีจิ้น กรรมาชนเป็นตัวตั้ง
เมื่อคิดว่าอยากสอนดนตรี แอ๋มจึงประกาศรับบริจาคเครื่องดนตรีผ่านโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าจะมีเครื่องดนตรีเพียงพอไปสอนเด็กๆ แต่ปรากฏว่ามีผู้ร่วมบริจาคจำนวนมาก มากเกินกว่าจะใช้ในพื้นที่ที่ตั้งใจไว้ แอ๋มและอาสาสมัครจึงตัดสินใจนำเครื่องดนตรีจำนวนที่เหลือมาบริจาคให้ชุมชนคลองเตยในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอมีเพื่อนทำงานอยู่ก่อนแล้ว ทางชุมชนรับไว้ด้วยความยินดีและบอกว่าเมื่อมีเครื่องดนตรีแล้ว เรายังต้องการครูสอนดนตรีด้วย มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้แอ๋มกลายเป็นครูที่ชุมชนคลองเตยนับแต่วันนั้น
“เราเริ่มต้นด้วยการอยากช่วยเด็กๆ โดยไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องเป็นกลุ่ม องค์กร หรือมูลนิธิ มีอะไรทำได้เราก็ทำไปในหมู่เพื่อน พอทำไปเรื่อยสิ่งต่างๆ มันก็มีสิ่งอื่นเข้ามาให้เราทำต่อ จึงกลายเป็นลักษณะเลยตามเลย ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้เกิดจากการวางแผน ในช่วงแรกทุกคนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครทั้งหมด ช่วยกันสอนเด็กทุกวันเสาร์ พอเราเริ่มลงมือทำก็เริ่มผูกพัน
เราชื่นชมกลุ่ม Playing for Change เราชอบองค์กรนี้ เขาทำงานเรื่องดนตรีกับเด็กทั่วโลก เรามีเขาเป็นแรงบันดาลใจ พอพวกเขามาเมืองไทย เราก็ได้เจอกัน เขาก็สนับสนุนกิจกรรมของเรา” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงกระจ่างชัด
ปัญหาของเด็กชาวเขาหรือในถิ่นทุรกันดารมันก็มีอยู่แต่เมื่อเทียบกับเด็กในชุมชนคลองเตยแล้วปัญหาซับซ้อนกว่ากันมาก ที่คลองเตยเป็นวิกฤตที่ซับซ้อนเกี่ยวพันกันของหลายปัญหา เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความยากจน ยาเสพติด และเรื่องเพศ
เช่นเยาวชนในชุมชนคลองเตยจะมีความรับรู้เรื่องทางเพศเร็วกว่าเด็กที่อื่น เข้าสู่ภาวะมีเพศสัมพันธ์เร็ว มีลูกโดยไม่วางแผน ทำให้ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูก ซึ่งความไม่พร้อมนี้มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ยากจนหรือเกี่ยวพันกับเสพยาเสพติด ทำให้ต้องส่งเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ เป็นวงจรแบบนี้ และในชุมชนมีวัฒนธรรมการใช้ความรุนเเรง คำพูดรุนแรง การใช้กำลัง เด็กเกิดการเรียนรู้และทำซ้ำจนเป็นความเคยชิน
“การเข้าไปช่วยเด็กที่คลองเตย ทำให้เขาหลุดจากปัญหาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน”
“สิ่งที่เด็กต้องการคือความรัก ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย ต้องการคนที่ฟังเขา ซึ่งทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ดนตรีเป็นเพียงเครื่องมือ เด็กบางคนไม่ใช่แค่อยากมาเล่นดนตรี แต่เขารู้สึกอยากจะมาใช้เวลาร่วมกัน มีพื้นที่ที่เขาสามารถถูกยอมรับ แต่ดนตรีก็บำบัดสำหรับบางคน ซึ่งการใช้เวลากับดนตรีสามารถช่วยให้เขาก้าวข้ามปัญหาชีวิตไปได้ หรือคลี่คลายปัญหาบางเรื่อง” ครูสาวเล่า
แอ๋มยกตัวอย่างกรณีณัฐ มือกีตาร์ฝีมือดี เมื่อก่อนติดเกม ชอบลักขโมยของ และเป็นสมาชิกแก๊งหนึ่งในคลองเตย พ่อเสียชีวิตไปแล้ว พี่ชายติดคุกจากคดียาเสพติด แม่ขายของเล็กๆ น้อยๆ ณัฐมาเรียนดนตรีกับครูแอ๋ม แล้วพบว่าเขาชอบเล่นดนตรี อยากทำงานเป็นนักดนตรี
เมื่อมีเวลาว่างเขาซ้อมดนตรีสม่ำเสมอแทนการเล่นเกม ตอนนี้ฝีมือเขาพัฒนาไปมาก แอ๋มเล่าว่าณัฐเคยมาปรึกษาว่าอยากลาออกจากโรงเรียน เพราะอยากทำงานหาเงินช่วยแม่ แต่สุดท้ายเมื่อได้คุยกัน เด็กหนุ่มบอกว่าอยากเรียนต่อแล้วทำงานไปด้วย แอ๋มจึงช่วยหาทุนการเรียนให้และหางานดนตรีให้หนุ่มมือกีตาร์รับงานไปด้วย
นอกจากดนตรีแล้วการเดินทางก็เป็นเครื่องมือในการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่อยู่ในชุมชน แอ๋มมักจัดให้มีการเดินทางอยู่เสมอ เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มเยาวชนเข้าด้วยกัน เด็กจากคลองเตยไปช่วยเด็กชาวดอยบ้าง เด็กจากคลองเตยไปช่วยสอนดนตรีเด็กในสถานพินิจบ้าง ซึ่งการเดินทางทำให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกที่อยู่นอกเหนือไปจากปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัญหาอันซับซ้อนของพวกเขา และการเห็นโลกภายนอกทำให้เขามีทางเลือกในชีวิต
“เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ อาสาสมัครที่ทำงานกับเด็กอายุใกล้เคียงกัน ปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อน เป็นครอบครัว ไม่ใช่มูลนิธิ หรือครู ในวัยหนึ่งเขาต้องเลือกกลุ่มที่ทำให้เขาไว้ใจ มีตัวตน ให้ความมั่นใจกับเขา เขาก็จะอยู่ที่นั่น เราเองก็ไม่ได้ช่วยให้เขาเลือก แต่เราสร้างประสบการณ์ร่วมและเปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น ให้เขารู้จักที่อื่นๆ ให้เขามีโอกาสก้าวออกไปจากคลองเตย”
“เล่าให้ฟังเขาไม่รู้หรอกหรือสอนเขาก็ไม่เข้าใจ ต้องให้เขาเห็นด้วยตัวเอง ให้เขาได้สัมผัสจากประสบการณ์ด้านในของเขาเอง การเดินทางทำให้เขาเติบโต ไม่ต้องบอกด้วยซ้ำว่าอะไรดีไม่ดี เขารับรู้ได้เอง ใจเขาจะแข็งแรง เขาจะรู้สึกเองเมื่อเห็นโลกกว้างขึ้นว่าเขาอยากมีชีวิตแบบไหน” ผมชอบที่แอ๋มสรุปประโยคนี้ให้ฟัง หลังจากทำงานกับเยาวชนมา 7 ปี
“เขาจะรู้สึกเองเมื่อเห็นโลกกว้างขึ้นว่าเขาอยากมีชีวิตแบบไหน”
แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ต้องให้บางคนพบเจอกับปัญหาที่เขาแก้ไม่ได้จนถึงที่สุด ก่อนที่พวกเขาจะดึงตัวเองขึ้นมาจากกับดักของชีวิต ครูสาวซึ่งพบเจอปัญหามาหลากหลายรูปแบบสรุปบทเรียนว่า บางทีต้องปล่อยให้เขาก้าวพลาดจนถึงที่สุดแล้วกลับมาหาเรา เราก็ต้องใจกว้างพอที่จะรับเขากลับมา เพราะเราห้ามไม่ได้ เราต้องกล้าหาญพอที่จะปล่อยให้เขามีประสบการณ์ด้วยตัวเอง
เขามีสิทธิก้าวพลาดได้ตลอดเวลา แม้ว่าเราจะรู้ว่าเขาจะต้องพบเจออะไรบ้างหากเขาเลือกเดินทางนั้น บางคนอาจจะต้องไปติดคุก ท้อง หรือออกจากโรงเรียน แต่เมื่อเขากลับมา เราก็ควรจะต้อนรับเขา - ให้โอกาสเขา
ผมพบนักเรียนดนตรีรุ่นเล็ก อายุราวๆ 7-10 ปี เช่น เขียว เตี้ย อาย และปาล์ม ที่ตรอกโรงหมูซึ่งเคยเป็นโรงฆ่าสัตว์เก่าในชุมชนคลองเตย แอ๋มและอาสาสมัครทั้งครูและศิลปินช่วยกันปรับพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้าน และหมาจร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ สอนศิลปะ เป็นสนามเด็กเล่น และลานกีฬา
นอกจากอาสาสมัครและเพื่อนๆที่ช่วยกันอยู่ในเครือข่ายแล้ว ยังมีบริษัทต่างๆ มาช่วยปรับปรุงพื้นที่ ครูสาวบอกว่า ‘เราต้องยืนอยู่ในจุดหนึ่งนานพอและเราต้องดื้อพอควร เขาจึงจะเห็นเรา’ ทรัพยากรและความปรารถนาดีที่ถูกส่งมาจึงเปลี่ยนพื้นที่ที่ค่อนข้างปิดและน่ากลัวให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
“ตอนนี้นอกจากดนตรีเราสอนอีกหลายวิชา เรากำลังวางแผนกันว่าอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะเราพบว่าเด็กบางคนไม่ได้ไปโรงเรียน อย่างเช่น เตี้ย เขียว อาย เป็นพี่น้องกัน ซึ่งพ่อแม่เขามีลูกทั้งหมด 7 คน เพราะครอบครัวเขามีปัญหาซ้ำซ้อนอย่างที่เล่าให้ฟัง เราคิดว่าถ้าเราสอนเด็กแล้วเขาได้วุฒิการศึกษาด้วยก็น่าจะดี คล้ายๆ โฮมสคูล” เธอวาดโปรเจคใหม่ให้ฟัง
ผมย้อนนึกไปถึงสิ่งที่แอ๋มบอกไว้ตอนต้นว่า “มีอะไรทำได้ก็ทำไปในหมู่เพื่อน พอทำไปเรื่อยสิ่งต่างๆ มันก็เข้ามาให้ทำต่อ จึงกลายเป็นลักษณะเลยตามเลย ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่”
“เธอไปเอาความกล้าหาญแบบนี้มาจากไหน” ผมถามหญิงสาว
“อาจจะเป็นแม่ก็ได้นะ แม่สอนโดยทำให้เห็นว่าการช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากอะไร การช่วยคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้คิดว่าได้บุญ ได้กุศล หรือเพื่อมนุษยธรรมอะไร
เพราะวัฒนธรรมของครอบครัวคือการช่วยคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แม่ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าไป ให้เด็กอ่านหนังสือไป สั่งสอนให้ทำงาน เราก็เลยชินกับเรื่องนี้ เรากับเด็กๆ ลูกป้า ลูกน้า ลูกอา ที่แม่เลี้ยงก็เหมือนพี่น้องกันจริงๆ มันก็ไม่ได้ลำบาก ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร การช่วยเหลือคนอื่นสำหรับแม่เป็นเรื่องปกติ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่เหมือนมีรอยยิ้มติดมาด้วย พร้อมกับดวงตากระจ่างใสเหมือนกระจกที่มองตรงมา
“เราไม่ได้มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ถ้าเราทำให้ใครสักคนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ มันก็น่าจะดีเพียงพอแล้ว”
ศิริพร พรมวงศ์ | ครู
MUSIC SHARING
Rolleiflex
Black and White Negative Film
*เผยแพร่ครั้งแรกที่ Bright Side of the Moon ใน The Momentum : www.themomentum.co
อ่านความเรียงอื่นๆ ได้ที่
โฆษณา