31 ม.ค. 2023 เวลา 03:47 • ข่าว

ยาบ้า 1 เม็ด = อาชญากร สำรวจถ้อยคำ ‘อนุทิน’ และกฏหมายไทย

สรุปปราศรัย ‘อนุทิน’ และสำรวจกฏหมายไทย เมื่อยาบ้า 1 เม็ด = อาชญากร
1. 29 มกราคม ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปราศรัยหาเสียงและประกาศนโยบายหลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดด้วยการเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น ผู้ใดครอบครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด ให้ถือเป็นผู้ค้าทันที และเตรียมลงนามเพื่อแก้กฏหมายเร็วๆ นี้
2. ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายยาเสพติดของไทย 2564 ได้เปลี่ยนแนวคิดจากการทำสงครามยาเสพติด มาเป็นการใช้วิธีทางสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหาผู้เสพยา ด้วยกระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ ผู้เสพที่สมัครใจบำบัดจนเสร็จสิ้นจะไม่มีประวัติอาชญากร โดยกำหนดว่า การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ด ถือเป็น ‘ผู้เสพหรือผู้ป่วย’
3. การเปลี่ยนแนวคิดของกฏหมายเสพติดของไทย สอดคล้องกับสถิติหลายชุด เช่น ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ (1 มกราคม 2566) ระบุว่า มีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากถึง 206,361 ราย คิดเป็น 78.67 % ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด (บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด ) จำนวน 170,860 ราย
4. หากเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2551 จะพบว่า ขณะนั้นมีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 100,015 ราย คิดเป็น 54.94% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีนักโทษเด็ดขาดเพียง 72,963 ราย จะเห็นได้ว่าผ่านมา 15 ปี มีนักโทษคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
5. การที่นักโทษคดียาเสพติดล้นเรือนจำ สิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ข้อมูลจาก ระบุถึงว่า งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลผู้ต้องขังในปี 2564 อยู่ที่ 14,196 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในปี 2564 อยู่ที่ 3,128 ล้านบาท สะท้อนการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม
6. ข้อมูลการดูแลนักโทษในปี 2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ระบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขัง ปี 2563 ระบุว่า ต้นทุนที่ใช้กับผู้ต้องขังคดียาเสพติดหนึ่งคน คือ 44,511 และ 46,771 บาท
7. มากกว่านั้น สถานการณ์ยาเสพติดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2564 มีการจับกุมเมทแอมเฟตามีนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในสัดส่วนถึงร้อยละ 88 ของการจับกุมในภูมิภาคฯ โดยประเทศไทยมีสถิติการจับยึดเมทแอมเฟตามีนได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
8. เมื่อการใช้ไม้แข็งแก้ปัญหายาเสพ ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้จำนวนคดียาเสพติดลดลง ทำให้หลายประเทศพยายามปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ประเทศโปรตุเกส ที่เคยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับประเทศไทย จนในปี 2544 รัฐบาลโปรตุเกส
โดยออกบทบัญญัติให้การเสพและครอบครองยาเสพติดทุกชนิดไม่เป็นความผิดอาญา หากเป็นการใช้ส่วนตัวและไม่เกินปริมาณที่รัฐกำหนด (แต่ถือว่ายังผิดกฎหมายทางปกครอง) แนวคิดนี้สวนทางกับความรู้สึกของนักกำหนดนโยบายยาเสพติดบางกลุ่มที่เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะทำให้ปัญหายาเสพติดในประเทศโปรตุเกสเพิ่มมากขึ้น
9. แต่จากรายงานหลายฉบับพบว่า หลังจากใช้กฎหมายฉบับนี้จำนวนผู้ติดยาลดลง รวมทั้งยังมี ผลพลอยได้จากอัตราการลดลงของการใช้ยาเกินขนาด การติดเชื้อเอชไอวี เชื้อเอดส์และไวรัสบีจากการใช้เข็ม ฉีดยาร่วมกัน ซึ่งกรณีศึกษากฎหมายยาเสพติดของประเทศโปรตุเกสเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างไรมาก
โฆษณา