31 ม.ค. 2023 เวลา 08:01 • ข่าว

เครือ CP ผนึกรัฐบาลจีน ความมั่นคง-มั่งคั่ง สายสัมพันธ์ที่แท้ TRUE

ความสัมพันธ์ระหว่างเครือธุรกิจ CP ไทยและรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นที่กล่าวขานและกังขากันอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ยิ่งโดยเฉพาะช่วงเวลาที่บรรยากาศความเกลียดกลัวจีน (Sinophobia) กำลังคุกรุ่นอบอวลในกลุ่มเยาวชนไทยอายุระหว่าง 18-35 ปี ตามกระแสของพันธมิตรชานม (Milk-Tea Alliance) และแนวทางนโยบายต่างประเทศของจีนที่เน้นความแข็งกร้าวบนเวทีโลกมากขึ้นโดยไม่สนใจบรรทัดฐานของสังคมการเมืองระหว่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ การที่โลกออนไลน์เกิดความแตกตื่นกับประเด็นที่บริษัท China Mobile International (CMI) ของจีน เข้าถือหุ้นใน TRUE ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ CP ถึงกว่า 4,400 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 13 จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวนี้ไม่สู้จะเป็นเรื่องใหม่สักเท่าไรนักจากสายตาของนักลงทุน และผู้ที่สนใจประเด็นทางด้านความมั่นคง/ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งทางฝั่งเครือ CP เองก็มิได้ปิดบังแต่อย่างใด อีกทั้งยังปล่อยให้เรื่องนี้ปรากฏสู่สาธารณะมาตั้งแต่ประมาณ 10 ปีที่แล้ว
ย้อนกลับไปก่อนที่ไวรัส Covid-19 จะระบาด TRUE ยังเคยจัดทัศนศึกษาพาคณะสื่อมวลชนไปดูการสาธิตการใช้งาน 5G ที่เมืองจีน โดย TRUE เป็นบริษัทโทรคมนาคมเพียงรายเดียวในตลาดขณะนั้นที่ยังไม่มีพันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศ (foreign partner) จึงแสดงเจตจำนงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนกันมาขยายฐานลูกค้าและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน
ฉะนั้น หากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ประเด็นที่ว่าจีนจะเป็นผู้ถือหุ้นหลักหรือถือหุ้นรองใน TRUE นั้น จึงไม่สำคัญสำหรับสาธารณชนเท่ากับประเด็นที่ว่า เครือ CP มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนลึกซึ้งแค่ไหน ถึงสามารถโน้มน้าวให้หนึ่งในบริษัทด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ และมีลูกค้ามากที่สุดในโลกอย่าง CMI ตัดสินใจมาลงทุนกับ TRUE ได้ รวมไปถึงอีกประเด็นที่น่าสนใจกว่า คือ มีกรณีในลักษณะคล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับบริษัทอื่นๆ ในเครือของ CP ด้วยหรือไม่
คำตอบคือมีอย่างแน่นอน และสามารถสืบค้นได้ไม่ยาก ดังกรณีที่รัฐวิสาหกิจจีนอย่าง SAIC Motor เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ MG ร่วมกับ CP และกรณีที่ CP ตั้งกิจการร่วมค้า (Consortium) เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน โดยมีรัฐวิสาหกิจจีนอย่าง China Railway Construction Corporation ร่วมเป็นพันธมิตร
นอกจากนี้ หากเปิดดูพอร์ตผลงานของบริษัทในเครือ หรือเว็บไซต์ทางการของ CP ก็จะเห็นได้ถึงความภาคภูมิใจในการนำเสนอว่าตนเป็นบริษัทข้ามชาติรายแรกที่สามารถเข้าไปลงทุนในจีน ช่วงที่ท่านผู้นำ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) พยายามจะเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจระหว่างทศวรรษ 1970-1980 อีกทั้งยังได้รับโอกาสให้เข้าไปจดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้นที่กวางตุ้ง ในชื่อ Chia Tai Investment (CTI) เป็นรายแรกอีกด้วย
กล่าวได้ว่า CTI ทำการค้าขายครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร ค้าปลีก ยานยนต์ ไปจนถึงการเงิน ซึ่งการนำเงินมหาศาลเข้าไปลงทุนในช่วงที่จีนยังอยู่ในระยะก่อร่างสร้างตัวทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกยุคสงครามเย็นนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ที่นับระยะเวลารวมๆ แล้วกว่า 40 ปี ระหว่าง CP และรัฐบาลจีนค่อยๆ ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ CP กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในตลาดอุตสาหกรรมอาหารที่จีน สามารถทำรายได้ไปกว่าร้อยละ 40 หากประเมินจากสัดส่วนยอดขายรวมของเครือ CP ทั่วโลก
หลังจากที่ CTI ไปเปิดตลาดอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้นได้ไม่นาน ทาง CP ก็ขยายขอบเขตทางการค้าไปยังเหอหนานเพื่อตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ Dayang ในนามของบริษัท Luoyang Northern Ek Chor Motorcycle แล้วอีก 5 ปีถัดมา ก็ได้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Lotus Supercenter) เข้าไปที่เซี่ยงไฮ้ โดยสามารถเพิ่มสาขามากขึ้นกว่า 70 แห่ง ภายในระยะเวลาเพียง 2 ทศวรรษ
ทั้งนี้ นอกจาก Lotus Supercenter แล้ว CP ยังเป็นผู้ริเริ่มการสร้างศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกในจีนอย่าง Zhengda Super Brand Mall ภายใต้ชื่อบริษัท Shanghai Kinghill อีกด้วย
หากพิจารณาถึงจักรวาลทัศน์การเมืองจีนร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าเซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเหมือนสถานที่ฟูมฟัก ‘ว่าที่ผู้บริหารระดับสูง’ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตลอด ไม่ว่าจะ จู หยงจี (Zhu Rongji) เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และ หลี่ เฉียง (Li Qiang) ต่างเคยผ่านประสบการณ์บริหารเซี่ยงไฮ้มาแล้วทั้งนั้น การที่ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างเครือ CP จะมีโอกาสได้พบปะและมีความคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือการคาดเดา
อนึ่ง สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นดังกล่าวนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นที่นักธุรกิจเจ้าของเครือ CP นั้นได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนให้เข้าร่วมการประชุมพบปะภาครัฐ ภาคเอกชน ในฟอรัมขนาดใหญ่หลายครั้ง
ตั้งแต่การประชุมสภานักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลก (Congress of the China Federation of Overseas Chinese Entrepreneurs) ไปจนถึงการประชุม Boao Forum For Asia ที่ไหหลำ เพื่อพบปะพูดคุยและให้ข้อเสนอแนะต่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ไม่น้อยหน้านักธุรกิจข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ซึ่งในมุมหนึ่งก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจต่อชื่อเสียงของประเทศ เพราะมีนักธุรกิจไทยน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้ขึ้นไปร่วมเวทีใหญ่ระดับนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเรื่องความใกล้ชิดนี้ยังคงเป็นเรื่องข้อกังขาเกี่ยวกับรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปรากฏออกมาให้เห็นอยู่ตลอด โดยเฉพาะประเด็นที่พรรคพยายามแทรกแซงกลไกการบริหารงานของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
ในที่นี้ต้องไม่ลืมว่า CMI นั้นยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนอยู่ และหากการบริหารภายในยังเป็นไปตามธรรมเนียมและแบบแผนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ CMI จะมีเจ้าหน้าที่พรรคและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับโควต้าให้แฝงตัวเข้าไปทำงานในบริษัทแบบลับๆ เหมือนบริษัทอื่นๆ ในจีน เพื่อเป็นช่องทางให้พรรคสามารถกำกับดูแลทิศทางการบริหารงานภายในบริษัทให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลจีนได้อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะหากมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยที่ CMI ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของตนเข้ามาประจำการอยู่กับ TRUE ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาจริงๆ ตามที่ได้มีการประกาศเอาไว้ก่อนหน้า ก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่ากังวล
เนื่องจาก TRUE เป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ในไทย มีขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศ หากมีมาตรการที่ไม่รัดกุมมากเพียงพอ อาจกลายเป็นช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว (sensitive information) ของประชาชนไทยได้ในอนาคต
ความอ่อนไหวของข้อมูลดังว่านั้น อาจไม่ใช่การถูกจารกรรมข้อมูลทางการเงินไปเสียทีเดียว แต่อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงการเมืองระหว่างประเทศ (subversion) เช่น การติดตามกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองชาวฮ่องกงในไทย หรือความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทางการเมืองไทยที่ติดต่อกับกลุ่มพันธมิตรชานม เป็นต้น
เรื่องความมั่นคงนี้เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร และมีกรณีที่น่าขบคิดคือ ปี 2022 ที่ผ่านมา ทางการไทยเองก็เพิ่งจะถูกตำหนิจากหน่วยข่าวกรองไต้หวันไปหมาดๆ เพราะมีประเด็นที่ระบบรักษาความปลอดภัย (surveillance technology) ในท่าอากาศยานแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งใช้บริการของ Huawei Technologies แต่ขาดความรัดกุมในการเก็บรักษาฐานข้อมูล จนทำให้รัฐบาลจีนนำภาพของผู้บริหารหน่วยข่าวกรองไต้หวันขณะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จนส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในบางระดับได้
โฆษณา