1 ก.พ. 2023 เวลา 10:54 • ข่าว

[On This Day] ครบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมา

ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์รัฐประหารเมียนมา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จากการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี และเริ่มต้นยุคสมัยแห่งการเข่นฆ่าผู้เห็นต่าง ภายใต้การปกครองของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย
ย้อนกลับไปในปี 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ที่มีนางอองซานซูจี เป็นผู้นำคนสำคัญ ชนะการเลือกตั้งและครองเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จ สร้างความไม่พอใจให้แก่ ‘ตะมะดอ’ หรือกองทัพเมียนมา เนื่องจากหวั่นเกรงว่าบทบาทอำนาจนำและผลประโยชน์ที่สั่งสมมาหลายสิบปีอาจถูกแย่งชิงได้ นำมาสู่การก่อรัฐประหารโดย พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ภายใต้ข้ออ้างว่าการเลือกตั้งปี 2563 เป็นการเลือกตั้งสกปรก
หลังจากนั้นเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเผด็จการเมียนมาโดยประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ทว่าการต่อสู้ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงภายในประเทศ เมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวจำนวนมากมีข้อครหาว่า กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ในไทยยังคงทำธุรกิจกับรัฐบาลเมียนมา จนทำให้รัฐบาลและกองทัพมีเงินจัดซื้ออาวุธกลับมาเข่นฆ่าประชาชน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ‘Blood Money’ แคมเปญแบนบริษัทน้ำมันไทย ชาวเมียนมากล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยงเผด็จการ ปตท. ชี้แจง ไม่เกี่ยวข้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน waymagazine.org/blood-money-campaign/ )
ในปัจจุบันข้อครหาสำคัญยังไปไกลมากกว่าเรื่องการซื้อขายพลังงาน เมื่อพบว่ากลุ่มทุนและรัฐบาลของหลายประเทศมีส่วนในการจัดหาอาวุธให้แก่กองทัพเมียนมา ซึ่งบริษัทระดับโลกเหล่านี้ยังคงไม่มีการให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด (อ่านต่อได้ที่: ค้าความตายข้ามชาติ บริษัทค้าอาวุธในประเทศชั้นนำ สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่เผด็จการเมียนมา https://www.facebook.com/129528621455/posts/10158861508096456/?mibextid=cr9u03)
นอกจากนี้ การที่ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย มีศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ทำเกิดข้อครหาว่า สายสัมพันธ์ระหว่างผู้นำระดับสูงของเมียนมาและไทยมีส่วนที่ทำให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมามีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควร ทั้งจากประเทศไทยเองและประเทศสมาชิกในอาเซียน (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่: เมธา มาสขาว: ความสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย-เมียนมา บนซากปรักหักพังของหลักสิทธิมนุษยชน https://waymagazine.org/interview-metha-matkhao/)
ตัวเลข ณ ปัจจุบัน มีประชาชนชาวเมียนมาเสียชีวิตกว่า 19,000 คน ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานอีกกว่า 1.2 ล้านคน และต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกกว่า 70,000 คน
ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมอาชญากรรมอื่นๆ ที่กองทัพเมียนมาฉวยโอกาสกระทำในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เช่น การซ้อมทรมาน ข่มขืน และจี้ปล้น
โฆษณา