2 ก.พ. 2023 เวลา 11:26 • หนังสือ

นิดา

นามปากกาของ ‘ปราศรัย รัชไชยบุญ’ ที่นักอ่านชื่นชอบผลงานแปลนวนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ หรือนวนิยายแนวโมเดิร์นร่วมสมัยจากนักเขียนยอดนิยมในอดีตอย่าง แฮโรลด์ ร็อบบินส์ มาอย่างยาวนานเกือบห้าสิบปี
เช่นเดียวกับนักเขียนท่านอื่นๆ ที่มีนิสัยรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ‘นิดา’ เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านตัวยง ตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินี วีรกรรมสนุกๆ ของท่านและเพื่อนๆ นักเรียนประจำสมัยนั้น ได้ถูก ‘กฤษณา อโศกสิน’ รุ่นน้องในแก๊งเดียวกัน บันทึกเอาไว้และนำมาเล่าอย่างสนุกสนานในผลงานที่ชื่อ ‘น้ำท่วมเมฆ’ ซึ่งหนึ่งในวีรกรรมของแก๊งนี้ คือการแอบอ่านนิยายทั้งในและนอกห้องเรียน โดยนิยายที่อ่านนั้นมีทั้งที่แอบเอามากันเองจากที่บ้าน และจากห้องสมุดโรงเรียน
‘นิดา’ เริ่มต้นจากการอ่านผลงานของนักเขียนไทยอย่าง ดอกไม้สด อ.อรรถจินดา รวมถึง ป.อินทรปาลิต ที่เจ้าตัวชื่นชอบที่สุด ตะลุยอ่านไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิกของฝรั่ง ทั้งของ ชาร์ล็อตต์ บรอนเต ไปจนถึง ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เริ่มจากวรรณกรรมคลาสสิก เจน แอร์ เป็นเรื่องแรกตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี
หลังจากจบการศึกษามัธยมศึกษาปลายแล้ว ‘นิดา’ ไม่ได้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ออกมาทำงานในบริษัทฝรั่งด้วยความชำนาญในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษ รวมถึงการทำงานในสถานทูตออสเตรเลียอยู่นานถึง 23 ปี และที่สถานทูตนี้เองที่ทำให้อาชีพนักแปลของท่านได้เริ่มต้นขึ้น
‘นิดา’ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนนั้น...จะมีแก๊งเพื่อนที่ทำงานอยู่ละแวกนั้นประมาณสิบคน รับประทานอาหารกลางวันด้วยกันทุกวัน และเรื่องพูดคุยบนโต๊ะอาหารก็หนีไม่พ้นหนังสือหรือนิยายภาษาอังกฤษที่ผลัดเวียนกันอ่าน คนที่ไม่ชอบอ่านภาษาอังกฤษ ก็จะไม่อ่าน แต่คอยให้ท่านเล่าเรื่องให้ฟังว่าไปถึงไหนแล้ว
ความที่ขี้เกียจเล่า ท่านเลยใช้วิธีพิมพ์เอา เพราะมีเครื่องพิมพ์ดีดอยู่ที่โต๊ะทำงานอยู่แล้ว ทำงานไป แปลหนังสือไปให้เพื่อนอ่านทุกวัน วันละสองสามแผ่น ซึ่งกลายเป็นที่ติดใจของเพื่อนๆ จนต้องพิมพ์ต่อมาเรื่อยๆ จนสามารถรวมเล่มได้
และนั่นคือที่มาของผลงานแปลเรื่องแรก ‘คำสารภาพของมารีอังตัวแนตต์' ภายใต้นามปากกา 'นิดา' ซึ่งได้มาจากชื่อของบุตรสาวคนโต ลงตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารสตรีสารของท่านอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ซึ่งท่านให้สัมภาษณ์ต่ออย่างขำๆ ว่า “ตอนนั้นได้ค่าต้นฉบับ 8,000 บาท ดีใจเหมือนใจขาด นึกว่าต้องเอาไปจ้างเขาลง (หัวเราะ) พอได้เงินไปซื้อเพชรเลย พอเสร็จเรื่องแรก ก็มีงานแปลออกมาเรื่อยๆ ยังไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้"
ถึงจะเป็นผลงานแปลชิ้นแรก แต่ฝีมือการแปลของท่านนั้นก็สมบูรณ์แบบ ความงดงามในการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง ด้วยถ้อยคำและสำนวนที่ชวนอ่านของ ’นิดา’ การันตีได้จากการที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงแตกฉานทางด้านภาษาไทย ทรงประทับใจในการแปลที่คัดสรรเลือกคำราชาศัพท์มาใช้ได้อย่างถูกต้อง งดงาม ถึงกับทรงโทรศัพท์หาท่านบรรณาธิการ เพื่อทรงขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับผู้แปล และได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน ‘คำนิยม’ ในหน้าแรกเมื่องานชิ้นนี้พิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรก
‘ยิ่งอ่านยิ่งวางไม่ลง เพลิดเพลินขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว ทำให้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในวังอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะเรื่องราวในวังต่างๆ และถ้อยคำที่เจ้านายท่านตรัสกันก็ดี ไม่มีผิดเลย…นึกชมผู้แปลว่าแปลดีจริงๆ…จึงขอแสดงความยินดีด้วย…ทำให้มีหวังและกำลังใจว่าคำไทยคงจะยังไม่สูญเสียทีเดียว’
จากนั้น…นักอ่านก็ได้อ่านผลงานจากฝีมือการแปลของ ‘นิดา’ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแนวอิงประวัติศาสตร์อย่าง เจน เกรย์ ราชินีผู้ไร้มงกุฎ, แมรี่ สจ๊วร์ต ราชินีสองแผ่นดิน, แคทเธอรีน เด เมดิซี กฤตยาราชินี หรือในแนวอื่นๆ อย่าง ตามหัวใจไปสุดหล้า, มยุรารำแพน, ครั้งเดียวไม่เคยพอ และ โองการนรก ที่ล้วนแปลมาจากนักเขียนที่มีชื่อเสียงอย่าง บาร์บารา คาร์ทแลนด์, แฮโรลด์ ร็อบบินส์, เจมส์ แฮดลีย์-เชส และ แดเนียล สตีล
‘รักของอลิซะเบธ 1’ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แปลมาจากหนังสือชื่อ Gay Lord Robert ของ Jean Plaidy เรื่องราวความรักอันดำมืดของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซะเบธที่ 1 ของอังกฤษ ผู้ที่ทรงได้รับการขนานนามว่า ‘ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์’ หรือ Virgin Queen เนื่องจากไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสกับใคร หนังสือเล่มนี้รวมเล่มพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 โดยสำนักพิมพ์บำรุงสาส์น
พรุ่งนี้…3 กุมภาพันธ์ คล้ายวันเกิดของคุณปราศรัย รัชไชยบุญ นักประพันธ์และนักแปลสตรี ผู้ได้รับเกียรติยกย่องนักแปลอาวุโสดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ประจำปี พ.ศ. 2550 และเจ้าของรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2552 เลยขอนำผลงานของท่านมานำเสนออีกครั้งในวันนี้
ด้วยความชื่นชม เคารพรักและศรัทธา
………………………………………
โฆษณา