2 ก.พ. 2023 เวลา 15:36 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

[WATCH] Myanmar Film Nights 2023

แง้มสมุดบันทึกเพื่อนบ้าน ฝันยังไม่สมบูรณ์ ไฟปฏิวัติจึงยังไม่มอดดับ
เดินเลาะไปตามถนนเจริญนคร ร้านรวงติดไฟประดิษฐ์ส่งสัญญาณผลัดเปลี่ยนโมงยาม โปสเตอร์ผ้าฝ้ายเปื้อนภาพผีเสื้อแดงและตัวอักษร ‘Myanmar Film Nights 2023’ ห้อยประดับทางเดินขนาดกะทัดรัดระหว่างตึกคูหา
เราเดินเข้าไปโดยมีแมวส้มนำทาง มีแมวขาวลายดำเป็นพนักงานต้อนรับ เราพบใบหน้านายพลมิน อ่อง หล่าย บนกระดาษเขรอะๆ แนบไปกับพื้นราวแผ่นหินในสวน แมกไม้จำนวนพอเหมาะถูกจัดวางเพื่อกำหนดขอบเขตของลานโล่งเล็กๆ กลางถิ่นแถบกรุงธนบุรี
ผืนผ้าใบขนาดใหญ่ตั้งฉากกับพื้นคอนกรีต ผู้คนคลาคล่ำ อาหารต่างถิ่น สำเนียงแปลกหู เสื่อสาดถูกปูจับจองเป็นที่นั่งสำหรับเทศกาลภาพยนตร์สัญชาติเมียนมา ซึ่งเล่าเรื่องการต่อสู้ของประชาชนภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 หรือ 2 ปีที่แล้ว
ฟ้ามืด ไฟหรี่ลง จอหนังสว่าง ชาร้อนในมือ ยำทวายเต้นระริกในกระเพาะ สายตาทุกคู่จับจ้องพ้องกันที่ผ้าใบสี่เหลี่ยม
“ดีใจไหมที่ไม่มีขา” เด็กชายเอ่ย
“ดีใจไหมที่สวมหน้ากาก” ยักษ์ตอบด้วยคำถาม
“แม่บอกว่า เราถอดหน้ากากออกไม่ได้ในประเทศที่ห้ามเปล่งเสียง” เด็กชายว่า
“การปฏิวัติที่นายพูดถึงคงอีกนานกว่าจะสำเร็จ อย่าเอาชีวิตไปทิ้งในป่าเลย” เสียงหญิงสาวจากดาวรัฐประหารติดต่ออดีตคนรัก
ส่วนหนึ่งของบทสนทนาอันไม่ปะติดปะต่อจาก Belue Gadone (2022)
“ทำไมเธออยากเป็นผีเสื้อล่ะ”
“ฉันชอบที่หนอนหน้าตาอัปลักษณ์ กลายร่างเป็นผีเสื้อหลากสีสันได้”
หลังทหารครองอำนาจไม่นาน คนเมียนมาล้วนมีกลวิธีต่อสู้และต่อรองกับชีวิตของตนเอง ผลคือ พวกเขาหลายคนถูกจับตาและจับกุม
แม่พรากจากเรือน พ่อพรากจากลูก คู่รักเลิกรา ตำรวจบางรายละทิ้งเครื่องแบบ เสียงเคาะถ้วยชามรามไหปลุกคนที่หลับใหลคาจอซีรี่ส์ Big Bang Theory (2007-2019) คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าจับอาวุธแนบกาย บ้างหนีเข้าประเทศเพื่อนบ้านเพื่อฝากฝังชีวิตไว้กับโชคชะตาอันไม่เชื่อง
หลากหลายเส้นเรื่องยังค้างเติ่ง ไร้บทสรุป และการต่อสู้กำลังดำเนินต่อไปใน Myanmar Diaries (2022)
“ฉันสูบบุหรี่เยอะมาก”
“ทีแรกสูบเพราะอยากเท่”
“ตอนนี้สูบเพราะอยากสูบ”
“เขาว่าสูบแล้วจะหนีพ้น”
“แต่ฉันสูบทีไรก็หนีไม่พ้นซะที”
“ขณะที่หมู่บ้านในภูมิภาคซะไกง์กำลังถูกเผา”
“เรายังนั่งสูบบุหรี่กันอยู่ตรงนี้”
เธอคิดถึงบ้าน รู้สึกผิด และอ่อนล้า ในหมู่บ้านห่างไกลตามตะเข็บชายแดน เธอทำได้เพียงสร้างไดอะล็อกกับโลกเก่าที่ตายไปแล้ว นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทรำพึงใน My Lost Nation (2022)
“ฉันสักลาย ‘การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ’ ไว้บนไหล่”
“พวกมันจับหน้าอกฉันขณะพูดว่า ‘กล้าดียังไงถึงสักลายปฏิวัติ’”
“ที่บัดซบที่สุดคือ พวกมันถามฉันว่า ‘อยากเป็นนักปฏิวัติเหรอ’ ‘อยากจับปืนเหรอ’”
“พวกมันบอกว่า ‘อย่าจับปืนเลย มาจับค*ยกูดีกว่า’”
“พวกมันบอกว่า ถ้าอยากออกไปจากสถานที่ไต่สวน ให้นอนกับพวกมัน”
ทหารคิดผิดถนัดที่จะดับไฟปฏิวัติในใจเธอ เพราะเธอหนีจากขุมนรกสำเร็จ และด้วยหัวใจที่ไม่อาจบุบสลาย การปฏิวัติยังคงลุกโชนต่อไป นี่คือบทบันทึกคำให้การของเหยื่อใน The Red (2022)
ถัดจากการฉายภาพยนตร์ วงเสวนาเล็กๆ ถูกจัดขึ้นเพื่อทบทวน แลกเปลี่ยน และหาลู่ทางเดินต่อไปในโลกนอกจอหนังที่ความรุนแรงยังไม่มอดดับ
“พอครบรอบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมา สำนักข่าวหรือโซเชียลมีเดียจะพูดถึงประเด็นรัฐประหารในเมียนมาเยอะมากๆ แต่ที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเห็นโซเชียลมีเดียพูดถึงประเด็นความรุนแรงในเมียนมา ทั้งที่มันมีประเด็นตลอดและไม่เคยหยุดนิ่ง” ปานเว นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และศิลปินชาวเมียนมาที่อาศัยในไทย ตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรเพื่อให้ประเด็นเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงร่วมกันในสองสังคม
“ผมเข้าใจดีว่านักเคลื่อนไหวทั้งในไทยและเมียนมาต่างมีข้อจำกัด ตอนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องถอดบทเรียน
“เราถูกล้างสมองด้วยประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราไม่ชอบกัน แต่ในยุคนี้ เราสามารถมีประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนที่ทุกคนสามารถร่วมสร้างได้” ปานเวกล่าว
“สิ่งที่เราทำได้คือ อย่าปล่อยให้คนเมียนมาสู้อย่างเดียวดาย เรามีพี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาอยู่ในประเทศไทย เราจึงควรเป็นกำลังใจให้กันและกัน สู้ไปด้วยกันเพื่อให้ประชาธิปไตยทั้งในไทยและเมียนมากลับคืนมาในเร็ววัน” ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort องค์กรไม่แสวงผลกำไรและพื้นที่สำหรับนักสร้างการเปลี่ยนแปลง (changemakers) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์โรฮิงญาจนถึงการรัฐประหาร อาเซียนได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ถึงอย่างไร ในฐานะภาคประชาสังคม พุทธณีสรุปข้อเสนอ 4 ประการต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขวิกฤตรัฐประหารเมียนมา
หนึ่ง-รัฐบาลไทยไม่ควรผลักผู้ลี้ภัยกลับประเทศ และไม่ควรขัดขวางการทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขององค์กรภาคประชาสังคม สอง-รัฐบาลไทยควรออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา สาม-รัฐบาลไทยต้องยกเลิกข้อสงวนข้อที่ 22 ‘ไม่คุ้มครองผู้ลี้ภัยเด็ก’ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สี่-หากรัฐบาลไทยจะสมัครคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ไทยย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการแก้ไขวิกฤตในเมียนมาได้
“ไม่ว่าจะสู้กับเผด็จการประเทศไหน เราสู้กับปิศาจตัวเดียวกันอยู่ ถ้าประเทศหนึ่งบรรลุประชาธิปไตยได้ อีกประเทศหนึ่งก็จะบรรลุได้เช่นกัน ดังนั้น เราต้องจับมือกันให้แน่นยิ่งกว่าเดิม ให้แน่นยิ่งกว่าเผด็จการจับมือกันเอง” เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรม
สารจากภาพยนตร์ก็ดี หรือสารจากวงเสวนาก็ดี ไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงเชื้อไฟในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยังเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่ง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากเส้นสมมุติรัฐชาติ ไม่สามารถตัดแบ่งบรรยากาศของยุคสมัยและลมหายใจของเพื่อนมนุษย์ได้
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมฉายภาพยนตร์และเสวนา ภายในงานยังมีศิลปะการแสดงสด อ่านบทกวี และมีอาหารเมียนมาฟรีสำหรับผู้เข้าร่วมงาน
Myanmar Film Nights จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กรุงเทพฯ และจะจัดแสดงอีกครั้งในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2023 ณ สนามบาส คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
รายละเอียดเพิ่มเติม
โฆษณา