4 ก.พ. 2023 เวลา 08:01 • ศิลปะ & ออกแบบ

“ดอกไม้และความหมายแฝงในผลงาน โอฟีเลีย (Ophelia)”

John Everett Millais, Ophelia (1852)
“โอฟีเลีย” ภาพสีน้ำมันโดยศิลปิน จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล (John Everett Millais) จิตรกรสมัยกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษ ผลงานนนี้สร้างขึ้นระหว่างปี 1851 - 1852 เป็นภาพของตัวละครโอฟีเลียจากบทละคร “แฮมเลต” โดยวิลเลียม เช็คสเปียร์ ขณะที่เธอร้องเพลงก่อนที่จะจมน้ำตาย ณ แม่น้ำแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก
มิเลแบ่งการเขียนภาพ “โอฟีเลีย” เป็นสองขั้น ขั้นแรกเขียนภูมิทัศน์และขั้นที่สองเขียนตัวโอฟีเลีย เขาใช้เวลาวาดภูมิทัศน์ที่ริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์กว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน หกวันต่อหนึ่งสัปดาห์ เป็นเวลากว่าห้าเดือน ในปี 1851 ซึ่งการใช้เวลามากเช่นนี้ทำให้สามารถเขียนธรรมชาติได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ต่อมาเขาได้ว่าจ้างหญิงสาวชื่อเอลิซาเบธ ซิดดาล (Elizabeth Siddal) ขณะนั้นมีอายุ 19 ปี มิเลให้เอลิซาเบธแต่งตัวเต็มยศนอนในอ่างอาบน้ำในห้องเขียนภาพในลอนดอนโดยจุดตะเกียงน้ำมันใต้อ่างให้น้ำอุ่นขึ้นเเนื่องจากขณะนั้นเป็นฤดูหนาว แต่มิเลมักจะตั้งอกตั้งใจเขียนจนลืมและปล่อยให้ตะเกียงดับเสมอ ซึ่งทำให้เอลิซาเบธหนาวจนเป็นหวัด พ่อของเธอถึงกับเรียกร้องให้มิเลจ่ายค่ารักษาในที่สุด
ภาพนี้มีชื่อในด้านการวาดรายละเอียดของพืชพันธุ์ริมแม่น้ำ และบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำตามภูมิทัศน์แบบอังกฤษ วาดขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำฮอกสมิลล์ในเซอร์รีย์ นครลอนดอน จุดที่วาดอยู่ที่ซิกซ์เอเคอร์เม็ดโดว์ ริมถนนเชิร์ชในโอลด์มาลเด็น โอฟีเลียนอนราบกับสายน้ำ มือและเเขนหงายขึ้น คล้ายกับภาพของนักบุญหรือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา
จากงานฝีแปรงที่สลับซับซ้อนปรากฏให้เห็นบนใบหน้าที่อ่อนวัย ซีด ไม่มีชีวิตชีวา ริมฝีปากเปิดออกเล็กน้อย ร่างกายของเธอส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ มีเพียงใบหน้า คอ หน้าอก และมือของเธอที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ชุดที่หรูหรา ผมสีน้ำตาลเเดงสยายอยู่รอบ ๆ แสดงความพ่ายแพ้ และความเหน็ดเหนื่อย เสมือนว่าเธอไม่ได้ต่อสู้กับความตาย แต่กลับยินดีกับมัน
2
ร่างไร้วิญญาณของโอฟีเลียล้อมรอบไปด้วยดอกไม้นานาพันธ์ุ แม้ว่าดอกไม้หลากสีสันอาจดูเหมือนเป็นเพียงการเพิ่มสีสันให้กับฉาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศฺลปินได้ใส่ความชาญฉลาดเข้าไปในงานนี้ด้วย ดอกไม้ที่ลอยในน้ำศฺลปินได้เลือกจากดอกไม้ในคำบรรยายมาลัยของโอฟิเลียในบทละคร และยังสะท้อนให้เห็นความหมายของดอกไม้ที่ใช้กันในสมัยวิคตอเรีย ซึ่งบางชนิดได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในบทความของเชกสเปียร์
ในขณะที่ดอกไม้อื่น ๆ ถูกรวมไว้เพื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ดอกฝิ่นที่สีเเดงที่โดดเด่นในภาพเป็นสัญลักษณ์ของการนอนหลับ และความตาย ดอกกุหลาบใกล้แก้ม และชุดของโอฟีเลีย รวมไปถึงทุ่งกุหลาบบนฝั่งสื่อถึงคำว่า “กุหลาบแห่งเดือนพฤษภาคม” เป็นชื่อที่พี่ชายของเธอใช้เรียกเธอ
ทั้งยังมีต้นหลิว ตำแย และดอกเดซี่ที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับความรัก ความเจ็บปวด และความไร้เดียงสา การถูกทอดทิ้ง ดอกแพนซี่หมายถึงความรักที่ไร้ประโยชน์ ดอกไวโอเล็ตที่โอฟีเลียสวมเป็นสร้อยคล้องคอ หมายถึงความสัตย์ซื่อ พรหมจรรย์ หรือความตายของเด็กสาว ดอกป๊อปปี้หมายถึงความตาย สุดท้ายคือดอกฟอร์เก็ตมีน็อต ตอกย้ำว่าอย่าลืมฉัน
ความงามปนกับความวังเวงของภาพ “โอฟีเลีย” นี้ได้เป็นเเรงบันดาลใจให้กับผลงานศิลปะมากมายในยุคต่อมา เช่นในวัฒนธรรมป๊อป ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และดนตรี และยังเป็นหนึ่งในผลงานที่น่าประทับใจของศิลปินอย่างเช่น ซาลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ที่ได้กล่าวชมภาพนี้ในนิตยสาร และยังได้สร้างภาพที่ได้รับอิทธิพลจากภาพนี้ในชื่อ “Ophelia’s Death” (1973) รวมไปถึงนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น นัทซุเมะ โซเซกิ (Natsume Sōseki) ที่ได้นำมาสร้างเป็นฉากหนึ่งในละครเวทีของเข้าอีกด้วย
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา