7 ก.พ. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

เมืองไผ่ และกลุ่มเมืองทวารวดีที่อรัญประเทศ

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ตามสาขาของลำห้วยพรมโหดที่ไหลผ่านอำเภออรัญประเทศไปลงทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชา มีชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรูปค่อนข้างกลมขนาดใหญ่ และมีการจัดการน้ำซับซ้อนกว่า รูปแบบคล้ายกันกับชุมชนแบบทวารวดีที่พบในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั่วไป พบเศษภาชนะดินเผามีลักษณะเป็นผิวเรียบ และมีรูปแบบค่อนข้างประณีตมากกว่า
“เมืองโบราณริมห้วยพะใย” เป็นชุมชนโบราณรูปกลมบริเวณบ้านหอยริมห้วยพะใยฝั่งตะวันตก ตั้งอยู่ทางใต้ของตัวอำเภอวัฒนานคร ปัจจุบันเส้นถนนจากบ้านท่าเกวียนตัดผ่านกลาง จึงพบแต่เพียงเศษภาชนะดินเผาบ้างเล็กน้อย
จากเมืองโบราณริมห้วยพะใยไปทางตะวันออกราวๆ ๑๐ กิโลเมตร มี “ปราสาทบ้านน้อย” ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร แบบแผนผังเป็นอโรคยศาล ที่สร้างในสมัยบายน พุทธศตวรรษที่ ๑๘ และที่สำคัญคือพบทับหลังสมัยไพรกเมงที่เป็นทับหลังสมัยก่อนเมืองพระนครอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา
สัมพันธ์กับการพบโบราณสถานทั้งที่ปราสาทเขาน้อยและเขารังคงเป็นศาสนสถานสำคัญที่มีมาแล้วแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ น่าจะมีความใกล้ชิดและสัมพันธ์กับบรรดาบ้านเมืองหรือชุมชนโบราณในเขตอำเภอวัฒนานครเป็นอย่างมาก เพราะพบทั้งทับหลังที่เป็นศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกและไพรกเมง
ห่างจากชุมชนโบราณริมห้วยพะใยไปทางตะวันออกราวๆ ๑๔ กิโลเมตร มีชุมชนโบราณรูปกลมขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำและคันดินชัดเจนอีกแห่งหนึ่งเรียกชื่อว่า “เมืองไผ่” เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ภายในบริเวณชุมชนเมืองไผ่นี้มีเนินดินคันดินและสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมที่ซับซ้อน
ลำห้วยเมืองไผ่ที่ไหลมาจากที่สูงในเขตบ้านวังยาวทางตะวันตกไหลผ่านกลางชุมชน มีแนวคันดินที่เป็นทำนบโอบอ้อมเมืองตั้งแต่ด้านตะวันออก วกผ่านด้านใต้ไปจดกับลำห้วยเมืองไปทางด้านตะวันตก เพื่อกักน้ำและชักน้ำและการระบายน้ำสำหรับชุมชน และทางด้านตะวันออกมีการขุดลำคลองเป็นแนวตรงขนานไปกับลำห้วยเมืองไผ่อีกประมาณ ๓-๔ สาย ยิ่งกว่านั้นตามลำคลองนี้ยังมีการขุดสระสี่เหลี่ยมกักน้ำไว้ใกล้ๆ กับตัวเมืองอีกด้วย ลำห้วยเมืองไผ่นี้ไหลไปบรรจบกับลำน้ำห้วยพรมโหดในบริเวณอำเภออรัญประเทศ
นอกจากนี้ทางด้านเหนือของเมืองไผ่ก็ยังมีบริเวณพื้นที่ที่มีแนวคันดินล้อมเป็นกรอบเหลี่ยมคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในคันดินเป็นที่โล่งและชาวบ้านปัจจุบันใช้ทำนา ซึ่งพบรูปแบบการใช้งานรูปเดียวกันในชุมชนโบราณหลายแห่งทั้งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่เมืองสุโขทัย เมืองละโว้ในจังหวัดลพบุรี และเมืองฟ้าแดดสงยางในจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
เมืองไผ่คงเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญในบริเวณนี้ เพราะภายในเมืองพบเนินดินที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยมากมาย มีศาสนสถานอยู่หลายแห่งทั้งในเมืองและรอบๆ เมือง แต่ที่เหลือซากให้เห็นขณะนี้ก็มีเพียง ๒ แห่ง อยู่ในบริเวณกลางเมืองแห่งหนึ่งกับนอกเมืองริมคูเมืองอีกแห่งหนึ่ง พบแผ่นหินรูปอัฒจันทร์อันเป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมของปราสาท ซึ่งน่าจะเป็นปราสาทที่มีอิทธิพลแบบเจนละอันมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๓
ภายในเมืองมีเนินดินที่ไม่สม่ำเสมอและหนองบึงอันแสดงให้เห็นว่าเคยเกี่ยวเนื่องกับการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย มีการรวบรวมโบราณวัตถุโดยพระภิกษุและชาวบ้านนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดบ้านเมืองไผ่
มีทั้งชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้น ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะเครื่องมือเหล็ก ลูกปัด เครื่องมือหินขัดและอื่นๆ ซึ่งมีอายุแต่สมัยยุคเหล็กลงมาถึงสมัยทวารวดี ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมลวดลายและเทวรูป ที่มีความสัมพันธ์กับโคกเนินศาสนสถาน สระน้ำและบาราย ไหเท้าช้างจากเตาบ้านกรวดแบบต่างๆ รวมทั้งเศษภาชนะเครื่องถ้วยจีนในสมัยราชวงศ์หยวนและเหม็ง ซึ่งเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมในสมัยวัฒนธรรมเขมรราวๆ แบบเมืองพระนครในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ เป็นต้นมา
นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนแผ่นจารึกอักษรปัลวะที่ยังไม่ได้อ่าน เทวรูปลอยตัวลักษณะแบบพื้นเมืองที่มีอิทธิพลศิลปะแบบบายนอย่างเห็นได้ชัดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
เมืองไผ่จึงเป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมอาจจะร่วมสมัยกับยุคทวรวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ทีเดียว และในช่วงเวลานั้นก็ปรากฏว่ามีชนชั้นสูงที่มีการรับวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบเจนละดังที่พบศาสนสถานแบบเจนละกลางเมืองและโบราณวัตถุซึ่งร่วมสมัยกับปราสาทเขาน้อยสีชมพูและปราสาทเขาแจงที่อยู่ในเขตอรัญประเทศไม่ห่างไกลนัก
ทางทิศเหนือของ “เมืองไผ่” ประมาณ ๑๒ กิโลเมตรมีชุมชนโบราณที่น่าจะมีอายุในสมัยทวารวดีอีกแห่งหนึ่งมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมนโดยทางตะวันตกและทางใต้มีแนวคูน้ำและคันดินโอบล้อมเป็นชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยนางามที่ไหลผ่านบ้านหันทรายซึ่งลงมาบรรจบกับลำห้วยพรมโหดใต้ในเขตบ้านหนองบัวใหม่ เนื่องจากมีการทำเกษตรกรรมและปรับพื้นที่ไปมากจึงพบเศษภาชนะดินเผาคล้ายกับที่พบในเขตบ้านเมืองไผ่
คาดว่ามีอายุแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงลพบุรีและทางตะวันออกเฉียงใต้ของชุมชนนี้บริเวณบ้านหันทราย มีเนินดินสูงๆ ต่ำๆ ที่แสดงว่าเคยเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย พบชิ้นส่วนแท่งหินทรายที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานที่วัดบ้านหันทราย และมีอ่างเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๓๐๐ x ๒๐๐ เมตรอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมชนในวัฒนธรรมแบบเขมรอย่างชัดเจน
.
.….......................
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
.
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา