7 ก.พ. 2023 เวลา 13:39 • ความคิดเห็น

สงครามที่ยาวนาน

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๕ ก.พ.๖๕ จนถึงปัจจุบัน (๑๒ ธ.ค.๖๕) รวมเวลาเกือบสิบเดือน และเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รูปแบบของสงครามที่มีการผสมผสานการรบในหลายมิติหรือ Hybrid Warfare เช่น การรบตามแบบ การรบในเมือง การรบแบบกองโจร สงครามไซเบอร์ สงครามข่าวสาร สงครามอวกาศ
ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกของสงครามหลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียคงสามารถเอาชนะและยึดยูเครนได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธระยะไกลต่อเป้าหมายทางทหารที่สำคัญของยูเครนจนราบคาบและส่งกำลังทหารรัสเซียกว่า ๑ แสนคนที่ประจำการอยู่ตามแนวชายแดนยูเครน
เข้ามาทั้งทางเหนือเพื่อยึดกรุงเคียฟของยูเครน ทางตะวันออกเพื่อยึดภูมิภาคดอนบาสที่เป็นชนวนความขัดแย้ง และจากทางใต้เพื่อยึดเมืองท่าสำคัญต่างๆ หลังผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเมื่อปี ๕๗ แต่จนถึงปัจจุบันที่ผ่านมากว่า ๑๐ เดือนแล้ว การสู้รบยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเกิดความสูญเสียอย่างมากมายต่อทั้งสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายรัสเซียมีการถอยร่นจากพื้นที่ที่ยึดครองได้ในตอนแรกในหลายพื้นที่
โดยคาดว่าเกิดจากการสูญเสียกำลังพลจำนวนมากจากสู้รบและการระดมพลเข้ามาเสริมกำลังยังไม่เพียงพอทำให้จำเป็นต้องถอยร่นมาอยู่ในพื้นที่และตำแหน่งที่สามารถป้องกันการโจมตีจากฝ่ายยูเครนได้ ขณะที่ฝ่ายยูเครนได้เริ่มรุกกลับเพื่อยึดพื้นที่ของตนคืนซึ่งสามารถยึดคืนพื้นที่ได้หลายพื้นที่ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เข้าสู่ฤดูหนาวทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำสงครามของทั้งสองฝ่ายและอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่อาจนำไปสู่การยุติสงครามได้หรือไม่นั้นคงต้องดูปัจจัยในหลายด้านประกอบซึ่งอาจช่วยให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าสงครามนี้จะจบลงอย่างไร
Subzero Warfare
ความหนาวเย็นในระดับที่อุณหภูมิติดลบหลายองศาเป็นปัจจัยที่สร้างข้อจำกัดในการสู้รบ อย่างแรกคือช่วงเวลาที่มีแสงสว่างในกลางวันจะลดลงทำให้การสู้รบในความมืดเพิ่มมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องมีกล้องหรือแว่นสำหรับมองกลางคืน สำหรับการสู้รบ ต่อมาคือความหนาวเย็นที่มีผลต่อความเป็นความตายของทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีภายใน ๑ ชม.โอกาสรอดชีวิตก็จะยิ่งน้อยลง
นอกจากนั้นแล้วอากาศที่เย็นยังมีผลต่อการทำงานของยุทโธปกรณ์หลายชนิดซึ่งอาจทำให้เกิดการขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้ส่งผลต่อขีดความสามารถในการสู้รบของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของสภาพพื้นที่การรบในฤดูหนาวพื้นดินจะมีความแข็งทำให้ รถถัง ยานเกราะสามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก แต่ดินที่แข็งทำให้การขุดสนามเพลาะเพื่อเป็นแนวป้องกันทำได้ยากขึ้น
ในภาพรวมการสู้รบในฤดูหนาวของฝ่ายยูเครนและรัสเซียที่กำลังเกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ และคาดว่าจะเป็นการสู้รบเพื่อรักษาที่มั่นโดยเฉพาะฝ่ายรัสเซียที่สามารถยึดพื้นที่ทางตะวันออกในภูมิภาคดอนบาส และพื้นที่ทางใต้ โดยรัสเซียยังคงใช้ขีดความสามารถในการโจมตีจากระยะไกลเพื่อโจมตีระบบส่งกำลังบำรุงของยูเครนที่ส่งมาสนับสนุนกำลังรบในพื้นที่ส่วนหน้า
ขณะที่ฝ่ายยูเครนยังคงมีความพยายามที่จะยึดคืนพื้นที่ให้ได้เพิ่มขึ้นดังเช่นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ด้วยการปรับวางกำลังและลดพื้นที่การป้องกันด้วยการถ่อยร่นมาอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทำให้ฝ่ายรัสเซียสามารถป้องกันการบุกของยูเครนได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายยูเครนได้รับความสูญเสียจากการบุกเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายยูเครนอาจชะลอการบุกและทำการตรึงพื้นที่ที่ยึดคืนไว้ได้เพื่อรอสะสมกำลังและยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตร
1
ซึ่งยุทโธปกรณ์หลายอย่างที่ยูเครนร้องขอนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการผลิตใหม่อีกหลายเดือนเนื่องจากก่อนหน้าที่ได้มีการสนับสนุนให้กับยูเครนจำนวนมาก รวมทั้งยุทโธปกรณ์ของฝ่ายรัสเซียเองก็ได้รับความเสียหายจำนวนมากเช่นกันจำเป็นต้องใช้เวลาในการผลิตและจัดหาเข้ามาทดแทนเท่ากับว่าในฤดูหนาวนี้การสู้รบในพื้นที่ต่างๆ อาจลดลง
และอาจกลายเป็นการหยุดยิงโดยปริยายในบางพื้นที่ และการสู้รบอาจรุนแรงขึ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จากสภาพอากาศที่เหมาะสมและความพร้อมของกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ชุดใหม่ที่จะนำมาใช้ในการสู้รบ ซึ่งจะทำให้สงครามนี้ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไปอีกยาวนาน
การเจรจาที่หยุดชะงัก
หลังจากที่รัสเซียได้โจมตียูเครนอย่างหนักและส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ของยูเครนจนเกือบสามารถที่จะยึดกรุงเคียฟได้ในช่วงแรกของสงครามได้เกิดการเจรจาของทั้งสองฝ่ายถึง ๗ ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถบรรลุผลที่จะมีการประกาศหยุดยิงได้ เนื่องจากฝ่ายยูเครนได้รับการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรทั้งด้านข่าวกรอง ยุทโธปกรณ์ การฝึกการสู้รบ และทหารต่างชาติที่เข้าไปช่วยสู้รบ
ทำให้ฝ่ายยูเครนสามารถต้านทานการบุกของรัสเซียได้และทำให้เป้าหมายในการยึดกรุงเคียฟของฝ่ายรัสเซียต้องล้มเหลวจากการถูกต้านทานทำให้ทหารรัสเซียเกิดการสูญเสีย ยุทโธปกรณ์ถูกทำลาย และระบบส่งกำลังบำรุงถูกทำลายทำให้กำลังส่วนหน้าที่จะบุกยึดกรุงเคียฟถูกตัดขาดนำมาซึ่งการถอนกำลังของฝ่ายรัสเซียจากทางเหนือของยูเครนเมื่อช่วงปลาย มี.ค.๖๕
ซึ่งการถอนกำลังของฝ่ายรัสเซียอาจทำให้ฝ่ายยูเครนมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าจะสามารถขับไล่กองกำลังรัสเซียให้ออกจากยูเครนได้ ทำให้การเจรจาที่ดูเหมือนว่าฝ่ายยูเครนจะต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่รัสเซียกำหนด เช่น ต้องยอมรับว่าไครเมียเป็นของรัสเซีย แคว้นโดเนตสก์และลูฮานสก์ทางตะวันออกของยูเครนเป็นรัฐอิสระ ห้ามเข้าเป็นสมาชิก NATO มีความเป็นกลางและต้องเป็นรัฐปลอดทหาร จึงหยุดชะงักไป
เนื่องจากหากยอมรับเพื่อให้สงครามยุติฝ่ายยูเครนจะต้องสูญเสียดินแดนอีกและถูกจำกัดความสามารถในการป้องกันตัวเอง และด้วยการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรโดยเฉพาะจากกลุ่ม NATO ทำให้ยูเครนเห็นว่าสามารถที่จะต่อต้านฝ่ายรัสเซียให้ออกไปจากดินแดนของยูเครนได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การเจรจาที่ฝ่ายยูเครนต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบอีกต่อไป นั้นเท่ากับว่าโอกาสที่จะมีการเจรจาสันติภาพเพื่อหยุดยิงหรือยุติการสู้รบจึงเกิดขึ้นได้ยาก
ซึ่งเห็นได้จากตั้งแต่การเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อ ๑ เม.ย.๖๕ ไม่มีการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นอีกเลย แต่กลับเป็นการสู้รบที่หนักหน่วงของทั้งสองฝ่ายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายยูเครนเริ่มมีขีดความสามารถที่จะโจมตีเป้าหมายสำคัญของรัสเซียทั้งในพื้นที่ยึดครองในยูเครนและในดินแดนของรัสเซียซึ่งอาจทำให้การสู้รบรุนแรงกว่าเดิมและทำให้การเจรจาครั้งใหม่ระหว่างสองฝ่ายมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ยาก
ใครรบกับใคร
จากการสู้รบที่ยาวนานกว่า ๑๐ เดือนและยังไม่มีท่าทีที่จะยุติในเร็ววันนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำให้ฝ่ายยูเครนที่ก่อนเริ่มสงครามได้ถูกประเมินว่าไม่น่าที่จะรับมือการบุกอย่างหนักของรัสเซียได้จากความเสียเปรียบในเรื่องของกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ที่ด้อยกว่า แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายยูเครนสามารถต้านทานการบุกของฝ่ายรัสเซียได้อย่างยาวนานโดยเฉพาะทางเหนือใกล้กับกรุงเคียฟของยูเครน
ที่ทำให้ฝ่ายรัสเซียต้องละความพยายามในการยึดกรุงเคียฟและยอมถอนกำลังทหารออก และปรับความพยายามหลักในการยึดภูมิภาคดอนบาสและเมืองท่าทางใต้ของยูเครนแทน แม้จะมีการมองว่าความพยายามยึดกรุงเคียฟเป็นเพียงการลวงเพื่อดึงกำลังของยูเครนให้กลับไปป้องกันเมืองหลวง เพื่อให้ฝ่ายรัสเซียสามารถเข้ายึดภูมิภาคดอนบาสได้ รวมทั้งเมืองท่าทางใต้ แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายยูเครนกำลังรุกคืบเพื่อยึดพื้นที่จากฝ่ายรัสเซียคืนทั้งในภูมิภาคดอนบาสและเมืองท่าทางใต้
เช่น แคว้นเคอร์ซอนที่ทหารรัสเซียได้ถ่อยร่นไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดนีโปรเพื่อให้สามารถป้องกันการถูกโจมตีจากฝ่ายยูเครนได้ หรือแม้แต่ในทะเลดำฝ่ายรัสเซียได้รับความสูญเสียอย่างหนักจากการถูกลอบโจมตีเรือพิฆาตMoskva รวมทั้งสนามบินทางทหารในไครเมีย จนต้องปรับการควบคุมพื้นที่จากทะเลดำเกือบทั้งหมดเป็นเพียงโดยรอบแคว้นไครเมีย
จากสถานการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าด้วยขีดความสามารถของยูเครนเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถที่จะทำให้กองทัพรัสเซียต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ได้ ซึ่งจากรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ตลอดระยะเวลาการสู้รบหลายเดือนที่ผ่านมา ยูเครนได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะขีดความสามารถในการสู้รบจาก NATO โดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ
ซึ่งอาจมองได้ว่าสงครามครั้งนี้อาจเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียที่ใช้ยูเครนเป็นสนามรบโดยสหรัฐฯ ได้สนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เสริมขีดความสามารถในการต่อสู้กับฝ่ายรัสเซียให้กับยูเครน โดยเฉพาะระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS โดรนติดระเบิด Switchblade การพัฒนาโดรนลาดตระเวนยุคสหภาพโซเวียต Tu-141 ให้กลายเป็นโดรนโจมตีแบบคามิกาเซ่ที่ถูกใช้โจมตีเป้าหมายสนามบินของฝ่ายรัสเซียที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย
นอกจากนั้นแล้วยังมีการสนับสนุนข้อมูลข่าวกรองให้กับฝ่ายยูเครนอย่างต่อเนี่องจากการบินลาดตระเวนด้วยอากาศยานเพื่อดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาณการสื่อสาร การใช้ดาวเทียมถ่ายภาพในพื้นที่เป้าหมายเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังทหารรัสเซีย
การใช้กลุ่มดาวเทียมในการค้นหาจุดส่งสัญญาณสื่อสาร สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อระบุพิกัดของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนเหล่านี้ทำให้ยูเครนยังคงสามารถต้านทานฝ่ายรัสเซียและรุกกลับได้ในบางพื้นที่การรบที่ฝ่ายรัสเซียขาดแคลนกำลังทหารในสู้รบหรือป้องกันพื้นที่ ดังนั้นตราบใดที่ยูเครนยังคงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างต่อเนื่องการสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียก็จะยังคงดำเนินต่อไปและไม่มีเหตุผลใดที่ฝ่ายยูเครนจะต้องยอมเจรจาสันติภาพที่ทำให้ตัวเองเสียเปรียบและต้องเสียดินแดนไป
จบแบบไหน
ภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลายย่อยยับในยูเครน พลเรือนที่เสียชีวิตและอพยพออกจากยูเครน เมืองต่างๆ ที่ถูกรัสเซียเข้ายึดครอง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เกือบทั้งประเทศที่ถูกทำลายโดยเฉพาะระบบไฟฟ้าทำให้หลายพื้นที่ในยูเครนต้องตกอยู่ในความมืดมิดในคืนฤดูหนาว เป็นภาพที่ชาวโลกคงไม่อยากได้เห็นและไม่อยากให้เกิดขึ้นกับประเทศของตนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก NATO
และมียูเครนเป็นรัฐกันชนที่กั้นระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตกที่อาจได้รับผลกระทบหากการสู้รบขยายวงกว้างออกจากยูเครน แม้จะมีความพยายามในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซียเพื่อให้รัสเซียหยุดรุกรานยูเครน แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายรัสเซียสามารถเอาชนะการถูกคว่ำบาตรด้วยการเข้าร่วมกับพันธมิตรเช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย และใช้จุดแข็งด้านพลังงานเป็นแต้มต่อในการกดดันยุโรปตะวันตกที่หลายประเทศยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากรัสเซีย
เท่ากับว่าการคว่ำบาตรรุนแรงต่อรัสเซียยังไม่สามารถเห็นผลได้ในเร็ววันนี้และไม่อาจทำให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากยูเครนได้ แต่ในทางกลับกันการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจด้านพลังงานต่อรัสเซียกลับทำให้ประเทศในยุโรปตะวันตกที่คว่ำบาตรรัสเซียต้องตกอยู่ในภาวะขาดแคลนพลังงานและต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นในการซื้อน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ
ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และอาจเป็นแรงกดดันต่อผู้นำประเทศที่จะนำไปสู่ความพยายามที่จะโน้มน้าวให้ยูเครนยอมเจรจากับรัสเซียเพื่อยุติสงครามและความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่ทว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำของ NATO ยังคงยืนยันที่จะสนับสนุนยูเครนในการต่อต้านรัสเซียต่อไป
ดังนั้นการที่ยูเครนจะเข้าเจรจาสันติภาพกับรัสเซียนั้นเงื่อนไขอาจอยู่ที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อสถานการณ์การสู้รบนี้ว่าจะยุติการสนับสนุนยูเครนและเสนอให้มีการเจรจากับรัสเซีย หรือสนับสนุนนยูเครนต่อไปจนกว่าจะสามารถขับไล่ทหารรัสเซียทั้งหมดออกจากยูเครน แต่การสู้รบยิ่งนานการสูญเสียยิ่งมากขึ้นและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแนวโน้มของการการเจรจาเพื่อยุติสงครามหรือหยุดยิงจึงยังคงมีอยู่ โดยเมื่อถึงจุดหนึ่งที่การสนับสนุนการสู้รบในยูเครนเริ่มไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเป็นจุดที่การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซียอาจเกิดขึ้น ส่วนเมื่อไหร่นั้นอาจเป็นหลังจากฤดูหนาวนี้จบลงหรืออาจเป็นหลังฤดูหนาวครั้งต่อไปซึ่งยังมิอาจคาดการณ์ได้ และคาดว่าจุดจบของความขัดแย้งอาจเป็นเพียงการหยุดยิงของทั้งสองฝ่าย
โดย ๔ แคว้นที่มีการลงประชามติเพื่อผนวกกับรัสเซียได้แก่ ลูฮานสก์ โดเนตสก์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน บางส่วนจะคงอยู่ภายในการควบคุมของรัสเซียแบบเดียวกับที่เกิดกับแคว้นไครเมียเมื่อปี ๕๗ ซึ่งปัญหาเรื่องการยึดครองดินแดนนี้จะยังคงเป็นความขัดแย้งที่รอวันปะทุขึ้นอีกครั้งในอนาคตเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพร้อมที่จะกลับมาทำสงครามอีกครั้ง
อ้างอิง
Russia-Ukraine war, https://www.aljazeera.com
Ukraine and Russia: What you need to know right now, https://www.reuters.com
Ukraine manages to strike deep into Russian territory,https://www.aviacionline.com
Ukraine Modified Soviet-Era Jet Drones To Hit Bomber Bases, Russia Claims https://www.thedrive.com
War in Ukraine, https://www.bbc.com
1
โฆษณา