10 ก.พ. 2023 เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดโปรไฟล์ 2 วิศวกร สู่ศึกชิงตำแหน่งคนรวยที่สุดในโลก

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คือนักธุรกิจและวิศวกรมหาเศรษฐี วัย 51 ปี ที่ครอบครองตำแหน่งซีอีโอของหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น SpaceX, Tesla, Twitter, Boring Company, Neuralink และ OpenAI ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ จนส่งให้มัสก์ขึ้นสู่อันดับ 1 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลก จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes
แต่ความรวยของมัสก์มีอันต้องสั่นคลอน เมื่อเขาเข้าซื้อกิจการ Twitter และมุ่งมั่นกับการปลุกปั้นให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการ จนนักลงทุนมองว่ามัสก์ “ละเลย” กิจการอื่น ๆ โดยเฉพาะ Tesla ที่กำลังได้รับความนิยมถึงขีดสุดจากกระแสของรถยนต์ไฟฟ้า จึงพากันเทขายหุ้นของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกนี้ จนทำให้ความมั่งคั่งของมัสก์หดหายไปกว่า 200,000 ล้านเหรียญ และตกจากตำแหน่งอันดับ 1 ของทำเนียบมหาเศรษฐีโลก
เมื่อคนเก่าไป คนใหม่ย่อมมาแทนที่ และคน ๆ นั้นคือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) นักธุรกิจมหาเศรษฐี วัย 73 ปี จากประเทศฝรั่งเศส ผู้ครอบครองอาณาจักร LVMH (Moët Hennessy Louis Vuitton) ที่มีแบรนด์สินค้าลักชัวรีในมือมากมายกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า เช่น เครื่องหนัง เครื่องประดับ กระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า น้ำหอม ไปจนถึงไวน์และแชมเปญ
แม้ว่าปัจจุบันจะทำธุรกิจด้านสินค้าลักชัวรี แต่ อาร์โนลต์ เกิดในครอบครัวของวิศวกรโยธา และตัวเขาเองก็จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง และในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานนั้น เขาได้รับช่วงกิจการ Ferret-Savinel ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งเขาได้สานต่อกิจการมาจากพ่อและปู่ตามลำดับนั่นเอง
ทั้งนี้ ใน 10 อันดับแรกของทำเนียบมหาเศรษฐีโลก ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีและพลังงาน จนหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมซีอีโอของอาณาจักรสินค้าลักชัวรีถึงคว้าอันดับ 1 ไปได้ คำตอบก็คือ อาร์โนลต์ มักจะซื้อกิจการและแบรนด์ที่มีคุณภาพสูงมาไว้ในมือ
โดยแบรนด์นั้น ๆ มักมีลูกค้าที่เหนียวแน่น มีภาพลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแกร่ง และมีสินค้าที่เป็นระดับตำนาน ซึ่งแบรนด์ตัวอย่างในเครือ LVMH เช่น Louis Vuitton, Tiffany & Co., Christian Dior, Fendi, Celine, Bulgari และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้
นอกเหนือจากสินค้าคุณภาพสูงและการบริการชั้นเลิศภายในร้านแล้ว อาร์โนลต์ ยังเลือกวางภาพลักษณ์ให้สินค้าแต่ละแบรนด์เปรียบเหมือนงานศิลปะและนวัตกรรมแห่งความหรูหราที่สะท้อนภาพลักษณ์ของผู้ใช้งาน ทำให้บรรดามหาเศรษฐีทั้งหลายสนใจที่จะมีสินค้าเหล่านี้ไว้ครอบครอง โดยเฉพาะตลาดชาวจีนที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อมหาศาล และถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของเครือ LVMH นั่นเอง
‣ เรียบเรียง วาณิชชา สายเสมา
‣ ภาพ พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์
โฆษณา