10 ก.พ. 2023 เวลา 13:13 • ปรัชญา

ความหวังในกิเลสทั้งหลายเป็นทุกข์

(กิเลเสสุ อาสา นาม ทุกฌขํ)
ความไม่หวังทำให้หลับเป็นสุข
แต่ความหวังถ้าลำเร็จ
ก็ทำให้เป็นสุขได้เหมือนกัน
ดูนางสาวปิงคลานั้นเถิด
เมื่อไม่หวังแล้วก็หลับไปอย่างเป็นสุข
(สุขํ นิราสา สุปติ อาสา ผลวตี สุขา
อาสํ นิราสํ กตฺตวาน สุขํ สุปติ ปิงฺคลา)
#ความหวังและสมาธิ
คนในวรรณะพราหมณ์คนหนึ่ง
เดินทางเพื่อไปบวชในป่า
ระหว่างทางได้เห็นนกตัวหนึ่ง
ได้ชิ้นเนื้อแล้วบินไป นกอื่นๆ
ซึ่งหวังจะได้ชิ้นเนื้อ ก็บินตามกันไป
รุมกันจิกตีนกตัวนั้น จนทนไม่ไหว
ต้องทิ้งชิ้นเนื้อ
นกตัวอื่นได้ชิ้นเนื้อแล้วก็บินไป
นกทั้งหลายก็ตามจิกตีนกตัวนั้น
ทำกันอยู่อย่างนี้ จนชิ้นเนื้อไม่เป็นชิ้นเนื้อ
ไม่มีตัวใดได้กิน สิ่งที่ได้คือเจ็บตัวไปตามๆ กัน
การแย่งกันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
การแบ่งกันเป็นเหตุให้เกิดสุข
พราหมณ์นั้นคิดว่า
กามคุณทั้งหลายเหมือนชิ้นเนื้อ
ที่มนุษย์และสัตว์โลกยื้อแย่งกัน
การละกามคุณเสียได้เป็นสุข
เวลาค่ำ พราหมณ์นั้น
ไปขอพักค้างแรมที่บ้านแห่งหนึ่ง
เห็นทาสีคนหนึ่งเมื่อทำงานให้นายเสร็จแล้ว
นั่งคอยชายอันเป็นที่รักซึ่งนัดหมาย
ว่าจะมาหา ปฐมยามล่วงไป มัชฌิมยามล่วงไป
แต่ชายนั้นก็ไม่มา
พอถึงปัจฉิมยามหญิงทาสีนั้น
ก็ตัดใจไม่คอยแล้ว จึงหลับไปอย่างเป็นสุข
พราหมณ์นั้นคิดว่า
ความหวังในกิเลสทั้งหลายเป็นทุกข์
(กิเลเสสุ อาสา นาม ทุกฌขํ)
ความไม่หวังทำให้หลับเป็นสุข
แต่ความหวังถ้าลำเร็จ
ก็ทำให้เป็นสุขได้เหมือนกัน
ดูนางสาวปิงคลานั้นเถิด
เมื่อไม่หวังแล้วก็หลับไปอย่างเป็นสุข
(สุขํ นิราสา สุปติ อาสา ผลวตี สุขา
อาสํ นิราสํ กตฺตวาน สุขํ สุปติ ปิงฺคลา)
มนุษย์เราส่วนมากผูกพันตนไว้
กับความหวังอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
แต่มิใช่เพียงแต่หวังแล้วจะสำเร็จ
เมื่อหวังสิ่งใดก็ต้องเพียรพยายาม
เพื่อสิ่งนั้นจนสุดกำลัง คือต้องมีอิทธิบาท ๔
มาประกอบกับความหวัง จึงจะให้สำเร็จได้
เมื่อความหวังสำเร็จ
ก็ให้เกิดสุขได้เหมือนกัน
แต่ถ้าไม่หวังก็ไม่ต้องใช้
ความเพียรพยายามในสิ่งนั้น
ไม่ต้องผ่าฟันอุปสรรคในสิ่งนั้น
ความหวังจะว่าดีหรือไม่ดี
ก็ยากที่จะชี้ขาดลงไปได้
เพราะมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
และเป็นเหตุให้สุขได้ทั้ง ๒ อย่าง
ในพระสูตรบางแห่งกล่าวถึง
บุคคลผู้มีหวัง ผู้สิ้นหวัง และผู้ไม่หวัง
ผู้มีหวังคือผู้ที่มีคุณสมบัติพอที่จะหวังสิ่งนั้นได้
เช่น ผู้มีศีลมีธรรมดี
ย่อมหวังมรรคผลและนิพพานได้
ผู้ไร้ศีลไร้ธรรมย่อมเป็นผู้สิ้นหวัง
ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
ไม่ต้องหวังอีก เป็นผู้ไม่หวัง
(นัย อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต)
ความหวังเป็นอาหารชนิดหนึ่ง
ในอาหาร ๔ เรียกว่า มโนสัญเจตนาหาร
หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้
พ่อ แม่บางคนป่วยหนัก ลูกอยู่ไกล
ทราบข่าวว่ากำลังเดินทางมา
ก็รอคอยอยู่ด้วยความหวัง
ว่าจะได้พบลูกสักครั้งหนึ่งก่อนตาย
พอได้พบลูกเห็นหน้าลูกก็ดีใจ
หลับตาตายไปอย่างเป็นสุข
นี้แสดงว่าความหวังได้หล่อเลี้ยงชีวิตไว้
พราหมณ์ผู้นั้นได้เดินทางต่อไป
ในเช้าวันรุ่งขึ้น เข้าไปในป่าพบดาบสผู้หนึ่ง
กำลังนั่งเข้าฌานสงบอยู่
เขาเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส
เปล่งอุทานออกมาว่า
ธรรมอื่นยิ่งกว่าสมาธิไม่มี
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
บุคคลผู้มีใจสงบตั้งมั่นแล้ว
ย่อมไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น
(น สมาธิปโร อตฺถิ อสฺมิํ โลเก ปรมฺหิ จ
น ปรํ นาปิ อตฺตานํ วิหิํสติ สมาหิโต)
คำนี้เป็นการกล่าวของพราหมณ์
ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ (อดีตของพระพุทธเจ้า)
กล่าวตามประสบการณ์ที่ได้เห็น
และได้รู้สึกในขณะนั้น
อันที่จริงกล่าวตามนัยแห่งทัศนะ
ทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ธรรมที่ยิ่งกว่าสมาธิก็มีอยู่
คือ ปัญญาและวิมุติ
อย่างเช่นในมหาสาโรปมสูตร
พระพุทธเจ้าทรงเปรียบธรรมต่างๆ กับต้นไม้ เช่น
ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เปรียบเหมือน กิ่งใบ
ศีล เปรียบเหมือน สะเก็ด
สมาธิ เปรียบเหมือน เปลือก
ปัญญา เปรียบเหมือน กระพี้
วิมุติ เปรียบเหมือน แก่น
คำกล่าวทำนองนี้คือ
อย่างที่ท่านพราหมณ์กล่าวว่า
"ธรรมอื่นยิ่งกว่าสมาธิไม่มี" นั้นเป็นธรรมสัจจะ
คือ จริง เฉพาะเรื่อง เฉพาะเหตุการณ์
แต่ที่พระพุทธเจ้าตรัส
ในมหาสาโรปมสูตรนั้นเป็นสัจธรรม
คือจริงสากล
เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาธรรม
เมื่อได้ยินได้ฟังคำใดแล้ว
หากเป็นไปได้พึงติดตามเรื่องให้ถึงต้นตอว่า
ใครเป็นคนกล่าวและกล่าวเพราะเหตุใด
ก็จะได้ข้อวินิจฉัยตกลงใจที่ถูกต้อง
มากกว่าได้ยินได้ฟังมาลอยๆ
จะได้ไม่ถกเถียงกันในข้อธรรมนั้นๆ
วศ.
๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๙
#โวทานธรรม
#อาจารย์วศิน อินทสระ
#เพจอาจารย์วศิน อินทสระ
โฆษณา