13 ก.พ. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

• ทำไมในภาพนี้ ราชทูตฝรั่งเศส

ถือราชสาส์นไว้กับตัว มากกว่าจะยื่นให้พระนารายณ์?
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่ไทยเจริญสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดกับฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ส่งคณะทูตไปมาหาสู่กันหลายชุด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือราชทูตผู้โด่งดังอย่างโกษาปาน ที่เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ฝรั่งเศสในปี 1686 (พ.ศ. 2229)
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสนี้ ก็ไม่ได้เกิดจากความรักใคร่อยากผูกไมตรีอย่างแท้จริง แต่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
ที่ไทยต้องมีสัมพันธ์กับฝรั่งเศส ก็เพื่อคานอำนาจของฮอลันดาที่กำลังมีอิทธิพลและสร้างอาณานิคมอยู่ ๆ ใกล้ (แถบอินโดนีเซีย) ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของอาณาจักรอยุธยา
ส่วนทางด้านฝรั่งเศสก็ได้โอกาสขยายอิทธิพล และเปลี่ยนศาสนาของผู้คนในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญพระเจ้าหลุยส์ยังต้องการให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนมานับถือคริสต์ เพื่อเสริมสร้างเกียรติยศในฐานะ 'สุริยกษัตริย์' ของพระองค์
ในปี 1685 (พ.ศ. 2228) เชอวาลิเย เดอ โชมองต์ ราชทูตคนแรกของฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ไทย เพื่อถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แก่สมเด็จพระนารายณ์
1
โดยสมเด็จพระนารายณ์ทรงต้อนรับคณะราชทูตฝรั่งเศสที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา
เหตุการณ์ครั้งนั้น ช่างเขียนฝรั่งเศสก็ได้บันทึกเป็นภาพลายเส้นไว้ ก่อนที่ต่อมาไทยจะนำมาวาดใหม่ลงสีน้ำมัน ทว่าในภาพวาดนี้ ก็มีปริศนาชวนสงสัยหนึ่งปรากฏอยู่
ในวันนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงอยู่บนสีหบัญชรที่อยู่สูงจากพื้นเกือบ 2 เมตร ตัวของเดอ โชมองต์ จะต้องถือคันทองชูพานที่มีพระราชสาส์นถวายแก่สมเด็จพระนารายณ์ แต่แทนที่จะถือปลายคันทอง เขากลับจับบริเวณติดกับพาน ทำให้ไม่สามารถยื่นพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระนารายณ์ได้
1
เชอวาลีเย เดอ โชมองต์ ถือคันทองถวายพระราชสาส์นแก่สมเด็จพระนารายณ์ โดยที่ออกญาวิไชเยนทร์ทำท่าทางให้เดอ โชมองต์ ยื่นคันทองให้สูงกว่านี้
เมื่อเห็นดังนั้น คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิไชเยนทร์ จึงโบกมือเพื่อบอกให้เดอ โชมองต์ ยื่นคันทองหาสมเด็จพระนารายณ์ แต่เดอ โชมองต์ ก็ไม่ได้สนใจ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ต้องเอื้อมลงมาเกือบครึ่งพระองค์ จึงจะรับพระราชสาส์นจากพานได้
ภายหลังเดอ โชมองต์ ก็ได้อ้างว่า ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเขาต้องการถวายพระราชสาส์นให้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระนารายณ์ให้มากที่สุด แต่หลายคนก็มองว่า เป็นเพราะความหยิ่งทะนงตนของเดอ โชมองต์ต่างหาก รวมถึงค่านิยมของฝรั่งเศสที่มองว่า ตัวของราชทูตมีความสำคัญกว่าตัวของราชสาส์น ตรงข้ามกับไทยที่มองว่า ราชสาส์นสำคัญกว่าตัวราชทูต
5
ต่อมาในปี 1687 (พ.ศ. 2230) เมื่อราชทูตคนใหม่ของฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์ มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ทางไทยก็ได้ยกเลิกการชูคันทองถวายพระราชสาส์น โดยเปลี่ยนเป็นสร้างอัฒจันทร์เพื่อให้ราชทูตเดินขึ้นไปถวายพระราชสาส์นโดยตรงแทน
6
*** Reference
• หนังสือ 100 เรื่องเก่าเล่าสนุก สำนักพิมพ์สยามบันทึก โดยโรม บุนนาค
• Silpa Mag. เปิดภาพประวัติศาสตร์!!! สมเด็จพระนารายณ์ “ทรงโน้มพระวรกาย” เพื่อทรงรับพระราชสาสน์จากทูตฝรั่งเศส!?. http://bitly.ws/A9kQ
#HistofunDeluxe
โฆษณา