15 ก.พ. 2023 เวลา 03:18 • ข่าวรอบโลก

ทิศทางการต่างประเทศของไทยในปี ๒๕๖๖

ปี ๒๕๖๕ นับเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเป็นอีกหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การทูตไทย อาทิ การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ และการปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับสู่ระดับปกติ
ในปีใหม่ ๒๕๖๖ นี้ ทิศทางการต่างประเทศของไทยในปีนี้จะมีลักษณะอย่างไร ประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหนท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจ และงานบริการประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศจะมีพัฒนาการอย่างไร เรามาหาคำตอบไปด้วยกันจากบทสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศท่านใหม่ อธิบดีกาญจนา ภัทรโชค หรืออธิบดีเจี๊ยบ และผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับท่านอธิบดีไปพร้อม ๆ กันเลยนะครับ
สามารถรับฟังการสัมภาษณ์ผ่านรายการบันทึกสถานการณ์ ย้อนหลังได้ที่: https://fb.watch/ie45RbcF4V/ (นาที ๓๕.๔๐ เป็นต้นไป)
ก่อนจะก้าวไปสู่แผนงานสำหรับปี ๒๕๖๖ ผมจะขอหยิบยกผลงานที่น่าภาคภูมิใจของไทยบางส่วนในปี ๒๕๖๕ มากล่าวถึงสักเล็กน้อยครับ
สิ่งแรก คือ การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) ต่อนานาประเทศ และผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG) ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสหรัฐอเมริกา เจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๖ ยังให้คำมั่นด้วยว่าจะนำเป้าหมายนี้ไปสานต่ออย่างแน่นอน
กล่าวได้ว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยครั้งนี้ สะท้อนความสำเร็จของไทยในการขับเคลื่อนเอเปคได้เป็นอย่างดี และยังสะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจไมตรีเปิดรับชาวต่างชาติของไทยที่ยังคงความน่าประทับใจไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในยามที่โลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๕๖๕ ยังทำให้บทบาทและศักยภาพของไทยเป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น มีผู้เข้าร่วมหลายพันคนตั้งแต่ระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส จนถึงระดับเจ้าหน้าที่ และมีสื่อมวลชนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่าสองพันคนเดินทางมาติดตามและรายงานข่าวการประชุมฯ แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสนใจแก่การประชุมครั้งนี้ไม่น้อย
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ๒๐๒๒ (ที่มา: Twitter APEC 2022 Thailand)
ความสำเร็จที่อดกล่าวถึงไม่ได้ คือ การปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียกลับสู่ระดับปกติในรอบกว่า ๓๐ ปี โดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในห้วงการประชุมเอเปค ๒๕๖๕
ท่านอธิบดีเจี๊ยบ กล่าวว่า ผลสำเร็จดังกล่าวสืบเนื่องจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี และได้มาถึงจุดที่สมบูรณ์ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา นำไปสู่มูลค่าทางการค้า โอกาสการจ้างงาน และการเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
อีกหนึ่งความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของไทย คือ การลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (Thailand – EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งใช้เวลาเจรจายาวนานกว่า ๑๘ ปี เกิดเป็นความร่วมมือที่ครอบคลุม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในอนาคต และคาดว่าน่าจะนำไปสู่การลงนามเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปได้ในที่สุด
การลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านของไทยและสหภาพยุโรป และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
สำหรับปี ๒๕๖๖ นี้ มีความท้าทายหลายประการ ซึ่งหนีไม่พ้นการรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ ที่ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก สถานการณ์ในยูเครนส่งผลกระทบต่อชาวโลกหลายด้าน อาทิ ด้านความมั่นคงทางอาหาร และการขึ้นราคาพลังงาน ซึ่งไทยพยายามให้ความสำคัญกับการหาทางออกอย่างสันติ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการแสดงท่าทีในเวทีระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ
จะเห็นได้ว่าไทยพยายามรักษาสมดุลมหาอำนาจ โดยมีผู้แทนจากทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนเดินทางมาเยือนไทย และนายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและความพยายามในการสร้างความสมดุลของไทยได้เป็นอย่างดี
ในปี ๒๕๖๖ นี้ ท่านอธิบดีเจี๊ยบย้ำว่า เราจะสานต่องานที่ทำให้ในปี ๒๕๖๕ ให้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็จะทำต่อ ส่วนสิ่งที่คิดว่าต้องเพิ่มเติมก็จะพัฒนาให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความท้าทายจากสถานการณ์ในยูเครนที่ส่งผลกระทบให้เกิดทั้งวิกฤติพลังงานและทางมนุษยธรรม จะต้องจับตาไม่ให้ลุกลามต่อเนื่องไปถึงสงครามนิวเคลียร์ และจะต้องหาข้อสรุปให้ทุกฝ่ายสามารถหาทางออกร่วมกันได้
และสำหรับประเด็นเมียนมา ไทยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในลักษณะของ “Quiet Diplomacy” ที่อาจไม่ได้ปรากฏในข่าว แต่มีการดำเนินการโดยตลอด ซึ่งท่านอธิบดีเจี๊ยบเผยว่า ล่าสุดไทยได้มีการจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพูดคุยหารือและหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นนี้เช่นกัน
อีกหนึ่งความท้าทาย คือ การระบาดของโรคระบาดโควิด-๑๙ ซึ่งได้ผ่านช่วงระบาดใหญ่ทั่วโลกไปแล้ว และโลกได้ก้าวมาสู่จุดของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ โดยประเทศล่าสุดที่มีการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับโรคโควิด-๑๙ คือ จีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในที่สุด
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การบินพลเรือน และกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความสำคัญเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และสร้างความมั่นใจด้านสาธารณสุขแก่พี่น้องชาวไทยและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ ไทยยังควรส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย โดยเน้นการสร้างสังคมให้มีระบบนิเวศที่เกื้อหนุนนวัตกรรม โดยเห็นว่าสถานทูต และสถานกงสุลใหญ่จากทั่วโลกสามารถเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับประเทศไทยจากประเทศต่าง ๆ ได้
ในช่วงสุดท้ายของการสนทนา ท่านอธิบดีเจี๊ยบเล่าถึงงานบริการประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่าน งานของกระทรวงการต่างประเทศมีหลากหลายมิติมากกว่าการทำหนังสือเดินทาง เช่น การอพยพโยกย้ายคนไทยออกจากยูเครน โดยมีสถานทูต ณ กรุงวอร์ซอ และประเทศข้างเคียงเป็นแม่ข่าย ทำให้สามารถช่วยเหลือชาวไทยออกจากยูเครนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานคอลเซนเตอร์ ซึ่งสถานทูตและกรมการกงสุลก็ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือพาคนไทยกลับมาได้ด้วยเช่นกัน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ให้การช่วยเหลือคนไทยในยูเครน (ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ)
สำหรับความช่วยเหลือด้านแรงงาน ท่านอธิบดีเจี๊ยบกล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้นและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังมีการเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในทวีปยุโรป เช่น ในฟินแลนด์และสวีเดน ดังนั้น อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก คือการดูแลพี่น้องคนไทยที่เดินทางไปทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางของประเทศเจ้าบ้าน รวมถึงเรื่องการประกันรายได้ จะต้องประสานกับสหภาพแรงงานที่ช่วยดูแลประเด็นนี้
ท่านอธิบดีเจี๊ยบปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ที่จะเป็นประโยชน์แก่นักเดินทางชาวไทยทุกท่าน ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พัฒนาเครื่อง Kiosk สำหรับทำหนังสือเดินทางด้วยตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ที่ MBK Center
นอกจากนี้ ยังมีบริการออนไลน์ต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Consular ซึ่งท่านอธิบดีเจี๊ยบแนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศดาวน์โหลดไว้ เพื่อความสะดวกในการติดต่อสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ หากประสบเหตุฉุกเฉิน เช่น หนังสือเดินทางหาย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีครับ
การให้บริการหนังสือเดินทาง ณ ศูนย์การค้า MBK Center (ที่มา: เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)
นายสิรภพ เดชะบุญ
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา