28 ก.พ. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

เหรียญกษาปณ์โรมัน จักรพรรดิวิคโตรินุส

เมืองโบราณอู่ทอง สุพรรณบุรี
เหรียญกษาปณ์โรมัน จักรพรรดิวิคโตรินุส พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ให้รายละเอียดเหรียญกษาปณ์โรมัน จักรพรรดิวิคโตรินุส นี้ว่า เป็นเหรียญทองแดงขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปจักรพรรดิซีซาร์ มาร์คุส พิอาโวนิอุส วิกโตรินุส (Emperor Caesar Marcus Piavonius Victorinus) เห็นพระพักตร์ด้านขวาของพระองค์ ทรงมงกุฎ และเสื้อเกราะ มีตัวอักษรภาษาละตินล้อมรอบอยู่ริมขอบเหรียญว่า “IMP C VICTORINVS P F AVG ย่อมาจาก Imperator Caesar Victorinus Pius Felix Augustus แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข
ด้านหลังเป็นรูปเทพีซาลัส (Salus) เทพีแห่งสุขภาพและความสุขของยุคโรมัน ทรงสวมชุดแบบโรมันที่เรียกว่า ชุดสโทลา (Stola) และคลุมผ้า ที่เรียกว่า ปัลลา (Palla) ผินพระพักตร์ไปทางซ้าย ทรงป้อนอาหารงูของเทพแอสคูราปิอุส (Aesculapius) ผู้เป็นพระบิดาและเป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์และการรักษาโรค ทรงจับงูด้วยพระหัตถ์ขวา และถือชามใส่อาหารด้วยพระหัตถ์ซ้าย มีตัวอักษรภาษาละติน ล้อมรอบรูปเทพีซาลัส โดยรอบเหรียญว่า SALVS AVG
.. นักวิชาการต่างประเทศตีความว่าเป็นคำย่อมาจาก Salus Augusti แปลว่า “Health of the Emperor”
1
จักรพรรดิวิคโตรินุส ทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิกัลลิค (The Gallic Empire or The Gallic Roman Empire) ซึ่งแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิโรมันในระหว่างปี พ.ศ. ๘๐๓ – ๘๑๗ ทรงครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๔ สันนิษฐานว่าเหรียญนี้ผลิตขึ้นที่โรงกษาปณ์ในเมืองโคโลญจ์ ประเทศเยอรมัน ราว พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๓ (ประมาณ ๑,๗๕๐ ปีมาแล้ว)
1
ทั้งนี้เหรียญกษาปณ์โรมันรูปจักรพรรดิวิคโตรินุสนี้ ไม่ได้พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี โดยผู้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แจ้งว่า พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ทำให้นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า เหรียญดังกล่าวอาจเป็นของที่นำเข้ามาในสมัยหลัง โดยพ่อค้าชาวยุโรป สมัยอยุธยา
3
แต่หากเหรียญที่พบถูกนำเข้ามาตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีการผลิตขึ้นใช้ คือ ระหว่างปี พ.ศ. ๘๑๒ – ๘๑๓ ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่แสดงว่าพื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง มีการติดต่อค้าขายกับดินแดนที่อยู่ไกลออกไปทางตะวันตก โดยเฉพาะกับจักรวรรดิโรมัน ศูนย์กลางสำคัญของโลกยุคโบราณโดยตรงหรือผ่านพ่อค้าชาวต่างชาติอื่นๆ เช่นอินเดีย และเปอร์เชีย มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ หรือกว่า ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว
1
.. เมื่อนำข้อมูลการบรรยายสาธารณะ ‘เมืองอู่ทอง รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ’ โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้อธิบายถึงเรื่องการก่อตัวเป็นรัฐจากบ้านเมืองในเขตภายในที่มีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลางเริ่มแรกทางฝั่งตะวันตก การรับพุทธศาสนาแรกเริ่ม ที่ได้คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช มาช่วยเพิ่มเติมข้อมูลที่ศึกษาจากโบราณวัตถุสำคัญๆ ที่ทำให้เกิดการต่อภาพของสุรรณภูมิได้ชัดเจนขึ้น
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สรุปออกมาเป็นสองภาคคือ ภาคสุวรรณภูมิและการเป็นรัฐในฐานะ Port Polity และภาคการเป็นสุพรรณภูมิที่ต่อเนื่องทำให้เกิดบ้านเมืองและรัฐการค้าอย่างกรุงศรีอยุธยา
การค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณคดีเรื่องอู่ทองนั้น ที่ได้ทำการค้นคว้าศึกษาเรื่องอู่ทอง เพราะจะสะท้อนให้เห็นภาพการขยายตัวของบ้านไปสู่เมืองจนไปถึงรัฐ โดยใช้เมืองอู่ทองในการอธิบาย
เมืองอู่ทองเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความเป็นเมืองท่าที่เป็นนครรัฐไม่ใช่เมืองที่อยู่โดดเดี่ยวแต่มีการติดต่อกับพื้นที่อื่นๆ นักวิชาการจึงเรียกเมืองลักษณะนี้ว่า Port Polity ซึ่งเมืองอู่ทองนั้นถือเป็นเมืองท่าที่เป็นฐานในการพัฒนาการทางสังคมมนุษย์จากบ้าน(Village)ไปสู่เมือง(Town) จนเป็นรัฐ (State) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พัฒนาการของอู่ทองในฐานะ Port Polity ‘เมืองท่าที่เป็นนครรัฐ’ ในสุวรรณภูมิ อาจารย์ศรีศักร ชี้ว่า
การที่เมืองใดจะเป็น Port Polity หรือเมืองท่านั้นจะต้องมีการพัฒนาเมืองที่เป็นนครรัฐที่อยู่ใกล้ทะเลแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดทะเล
‘จะต้องเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการปกครองของท้องถิ่น เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างข้างในและข้างนอกนครรัฐ หัวใจของการเป็นเมืองท่าคือเป็นที่แลกเปลี่ยนสิ่งของทางเศรษฐกิจที่มาจากโพ้นทะเลและมาจากดินแดนภายใน เพราะการค้าสมัยก่อนนั้นเป็นการค้าทางทะเลไม่ใช่ทางบก
เรื่องราวของอู่ทองหรือ Port Polity ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเส้นทางการค้าที่เรียกว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เรียกเส้นทางสายไหมเพราะเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมมาตั้งแต่แถบตะวันออกกลาง จนมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปเอเชียตะวันออก
1
เส้นทางสายไหมนั้นแบ่งออกเป็นทางทะเล และทางบก ผ่านทางตะวันออกกลาง เปอร์เซีย อิหร่าน จีน ในการค้าขายเส้นทางบกนั้นมักจะเกิดการปล้นสะดม ทำให้การค้าจึงเปลี่ยนมาใช้เส้นทางทางทะเล จึงเกิดเส้นทางสายไหมทางทะเล ระหว่างเส้นทางนี้ก็มีทั้งสินค้ามาแลกเปลี่ยน และการพบปะสังสรรค์ความสัมพันธ์ของผู้คน เกิดการพัฒนาของบ้านเมืองขึ้น
2
ดังนั้นบ้านเมืองที่เป็น Port Polity ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวที่อาศัยอยู่ แต่เป็นที่สะสมของคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งข้างนอกและข้างในทางโพ้นทะเล ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน บริเวณที่เป็นบ้าน เป็นเมือง สามารถสะท้อนให้เห็นโดยสินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน อย่างเช่น ลูกปัด สิ่งเหล่านี้สามารถบอกถึงการเข้ามา การติดต่อ กับผู้คนที่เชื่อมกันระหว่างนครรัฐกับดินแดนอื่นๆ… ’
..บทบาทของเมืองอู่ทองจากการศึกษาของศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้นำเสนอผลการศึกษาถึงพัฒนาการของเมืองอู่ทอง โดยแสดงให้เห็นว่าอู่ทองมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างถิ่นตั้งแต่ช่วงก่อนสมัยทวารวดี
ดังได้พบโบราณวัตถุ เช่น ต่างหูรูปสัตว์สองหัว ลูกปัด หินกึ่งมีค่าทั้งแบบที่มีสีเดียวหรือแบบที่มีการฝังสี (etched bead) ซึ่งเป็นสินค้าจากอินเดียในสมัยราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-5
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-9 ก็ได้พบลูกปัดหินกึ่งมีค่าและลูกปัดแก้วเป็นจำนวนมาก โดยพบลูกปัดแก้วมีแถบหลายสีสลับ (stripped bead) และลูกปัดมีตาซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเปอร์เซีย
4
นอกจากนี้ยังได้พบเหรียญโรมันของจักรพรรดิวิคโตรินุส (พ.ศ. 811-813) ซึ่งที่เมืองออกแอวก็ได้พบจี้รูปจักรพรรดิโรมันด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้อู่ทองจึงเป็นเมืองท่าโบราณซึ่งจะพัฒนาต่อมาในสมัยทวารวดี
1
เพราะฉะนั้นจึงมีการสันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองในอดีต น่าจะเป็นศูนย์กลางการค้าอีกแห่งหนึ่ง ระหว่างภูมิภาคตะวันออก และตะวันตกมาแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ ซึ่งอาณาจักรโรมันน่าจะมีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย และตะวันออกไกล โดยที่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตองล่างของประเทศไทยน่าจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เป็นจุดแวะพัก ระหว่างอินเดียเหนือกับเมืองออกแอวในประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
1
ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา