28 มิ.ย. 2023 เวลา 04:45 • ประวัติศาสตร์

ที-๓๓ ชูตติ้งสตาร์ ของกองทัพอากาศกรีซ

กองทัพอากาศกรีซ ได้นำเครื่องบินฝึกไอพ่น ล็อคฮีด ที-๓๓ ชูตติ้งสตาร์ (Lockheed T-33 Shooting Star) เข้าประจำการครั้งแรกในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นเครื่องบินไอพ่นแบบแรกของกองทัพอากาศกรีซ
การล่าช้าในการส่งมอบ ที-๓๓เอ ให้กับกองทัพอากาศกรีซทำให้มีผลกระทบกับการนำเครื่องบินขับไล่/ทิ้งระเบิดไอพ่นแบบ รีพับลิค เอฟ-๘๔จี ทันเดอร์เจ็ต (Republic F-84G Thunder jet) ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบแรกของกองทัพอากาศกรีซ เข้าประจำการ เนื่องจาก เอฟ-๘๔จี ธันเดอร์เจ็ต เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่นั่งเดียวไม่มีรุ่นสองที่นั่ง ทำให้เกิดความยุ่งยากในการฝึกนักบินที่เคยบินกับเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ลูกสูบที่มีความเร็วต่ำให้มีความคุ้นเคยกับเครื่องบินไอพ่นที่มีความเร็วและการทำงานที่ซับซ้อนกว่า
ในการแก้ไขปัญหาขั้นต้น กองทัพอากาศกรีซได้ส่งนักบินจำนวนหนึ่งไปฝึกบินเครื่องบินไอพ่นในสหรัฐฯ และฝึกบินพร้อมรบกับ เอฟ-๘๔จี ในฐานบินที่สหรัฐฯ ก่อนจะกลับมาเป็นนักบินพร้อมรบรุ่นแรกกับ เอฟ-๘๔จี ที่ได้รับมอบในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งกองทัพอากาศกรีซได้รับมอบ เอฟ-๘๔จี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๕ – ๒๔๙๖ จำนวนรวม ๑๑๗ เครื่อง เข้าประจำการใน ๖ ฝูงบิน เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นหลักของกองทัพอากาศกรีซในช่วงแรกของยุคเครื่องบินไอพ่น (Jet Age) กองทัพอากาศกรีซได้ทยอยรับมอบ ที-๓๓เอ อีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทศวรรษที่ ๑๙๖๐ – ๑๙๗๐
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กองทัพอากาศกรีซ ได้รับมอบเครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศ แบบ อาร์ที-๓๓เอ จำนวน ๒๐ เครื่อง เพื่อนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศ แต่ก็ใช้งานอยู่ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับมอบ อาร์เอฟ-๘๔เอฟ ธันเดอร์แฟลช ที่ทันสมัยกว่าในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กองทัพอากาศกรีซจึงได้โอน อาร์ที-๓๓เอ ทั้งหมดไปให้กองทัพอากาศฝรั่งเศสเพื่อนำไปใช้งานต่อไป
กองทัพอากาศเยอรมันตะวันตกได้มอบ ที-๓๓เอ จำนวน ๑๒ เครื่องให้กรีซในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และเพิ่มเติมอีก ๓๓ เครื่อง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ รวมแล้วกองทัพอากาศกรีซได้รับมอบ ที-๓๓เอ ชู้ตติ้งสตาร์ รวมทั้งสิ้น ๑๗๖ เครื่อง ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ มีบางส่วนเป็นรุ่น ซีที-๑๓๓ ซิลเวอร์ สตาร์ มาร์ค ๓ จากแคนาดา จำนวน ๒๓ เครื่อง นอกจากใช้ในภารกิจฝึกนักบินเปลี่ยนแบบเพื่อไปบินกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นซึ่งเป็นภารกิจหลักแล้ว ฐานบินหลักๆ ของกองทัพอากาศกรีซจะมีหน่วยบิน ที-๓๓เอ อยู่เกือบทุกฐานบินเพื่อใช้ในภารกิจต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิเช่น
• ฝึกบินประกอบเครื่องวัด
• ฝึกบินขั้นสูง
• บินรักษาชั่วโมงประจำปีสำหรับนักบินสำรอง
• บินขนส่งพัสดุที่มีความเร่งด่วน
• บินทดสอบระบบป้องกันภัยทางอากาศ
• บินลากเป้าอากาศ
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ กองทัพอากาศกรีซได้รับเครื่องบินฝึกแบบ นอร์ธ อเมริกัน ที-๒อี บัคอาย (North American T-2E Buckeye) เข้าประจำการเพื่อเสริมการปฏิบัติการของ ที-๓๓ ในการฝึกนักบิน ก่อนจะโอนภารกิจกิจฝึกนักบินใหม่ให้กับ ที-๒อี บัคอาย ส่วน ที-๓๓ ก็ถูกนำไปใช้ในภารกิจอื่นๆ ก่อนจะค่อยๆ ทยอยปลดประจำการไปตามสภาพของเครื่องบินและอะไหล่ที่หายากขึ้น หน่วยบินสุดท้ายของกองทัพอากาศกรีซที่ใช้งาน ที-๓๓ คือ ฝูงบินฝึกที่ ๒๒๒ บนเกาะครีต
ที-๓๓ ของกองทัพอากาศกรีซ ปลดประจำการในวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ มีชั่วโมงบินรวม ๔๕๐,๐๐๐ ชั่วโมง ตลอดการใช้งาน ๔๙ ปี เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ๑๕ ครั้ง มีนักบินเสียชีวิต ๒๓ นาย
โฆษณา