16 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • ครอบครัว & เด็ก

ลูกงอแงเอาแต่ใจ.. เพราะช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ😭

คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เชื่อว่าลูกน้อยของเราก็มีระเบียบ
เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าลูกน้อยมี “ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ” โดยจะเริ่มต้นขึ้นไม่นานหลังลูกเกิด และรุนแรงมากที่สุดตอนอายุ 2 ขวบและเป็นต่อเนื่องจนอายุ 3 ขวบ​
ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่เปรียบเปรยไว้ว่า ระเบียบคือฐานสำหรับสร้างบ้าน ระเบียบเป็นเหมือนน้ำให้ปลาดำรงอยู่ สำหรับเด็กแล้วระเบียบก็เหมือนพื้นให้ก้าวเดินไป และแน่นอนว่าถ้าพื้นที่พวกเขาก้าวเดินเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ตลอด นั่นคงสร้างความลำบากให้แน่
ระเบียบคือฐานสำหรับสร้างบ้าน ระเบียบเป็นเหมือนน้ำให้ปลาดำรงอยู่ สำหรับเด็กแล้วระเบียบก็เหมือนพื้นให้ก้าวเดินไป และแน่นอนว่าถ้าพื้นที่พวกเขาก้าวเดินเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ตลอด นั่นคงสร้างความลำบากให้แน่
ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่
ภาพถ่ายโดย Artem Podrez จาก Pexels
ลูกน้อยเกิดมาโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกนี้เลย หลังเกิดมาได้ไม่นานลูกจึงซึมซับกฎเกณฑ์และสภาพแวดล้อมในโลกไว้อย่างกระตือรือร้นในรูปแบบของระเบียบ
และจะซึมซับไว้ด้วยความจำโดยปริยาย (Implicit Memory) ซึ่งมีกลไกการทำงานต่างจากความจำชัดแจ้ง (Explicit Memory)ของผู้ใหญ่
เหมือนใช้กล้องถ่ายรูป ถ่ายรูปนั้นเก็บไว้ในชั่ววินาที เป็นความสามารถอันยอดเยี่ยมเพราะซึมซับได้ไม่จำกัด และดำเนินไปอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว
ทว่าความที่ซึมซับไว้ราวกับบันทึกภาพ พอตำแหน่ง ลำดับ วิธีการ ต่างออกไปจากที่บันทึกไว้ ลูกจึงรู้สึกขัดใจชนิดที่ยอมให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้
ยกตัวอย่างตอนเปลี่ยนเสื้อผ้า ปกติแล้วแม่จะให้สวมกางเกงจากขาขวาก่อน แต่วันนี้พ่อดันให้สวมเสื้อเชิ้ตก่อน ผู้ใหญ่อาจมองเรื่องพวกนี้ว่าไม่เห็นต้องเรื่องมากเลย แต่ในมุมของเด็กกลับมองว่า "ฉันไม่ยอมหรอก ต้องเป็นแบบที่เคยเป็นสิ" นี่แหละครับที่เรียกว่า "ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ"
ภาพถ่ายโดย Tuấn Kiệt Jr. จาก Pexels
เวลาลูกน้อยร้องไห้เพราะทำอะไรไม่ได้ แทนที่จะมองว่าเขาเอาแต่ใจ ขอให้พ่อแม่ลองหันมาตั้งข้อสงสัยว่าเรา ทำบางอย่างผิดจากเดิมที่เคยทำหรือไม่แทน
ตอนที่ลูกอยู่ใน “ช่วงรับรู้ไว” ลูกจะรู้สึกสบายใจมากเมื่ออะไรๆเป็นไปเหมือนที่เคยเป็น เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมครั้งใหญ่อย่างย้ายบ้าน สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาจเป็นผลบวกเพราะได้เปลี่ยนบรรยากาศและอื่นๆ
แต่สำหรับลูก นั่นจะสร้างความเครียดให้เขาอย่างรุนแรง บางครั้งนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ลูกป่วย ควรระวังเรื่องย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านครั้งใหญ่
ถ้าจำเป็นต้องย้ายบ้านจริงๆ หน้าที่ของพ่อแม่ขอให้เข้าใจในตัวลูกว่าเขาอาจรู้สึกกังวลเพราะระเบียบยุ่งเหยิง และอย่างน้อยควรใส่ใจพื้นที่ของลูก เช่น จัดห้องลูกให้เหมือนบ้านเดิมเท่าที่ทำได้
ถ้าสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นเหมือนเดิมได้ย่อมดีแน่ แต่สภาพแวดล้อมสำคัญที่สุดของลูกคือ “พ่อแม่”
ถ้าบทบาทของพ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกในรูปแบบเดิมๆ จะสร้างความอุ่นใจให้เขามากที่สุด ทุกครั้งเมื่อให้นมหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ให้ทำอย่างอ่อนโยนและพูดคุยกับเขาเหมือนกันทุกครั้ง การทําอะไรแบบเดิมจะช่วยให้ลูกมีอารมณ์มั่นคง เมื่อลูกอยู่ในสภาวะมั่นคง จะช่วยให้พ่อแม่มั่นคงเช่นกัน
ภาพถ่ายโดย Sebastian Arie Voortman จาก Pexels
อาการยึดติดต่อระเบียบ จะพัฒนาไปเป็นความสามารถ ทำอะไรเป็นลำดับขั้นตอนในอนาคต ลูกจะเจริญเติบโตได้มาก เขาจะเรียนรู้โลกนี้โดยใช้ระเบียบนี้แหละเป็นช่องทาง
ลูกจะซึมซับไปตามลำดับว่าต้องเริ่มจากนี่ก่อน แล้วนี่ต่อ สุดท้ายก็นี่ เพราะแบบนี้เวลาเขาทำอะไรต่างๆเองในอนาคต จึงทำได้อย่างมีลำดับขั้นตอน นั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกยึดติดกับระเบียบไม่ได้เอาแต่ใจ
และนี่คือ “ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ” ซึ่งทำความเข้าใจได้ยากและผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่หากเรามองดูลูกด้วยองค์ความรู้ และให้ความสำคัญต่อการทำตามระเบียบของเขา ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
📖บทความที่เกี่ยวข้อง
📷ภาพปกโดย Jep Gambardella จาก Pexels
📑อ้างอิง
หนังสือมอนเตสซอรีเริ่มต้นที่บ้าน : Homemade Montessori, น.50-52
📖บทความอื่นๆของ Daddy Montessori
1
#ช่วงรับรู้ไว​
#ช่วงรับรู้ไวต่อระเบียบ
#Sensitive Periods
โฆษณา