16 ก.พ. 2023 เวลา 11:51 • ธุรกิจ

เปิดแนวคิดธุรกิจซีพี ไม่เลือกข้าง แต่สร้างสมดุล

สงครามการค้าของสองขั้วมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สั่นคลอนตลาดการค้าทั่วโลก รวมถึงสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในทั้งสองประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ซีพี ที่เจ้าของเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่และอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย
นายธนินท์ เจียรวนนท์ พบปะกับผู้นำสูงสุดจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศจีนในปลายทศวรรษที่ 1970 (ภาพจาก Baidu)
ซีพีมักถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน เพราะตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง ราว ๆ ปีพ.ศ. 2521 ในยุคที่จีนเพิ่งเปิดประเทศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างเมินหน้าหนีจีน แต่ซีพีกลับคิดตรงข้าม มองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปสร้างและพัฒนาธุรกิจ แล้วก็เติบโตมาพร้อม ๆ กับการปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคแรกของจีน ซึ่งซีพีได้รับหนังสืออนุมัติการลงทุนของต่างชาติ หมายเลข 001 ที่แสดงถึงการเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่จดทะเบียนการค้าในจีนและได้รับการยอมรับ
หนังสืออนุมัติการลงทุนของต่างชาติ หมายเลข 001
แม้เวลาจะผ่านมากว่า 40 ปี แต่ธุรกิจซีพีก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในจีน รวมถึงผู้บริหารคนสำคัญของซีพี คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ก็ยังได้รับเกียรติจากรัฐบาลจีนมาทุกยุคทุกสมัย ในฐานะชาวจีนโพ้นทะเลที่สร้างคุณูปการต่อประเทศจีน ยิ่งทำให้ซีพีเป็นที่จับจ้องจากขั้วตรงข้ามรัฐบาลจีนอย่างสหรัฐอเมริกา
ครั้งหนึ่ง ริชาร์ด เควสท์ พิธีกรคนดังจาก CNN สื่อสำคัญของรัฐบาลอเมริกา ได้เดินทางมายังประเทศไทยในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีนกำลังระอุ โดยได้สัมภาษณ์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ตั้งคำถามในเชิงกดดันว่า จะเลือกอยู่ข้างไหน ระหว่างอเมริกากับจีน
แน่นอนว่าในมุมมองของนักธุรกิจย่อมประจักษ์แก่ใจว่า ความบาดหมางไม่ใช่หนทางของการอยู่รอด คนทำธุรกิจย่อมต้องการสะสมพันธมิตรมากกว่าสร้างศัตรู ที่สำคัญซีพีมีการลงทุนก้อนใหญ่อยู่ในทั้งสองประเทศ ย่อมเป็นเครื่องการันตีแต่แรกแล้วว่า ไม่มีความคิดของการเลือกข้างหรือฝักใฝ่การเมืองอยู่ในหัว
ครั้งนั้นคุณศุภชัย ตอบกลับไปว่า การเป็นธุรกิจเอกชน ต้องมองว่าตลาดต้องการอะไร และต้องการเป็นนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ทำธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์ให้ทุกประเทศที่ไปลงทุน ซึ่งส่วนตัวก็จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา มีความรักในอเมริกา
รวมถึงยังได้นำนวัตกรรมและสิ่งที่มีคุณค่ากลับมาด้วย คือ ธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ได้ไลเซ่นจากอเมริกา นอกจากนี้ ซีพีก็ยังนำพันธุ์ไก่ที่ได้จากบริษัทอาเบอร์เอเคอร์ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2513 ขณะที่อีกด้านหนึ่งบรรพบุรุษรุ่นปู่ก็อพยพมาจากประเทศจีน จึงมีความผูกพันกับทั้งสองประเทศอย่างดี
“ผมจึงหวังว่าผมจะไม่ต้องเลือกข้าง ซึ่งถ้าสหรัฐอเมริกาและจีนสามารถรักกันได้เหมือนพี่เหมือนน้อง หรือจับมือเป็นหุ้นส่วนกันได้ ก็จะสามารถช่วยโลกได้อย่างมหาศาล เพราะทั้งคู่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากของโลก ซึ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี หากสิ่งที่สร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นได้ จะมีคุณค่ามากกว่าการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย รวมถึงธุรกิจเอกชนด้วย”
สอดคล้องกับความเห็นของผู้เป็นพ่อ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่บอกว่าซีพีเป็นธุรกิจผลิตอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยก็ต้องกินอาหาร และในอนาคตซีพีจะต้องขยายธุรกิจและสร้างรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ในมุมการค้าโลก เราไม่มีสิทธิ์เข้าข้างใคร ต้องคบหมด อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ต้องคบ นอกจากเขาไม่คบเรา แต่อย่าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ผมว่าเราไม่ควรเข้าข้างใคร ความเห็นผมนะ ไม่รู้ทำได้ไหม ไทยต้องสร้างสมดุลให้ได้ เอาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก อาจต้องยอมบ้าง ถึงอย่างไรอเมริกาก็ยังเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ส่วนตลาดใหญ่อยู่ที่จีน เราก็ต้องคบจีน แต่ไม่ได้เข้าข้าง ขณะที่เทคโนโลยีชั้นดีและตลาดการเงินยังอยู่อเมริกา จึงทิ้งไม่ได้ เราเป็นตี๋น้อย เราเลือกไม่ได้”
ทุกวันนี้ ซีพีไปลงทุนในกว่า 20 ประเทศ ทำตลาดกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้ส่วนใหญ่ 60-70% จากธุรกิจในต่างประเทศ โดยลงทุนที่จีนเป็นประเทศแรก ธุรกิจของเครือฯ ในจีนมีมูลค่าเกือบ 40% ของยอดขายรวมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั่วโลก
ส่วนตลาดในอเมริกา เมื่อปี 2559 ซีพีได้ลงทุนกว่า 38,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น 100% ของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อรองรับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งซีพีมีทั้งโรงงาน และเครือข่ายการขาย รวมถึงฟาร์มเลี้ยงกุ้งในสหรัฐอเมริกาด้วย (โดยก่อนหน้าที่จะซื้อ Bellisio อเมริกาเป็นตลาดที่ทำรายได้ให้ซีพีกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี)
ซีพีมองว่า ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรมากถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก
ดังนั้น สำหรับคนทำธุรกิจ ย่อมให้ความสำคัญกับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนย่อม ไม่เพียงแต่ต้องรักษาฐานการผลิตและการขายไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย การสร้างความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายและแสวงหาพันธมิตรจึงส่งเสริมประโยชน์ที่ยั่งยืนมากกว่าการสร้างเงื่อนไขที่เป็นภัยต่อการดำเนินธุรกิจของตนเอง
โฆษณา