18 ก.พ. 2023 เวลา 12:00

จับสัญญาณ Recession ไทยเสี่ยงแค่ไหนเจอเศรษฐกิจถดถอย ปี 2566

เลขาธิการ สศช. มองสัญญาณอันตราย Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย บนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่กับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 หลังเจอมรสุมสารพัดปัจจัยเสียงเข้ามากระทบ
Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนึ่งในสัญญาณอันตรายในระบบเศรษฐกิจที่หลายคนเกรงว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ หลังจากทั่วโลกต่างเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนมาเจอภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเกิดขึ้น
เกาะติดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก
ล่าสุดในการแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในปี 2565 และแนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงกรณีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2566 เกิดการหดตัวว่า ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะถึงขั้นเกิด Recession แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“แน่นอนว่าเมื่อเห็นตัวเลขที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็อาจตกใจกัน แต่หากมองพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศไทยแล้ว ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้ไม่มากนัก และคงต้องดูมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ก่อนว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งการเร่งการส่งออก รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสขยายตัวต่อไปได้” นายดนุชา ระบุ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดูต้นตอ Recession เกิดตรงไหน
1
ทั้งนี้ยังยอมรับด้วยว่า การเกิดภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) หรือ GDP ติดลบติดต่อกันเป็นเวลา 2 ไตรมาสนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวคงต้องดูลึกลงไปในรายละเอียดก่อน เพราะ Technical Recession ที่ผ่านมาในประเทศเศรษฐกิจหลักก็เกิดเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความรุนแรงจะเกิดขึ้นที่ภาคไหน และต้องดูพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศด้วยว่าเป็นอย่างไร
1
“ตอนนี้ยังตอบอะไรได้ไม่มากเกี่ยวกับ Technical Recession เพราะต้องดูปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นว่าเกิดจากอะไร และจะมีความรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่ โดยสศช. จะติดตามสถานการณ์ต่อไป” เลขาฯ สศช. ย้ำ
ส่วนในปี 2566 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาบรรยากาศทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจให้ดีต่อเนื่อง โดยต้องไม่พยายามให้เกิดภาพของความขัดแย้งขึ้น เพราะจะนำไปสู่ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
สศช. เปิดข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2566
สศช. เปิดข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2566
เศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน เป็นอย่างไร
สศช. แถลงตัวเลข GDP ล่าสุด พบว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัวเพียง 1.4% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้เพียงแค่ 2.6% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ สศช. เคยประเมินเอาไว้ในไตรมาสก่อนว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 3.2%
1
พร้อมกันนี้ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 3.2%) ถือเป็นการปรับเป้าหมายประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งจากไตรมาสก่อนที่มองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว โดยขยายตัวได้ประมาณ 3-4% หลังประเมินว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว จนทำให้การส่งออกชะลอตัวตามไปด้วย
ข้อมูลเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ทั้งปี 2565 และปี 2566 โดยสศช.
Recession คืออะไร
Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความหมายคือ การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การลงทุนของภาคเอกชน การจ้างงาน รายได้ การใช้จ่ายของภาครัฐ และ การส่งออกลดลง ขณะที่ การถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ก่อนหน้านี้ ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุไว้ในบทความ ฤาเศรษฐกิจไทยจะถดถอยซ้ำสอง? ว่า
กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการขยายตัวของจีดีพีจากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง (Quarter-on-quarter growth) ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ที่เรียกว่าทางเทคนิค ก็เพราะว่า ไม่ทุกครั้งที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดลบติดต่อกันสองไตรมาส จะแปลว่าเศรษฐกิจแย่ เนื่องจากว่าบางครั้งการติดลบอาจจะมาจากความผันผวนของเพียงบางองค์ประกอบของจีดีพีซึ่งไม่ได้สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม
1
อย่างไรก็ดี การถดถอยทางเทคนิคเป็นนิยามที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดของนิยามเศรษฐกิจถดถอย เพราะคำนวณได้ง่ายและข้อมูลไม่ล่าช้ามาก ในขณะที่บางนิยามต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหลังจากไตรมาสสิ้นสุดลง
1
โฆษณา