19 ก.พ. 2023 เวลา 11:02 • การศึกษา

Hands-on activity with low-cost materials for active learning: Chromatography

กิจกรรมลงมือปฏิบัติด้วยวัสดุต้นทุนต่ำ เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก: โครมาโทกราฟี
โครมาโทกราฟีเป็นเทคนิคในการแยกส่วนประกอบของสารผสม โดยอาศัยหลักการของการละลายในตัวทำละลายและการถูกดูดซับโดยตัวดูดซับของสารผสมนั้น ๆ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของสารผสมจะมีความสามารถในการละลายและการดูดซับแตกต่างกัน จึงทำให้เคลื่อนที่ได้ไม่เท่ากัน เราจึงสังเกตเห็นการแยกกันของสารผสม
ขั้นตอนการทดลอง
ภาพจาก ที่มา 1. อังทินี กิตติรวีโชติ และคณะ (2563).
1) ใช้ปากกาเมจิกตราม้าสีต่าง ๆ แต้มเป็นจุดกลม ๆ ลงบนกระดาษทิชชู่ โดยให้สูงกว่าขอบประมาณ 3 เซนติเมตร
2) เทน้ำลงในแก้ว
3) นำกระดาษทิชชู่ที่มีจุดสีแต้มไว้ จุ่มลงไปในน้ำ โดยให้ปลายกระดาษทิชชู่สัมผัสกับน้ำ (ระวังอย่าให้จุดสีโดนน้ำเด็ดขาด)
4) จับเวลาการเคลื่อนที่ 1 นาที
5) นำกระดาษทิชชู่ออกไปผึ่งให้แห้ง
6) สังเกตองค์ประกอบของสีผสมว่าประกอบไปด้วยสีอะไรบ้าง
7) บันทึกผลการทดลองที่ได้ และอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้น
เพิ่มเติม: หากต้องการคำนวนหาค่า Rf ซึ่งมีนิยามคือ “ระยะทางที่สารเคลื่อนที่ / ระยะทางที่ตัวทำละลายเคลื่อนที่” เราก็ทำการวัดระยะทางของสีที่เคลื่อนที่ได้ (ซึ่งเป็นระยะทางที่สารเคลื่อนที่) และระยะทางที่น้ำเคลื่อนที่ได้ (ซึ่งเป็นระยะทางที่ตัวทำละลายเคลื่อนที่) แล้วนำค่าทั้งสองมาหารกัน ก็จะคำนวณหาค่า Rf ได้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า หากสารใดที่มีค่า Rf มาก สารนั้นจะละลายในตัวทำละลายนั้นได้ดี แต่ดูดซับได้ไม่ดี
1
ผลการทดลอง
ภาพจาก ที่มา 1. อังทินี กิตติรวีโชติ และคณะ (2563).
ปากกาเมจิกแต่ละสีมีองค์ประกอบของสารที่แตกต่างกัน ดังเห็นได้จากการให้แถบสีที่แตกต่างกัน ดังนี้
แดง --> เหลือง ชมพู
เหลือง --> เหลือง
เขียวแก่ --> เหลือง
ดำ --> ดำ
ม่วง --> ฟ้า ชมพู
เขียวอ่อน --> เหลือง
น้ำตาลอ่อน --> เหลือง ชมพู
น้ำเงิน --> ฟ้า
ฟ้า --> ฟ้า
น้ำตาลเข้ม --> เหลือง ชมพู
ชมพู --> ชมพู
ส้ม --> เหลือง ชมพู
อภิปรายผลการทดลอง
จากตารางการแสดงองค์ประกอบของสีผสม พบว่า สีผสมเกิดจากองค์ประกอบของสีเดี่ยว ๆ ซึ่งเรียกว่า “แม่สี” มีอยู่ด้วยกัน 4 สี ได้แก่ เหลือง ชมพู ฟ้า และดำ ซึ่งสอดคล้องกับแม่สีในหมึกพิมพ์ YMCK โดย Y (Yellow) คือสีเหลือง M (Magenta) คือสีม่วงแดง C (Cyan) คือสีฟ้า และ K (Black) คือสีดำ
สรุปผลการทดลอง
โครมาโทกราฟีเป็นกระบวนการในการแยกส่วนประกอบของสารผสม ในที่นี้ถูกจำลองด้วยสีจากปากกาเมจิก และใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย โดยสารต่างชนิดกันจะมีความสามารถในการละลายและการดูดซับที่แตกต่างกัน ทำให้สารเคลื่อนที่ไปได้ไกลแตกต่างกัน เราจึงสังเกตเห็นการแยกส่วนประกอบของสารผสมได้ จากการทดลองพบว่า สีผสมต่าง ๆ จะมีองค์ประกอบของแม่สีอยู่ 4 สี ได้แก่ เหลือง ชมพู ฟ้า และ ดำ ซึ่งเคลื่อนที่ไปได้ไกลแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ที่มา
1. อังทินี กิตติรวีโชติ และคณะ (2563). การพัฒนาความสามารถในการผลิตสื่อการสอนวิทยาศาสตร์อย่างง่าย เรื่อง โครมาโทกราฟี ของนักศึกษา ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมศาสตร์. การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 6. หน้า 110 – 118.
2. อังทินี กิตติรวีโชติ (2563). Low cost Chromatography for science classroom. สืบค้นออนไลน์: https://www.facebook.com/watch/?v=809983086075584.
โฆษณา