20 ก.พ. 2023 เวลา 09:00 • ธุรกิจ

เปิดธุรกิจตระกูล “JMART”

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 บมจ.เจมาร์ท หรือ JMART ชี้แจง Big Lot ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ช่วงวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวนรวม 54,000,000 หุ้น คือ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ขายหุ้น 14 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.96% ส่งผลถือหุ้นลดลงจาก 13.41% เหลือสัดส่วน 12.45% และ ยุวดี พงษ์อัชฌา ขายหุ้น 40 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.75% ส่งผลถือหุ้นจาก 7.61% เหลือสัดส่วน 4.86%
ทั้งนี้คำชี้แจงได้ระบุว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงาน หรือโครงสร้างการจัดการของบริษัท และผู้ซื้อหุ้นในครั้งนี้เป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ไม่มีผู้ใดเข้าข่ายต้องทำ Tender
ต่อมาได้มีกระแสข่าวว่าการขายหุ้นของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” เป็นเพราะราคาหุ้น JMART ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ ‘เรียกวางหลักประกันเพิ่ม’ หรือ Margin Call จากอดิศักดิ์ ซึ่งในการกู้เงินจากโบรกเกอร์โดยใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากมูลค่าหุ้นที่ซื้อไว้มีราคาต่ำลงจนมีผลกระทบให้หลักประกันที่วางไว้ต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบัน ผู้กู้จะต้องหาเงินมาวางเพิ่ม และหากหาเงินไม่ได้จะต้องโดนบังคับขายหุ้น (Force Sell)
โดยอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ออกมาชี้แจงว่า ยอมรับได้ตัดขาย Big Lot ด้วยเหตุผล Margin Call จริง แต่เป็นประเด็นปัญหาส่วนตัว และไม่กระทบธุรกิจบริษัท ทั้งนี้ยืนยันว่าจะยังคงฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในการบริหารงานต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นธุรกิจยังโตต่อได้ แผนที่ปีนี้จะดันบริษัทร่วมทุนเข้าตลาดหุ้นอีก 3 บริษัท ยังคงมีต่อไป
ซึ่งแผนการนำบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ บริษัท พีอาร์ทีอาร์ (PRTR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร และให้บริการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Outsourcing) แบบครบวงจร ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 15% ตามแผนจะเข้าซื้อขายในเดือน มี.ค. 66 และยังมีธุรกิจเด่นที่ได้รับความสนใจคือ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ หรือ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ที่ JMART ถือหุ้นในสัดส่วน 30% และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ที่มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย
อย่างไรก็ดีจากกรณีดังกล่าวทำให้ หุ้นตระกูล JMART ประกอบด้วย บมจ. เจ มาร์ท ( JMART) บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ( JMT) บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย ( SINGER) บมจ. เอสจี แคปปิตอล ( SGC) และ บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ลดลงอย่างหนัก เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 66 นักลงทุนเทขายหุ้นตระกูลเจมาร์ท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) รวมทั้ง 5 หลักทรัพย์ ปรับตัวลงเหลือประมาณ 1.36 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2565 ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปประมาณ 2 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะ JMART เองนั้นมาร์เก็ตแคป สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท ล่าสุดวันที่ 17 ก.พ. 2566 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1.8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 20 ก.พ.66 หุ้นกลุ่ม JMART กลับมาฟื้นตัวจากแรงซื้อกลับในภาคเช้าวันนี้(20 ก.พ.) หลังจากปรับตัวแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
📌กลุ่ม JMART คือใคร?📌
JMART ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531 โดย “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” และ “ยุวดี พงษ์อัชฌา” บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกด้วยทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาทโดยเริ่มแรกขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อนชำระ ต่อมา บริษัท ได้รุกเข้าสู่ตลาดค้าส่ง ด้วยผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ โทรทัศน์, เครื่องเล่นวิดีโอ และเครื่องปรับอากาศ ในปี 2535 บริษัท ได้เริ่มดำเนินธุรกิจการค้าปลีกโทรศัพท์มือถือและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือโดยการขยายร้านโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าหลักๆ หลายแห่งในประเทศไทย
📌ปี 2537 ได้เริ่มดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการติดตามหนี้สำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ
📌ปี 2542 บริษัท ได้ก่อตั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่ไอทีภายใต้แบรนด์ “ไอที จังชั่น”
ปัจจุบัน เจ มาร์ท ดำเนินธุรกิจบริษัทโฮลดิ้ง ที่ลงทุนในบริษัทย่อยและ บริษัทร่วมทุน เน้นไปที่การเงินเพื่อการค้าปลีกและราย ในปี 2552 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อหลักทรัพย์ “JMART” ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 75 ล้านหุ้น ในราคา 1.80 บาท/หุ้น เพื่อเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (IPO) 540 ล้านบาททุนชำระแล้ว 300 ล้านบาท (มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท/หุ้น)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัท มีทุนชำระแล้ว 906,612,007 หุ้นมูลค่าตลาด 19,074 ล้านบาท หรือ JMART เติบโตขึ้น 35 เท่าของมูลค่า บริษัท ในรอบ 11 ปีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นในปัจจุบัน JMART ถือหุ้น 52.8% ใน บริษัทย่อยคือ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) (“JMT”) ซึ่งดำเนินธุรกิจการติดตามหนี้และบริหารหนี้โดยการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินในประเทศไทย ในปี 2565 ที่ผ่านมา JMT ได้ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด ซึ่งได้รับโอนหนี้ด้อยคุณภาพมาแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ JMART ยังถือหุ้น 74.9% ใน บริษัท แจสแอสเสท จำกัด (มหาชน) (“เจเอเอส แอสเซ็ท”) ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำหรับผู้ค้าปลีกไอทีและโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์“ไอที จังชั่น” และศูนย์การค้าภายใต้ชื่อ ชื่อ“ เดอะ แจส”“ เดอะ แจส เออเบิร์น” และ “แจส วิลเลจ”
📌ในปี 2558 บริษัท ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 24.9% ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรงเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและการเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ และประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถภายใต้แบรนด์“ ซิงเกอร์” ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นซิงกอร์ 32.6% (ณ วันที่ 1 มกราคม 2564)
📌ในปี 2559 บริษัท ปรับโครงสร้างกลุ่ม เจ มาร์ท ให้กลายเป็น บริษัท โฮลดิ้ง ที่ให้ เจมาร์ท โมบาย เป็นธุรกิจหลัก และ ในปี 2560 บริษัท ได้จัดตั้ง บริษัท ย่อย “บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด” ด้วยเงินทุนทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยถือหุ้นร้อยละ 80 ทั้งนี้ในปีเดียวกัน บริษัท Beans and Brown Co., Ltd. ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อซื้อกิจการร้านกาแฟ CASA Lapin
📌ต่อมาในปี 2561 J Ventures Co., Ltd. ระดมทุนเพื่อพัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) ด้วยการเสนอขายเหรียญเริ่มต้น (ICO) ในชื่อ “J FIN COIN”
📌ปี 2565 กลุ่ม JMART ได้ลงทุนใน 5 บริษัทที่สำคัญ คือ
เข้าถือ 30 % ใน บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป หรือ ที่รู้จักในชื่อ “สุกี้ตี๋น้อย” ประกอบกิจการร้านอาหารประเภทสุกี้ ซาบู ปัจจุบันมีจำนวนสาขา 43 สาขาในกรุงเทพ และปริมณฑล โดยเป็นร้านอาหารที่มีอัตราการเติบโตสูง และมีจำนวนลูกค้าจำนวนมาก ทำให้บริษัทมองเห็นถึงศักยภาพในการดำเนินกิจการร่วมกันในการขยายสาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และขยายฐานลูกค้าร่วมกันร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีแผนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2567
เข้าถือ 9.2% ในบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตที่ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังดีอย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จาก By product ของการผลิตน้ำตาล และการเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต
ปัจจุบันกลุ่มบริษัทเจมาร์ทได้เข้าไปดำเนินการด้าน Synergy ในด้านต่างๆ เช่น การให้เงินกู้ระยะสั้นกับเกษตรกร การนำสินค้าและบริการเข้าไปนำเสนอให้กับพี่น้องเกษตรกร ในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ และการให้บริการทางด้านประกันภัย
เข้าถือหุ้น 15 % ในบริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจให้บริการจัดจ้างบุคลากรและให้บริการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Outsourcing Services หรือ Outsource) แบบครบวงจร โดยมีพนักงาน Outsource กว่า 15,000 คน และให้บริการสรรหาบุคลากร (Recruitment Services)
นอกจากนี้ยังลงทุนใน บริษัท เอวานทิส แลบอราทอรี (ประเทศไทย) จำกัดสัดส่วน 41.9% และ บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 9.9% อีกด้วย
ในปี 2566 JMART ทำรายการบิ๊กล็อต ในบมจ. บางกอกเดค-คอน (BKD) จำนวน 100 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.20% ราคา 2.16 บาท มูลค่า 216 ล้านบาท เพื่อผนึกกำลังเป็นพันธมิตรร่วมกัน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ เนื่องจาก BKD มีความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในอาคาร และเฟอร์นิเจอร์
ส่วนผลประกอบการในปี 2565 JMART มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขแสดงกำไรลดลง 27% แต่หากไม่รวมรายการกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น จำนวน 1,296 ล้านบาท ในปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิเติบโตที่ 53%
อย่างไรก็ดี อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา วางเป้าหมายให้ JMART จะมีกำไรนิวไฮต่อเนื่องในปี 2566 ตั้งเป้าเติบโต 50% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตทั้งในรูปแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth
อ่านบทความเพิ่มเติมที่ : https://moneyandbanking.co.th/2023/25252/
โฆษณา