21 ก.พ. 2023 เวลา 04:56 • การศึกษา

คำฟ้องคดีแพ่ง ✨✨✨

รายการที่ต้องระบุในคำฟ้อง
ป.วิ.แพ่ง ม.67 และ 172 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ได้กำหนดรายการเล่นหลักเกณฑ์ในการทำคำฟ้องแล้ว พอจะสรุปได้ว่าในการทำคำฟ้องจะต้องมีรายการดังต่อไปนี้
1.ชื่อศาลที่จะรับคำฟ้อง
การฟ้องคดีแพ่งนั้นใช้ทุนทรัพย์เป็นตัวชี้เรื่องอำนาจศาล ว่าเป็นศาลแขวง หรือศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง ส่วนภูมิลำเนาของจำเลย หรือมูลคดีเกิด หรือที่ตั้งทรัพย์พิพาท เป็นตัวชี้เรื่องเขตอำนาจศาล ว่าเป็นศาลแพ่ง หรือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หรือศาลจังหวัดใด
2. ชื่อคู่ความในคดี
หมายถึงโจทก์และจำเลย ถ้าโจทก์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนเป็นนิติบุคคล ก็ต้องเรียกตามชื่อที่จดทะเบียน หรือในกรณีที่เป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย ก็ควรพิจารณาให้ดีว่าชื่อที่ถูกต้องตามกฏหมายนั้น เป็นชื่อใด เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น ในเรื่องชื่อของคู่ความในคดีนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องกระทำโดยรอบคอบ เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคล ก็ดี มีชื่อที่เหมือนกัน คล้ายกันอยู่มาก อาจทำให้ฟ้องผิดคนได้
ผู้ฟ้องควรพิจารณาว่าโจทก์ที่แท้จริงคือใคร การบรรยายชื่อคู่ความในคดีนั้น ควรเริ่มด้วยโจทย์ที่แท้จริงก่อน แล้วจึงบรรยายชื่อบุคคลที่กระทำการแทน เช่น
หากเป็นกรณีที่โจทก์เป็นผู้เยาว์ และผู้ที่กระทำการฟ้องร้องจริงๆ คือบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ในการบรรยายคำฟ้องจึงควรบรรยายว่า “เด็กชาย........ โดยนาย....... ผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์”
ในกรณีที่เป็นบริษัทก็ควรบรรยายว่า “บริษัท........ จำกัด โดยนาย........ กรรมการ โจทก์”
3. ชื่อจำเลยที่จะเป็นผู้รับคำฟ้อง
ในกรณีที่จำเลยเป็นนิติบุคคล ควรตรวจสอบว่าสำนักงานใหญ่ของจำเลยตั้งอยู่ภายในเขตอำนาจศาลที่จะยื่นฟ้องนั้นหรือไม่
สำหรับคดีฝ่ายเดียวหรือคดีไม่มีข้อพิพาทก็จะไม่มีจำเลย จึงไม่มีความจำเป็นในการระบุชื่อที่อยู่ของจำเลย นอกจากนี้ในคดีไม่มีข้อพิพาท แบบพิมพ์ที่ใช้ยื่นฟ้องคดีนั้นมิใช่คำฟ้อง (สี่) แต่เป็นคำร้องขอโดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง (7)
การบรรยายสถานะคู่ความ
4. วันเดือนปีของคำฟ้อง
ในการร่างฟ้องโจทก์จะต้องลงวันเดือนปีที่จะฟ้องคดีไว้ด้วย วันที่ที่จะลงในคำฟ้องนั้นปกติจะใช้วันที่โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาล ไม่ใช่วันเดือนปีที่ร่างหรือพิมพ์คำฟ้องเสร็จ
5. ลายมือชื่อของผู้ยื่นคำฟ้อง
ฟ้องจะต้องลงลายมือชื่อของตนในคำฟ้อง ในกรณีที่ตัวโจทก์เองเป็นผู้ยื่นฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธิ์ที่จะลงลายมือชื่อได้อยู่แล้ว
ในกรณีโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจตั้งตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้แทนนั้น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะลงลายมือชื่อในคำฟ้องเช่นกัน ส่วนกรณีที่โจทก์ตั้งทนายความมาพร้อมกับยื่นฟ้อง โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง แต่ทนายความจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนก็สามารถทำได้
เนื่องจากใน ป.วิ แพ่ง มาตรา 1 (11) นิยามศัพท์คำว่า “คู่ความ” หมายถึง บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนการพิจารณา ให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฏหมาย หรือในฐานะทนายความด้วย
6.ใจความและเหตุผลแสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น
หลักในข้อนี้เป็นบทบัญญัติในมาตรา 61 และมาตรา 172 ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติสำคัญ และหัวใจของการร่างฟ้อง เพราะหากรายการอื่นไม่ครบถ้วน ศาลอาจมีคำสั่งให้คืนไปตามมาตรา 18 เพื่อให้โจทก์ไปแก้ไขให้ถูกต้อง และนำมายื่นใหม่ แต่หากคำฟ้องใดขาดรายการในข้อนี้อาจทำให้คำฟ้องนั้นบกพร่องถึงขนาดเป็นฟ้องเคลือบคุม และอาจถูกยกฟ้องเพราะเหตุผลนี้ได้ เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่มาตรา 172 ได้กำหนดไว้ เราอาจสรุปเนื้อหาที่จะต้องปรากฏในคำฟ้องได้ ดังนี้
6.1 อารัมภบท หรือความเบื้องต้น คำฟ้องโดยปกติจะเริ่มด้วยอารัมภบทหรือความเบื้องต้น แต่ไม่ควรยืดยาว ควรเขียนให้กระชับโดยบรรยายให้ทราบถึงสถานะของโจทก์และจำเลยว่าโจทก์เป็นใคร จำเลยเป็นใคร เช่น
“โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ที่สำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนาย...... เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ รวมทั้งการฟ้องคดีในนามโจทก์ด้วย รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองบริษัทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข....”
“จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ที่สำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วน ประเภทไม่จำกัดความรับผิด รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองห้าง เอกสารท้าย ฟ้อง หมายเลข . . . . .”
6.2 สิทธิของโจทก์ ฟ้องในตอนนี้ควรบรรยายถึงสิทธิของโจทก์ว่ามีอยู่อย่างไร ในกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญา ควรบรรยายว่าโจทก์ทำสัญญาอะไรกับใคร เมื่อไหร่ มีข้อตกลงหรือเงื่อนไขอย่างไร และโจทก์มีสิทธิตามสัญญาอย่างไร เช่น สิทธิที่จะได้รับการชำระราคา หรือมีสิทธิที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา ส่วนในคดีละเมิดโดยทั่วไปโจทก์ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสิทธิของตน ในคดีละเมิดไม่เหมือนกับกรณีผิดสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างบุคคล
6.3 จำเลยได้กระทำการละเมิดสิทธิขอโจทก์ หรือผิดสัญญา เมื่อใด อย่างไร ในข้อนี้ควรจะต้องบรรยายให้โดยชัดเจน ให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่เป็นฐานแห่งความผิด กล่าวคือหากเป็นคดีละเมิด ก็ต้องบรรยายว่าจำเลยได้กระทำอย่างไร อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ และควรบรรยายให้ชัดเจน รวมทั้งวันเวลาที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนในกรณีผิดสัญญา ข้อควรบรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอย่างไร และไม่ปฏิบัติตามอย่างไร อัตเป็นความผิดข้อตกลงตามสัญญา
1
6.4 โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ในข้อนี้โจทย์จะต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าอะไรจากการละเมิดหรือผิดสัญญาดังกล่าวในข้อ 6.3 นั้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายประการใดบ้าง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นคำขอบังคับ ในกรณีนี้ที่ได้รับความเสียหายหลายอย่าง ควรระบุแยกแต่ละประเภท เป็นข้อย่อยหลายหลายข้อ เพื่อเห็นความเสียหายที่ได้รับอย่างชัดเจน
6.5 คำขอให้ศาลพิพากษา เมื่อโจทก์ได้บรรยายคำฟ้องจนถึงค่าเสียหายที่ตนได้รับแล้ว ในท้ายที่สุดจะต้องขอให้ศาลมีคำพิพากษา และต้องระบุว่าจะให้ศาลพิพากษาอย่างไร โดยระบุในแบบพิมพ์คำขอท้ายฟ้อง (5) ให้ชัดเจนครบถ้วน หากมีจำเลยหลายคน แต่ละคนรับผิดเท่ากันหรือต่างกันอย่างไร ต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครต้องรับผิดอย่างไร
แบบพิมพ์ศาล : คำฟ้อง
ตัวอย่างคำฟ้องคดีแพ่ง > ผิดสัญญาซื้อขาย, เรียกค่าเสียหาย
🙏 ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ กรุณากด “ถูกใจ” และกด “แชร์” ด้วยครับ 🙇‍♀️🙇🙇‍♂️
แนะนำหนังสือสำหรับอาชีพทนายความ
แนวทางการเขียนคำฟ้อง คำให้การ ฟ้องแย้ง ฯ
โฆษณา