22 ก.พ. 2023 เวลา 04:59 • การศึกษา

ประเภทของเงินได้พึงประเมิน

ถ้าจำแนกประเภทเงินได้พึงประเมินผิด จะทำให้เสียภาษีผิดไปด้วย
ผู้เขียน
ประมวลรัษฎากรได้กำหนดจำแนกประเภทของเงินได้พึงประเมินไว้ในมาตรา 40 โดยมี 8 ประเภทใหญ่ ดังนี้
  • 1.
    เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
  • 2.
    เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้
  • 3.
    เงินได้ที่เป็นค่าสิทธิ
  • 4.
    เงินได้จากทุน
  • 5.
    เงินได้ที่เป็นค่าเช่า
  • 6.
    เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
  • 7.
    เงินได้ที่เป็นค่ารับเหมา
  • 8.
    เงินได้จากธุรกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม ...และเงินได้อื่นนอกจากที่ระบุในข้อ 1-7
การจำแนกประเภทของเงินได้ ในแง่ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น มีความสำคัญในการคำนวณภาษี เนื่องจากเงินได้แต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าระบุประเภทของเงินได้ผิด ย่อมหักค่าใช้จ่ายผิดไปด้วย เช่น เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำมารวมกันแล้วหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเงินได้ประเภทที่ 6 ให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 60 (สำหรับเงินได้จากวิชาชีพอิสระประเภทประกอบโรคศิลป) ร้อยละ 30 (สำหรับเงินได้จากวิชาชีพอิสระประเภทอื่น)
ตัวอย่าง นายแพทย์เอก เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 100,000 บาท เงินส่วนนี้เป็นเงินได้ประเภทที่ 1 เป็นเงินได้เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงาน ถ้านายแพทย์เอก ได้ค่าตรวจสำหรับการออกตรวจคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ค่าตอบแทนส่วนนี้เป็นเงินได้ประเภทที่ 6 เป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระประเภทการประกอบโรคศิลป เงินทั้งสองส่วนนี้ย่อมหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าถ้าผู้เสียภาษีไม่เข้าใจหลักการจำแนกประเภทของเงินได้อาจทำให้ยื่นรายการเสียภาษีผิดพลาดซึ่งจะส่งผลต่อการถูกประเมินภาษีและมีโทษทางภาษีทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย
  • เบี้ยปรับ มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเสียหาย ศาลอาจวินิจฉัยให้งดหรือลดได้
  • เงินเพิ่ม มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ศาลจะวินิจฉัยให้งดหรือลดไม่ได้
นอกจากนี้ การจำแนกประเภทของเงินได้ มีผลต่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการต่างชาติที่ให้บริการในประเทศด้วย (โปรดดูประมวลรัษฎากร มาตรา 70)
กิจการต่างชาติที่มิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40 (2) - (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย เงินได้ส่วนนี้จะต้องถูกหักภาษีไว้ โดยผู้จ่ายเงินได้นั้นมีหน้าที่หักภาษีดังกล่าวไว้
ตัวอย่าง บริษัท a. (สิงคโปร์) ประกอบกิจการรับเป็นนายหน้าหาลูกค้าให้ผู้ว่าจ้าง บริษัท ก. (ไทย) จ้างบริษัท a. หาลูกค้าให้ ดังนี้ แม้ว่าบริษัท a. ดำเนินการหาลูกค้าที่ต่างประเทศ โดยไม่มีสาขาในประเทศไทย ไม่เคยเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยเลย แต่เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) เป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ เข้ากรณีตามมาตรา 70 บริษัท ก. จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่บริษัท a.
ดังนี้ ผู้เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่คำนวณภาษีของกิจการต่าง ๆ จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจประเภทของเงินได้พึงประเมินโดยละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการชำระภาษีซึ่งจะมีโทษตามมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา